คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : อดีตที่ทรมานนักเคลื่อนไหวใน”โซล” กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชน

มุมหนึ่งของเมืองใหญ่อย่างกรุงโซล เกาหลีใต้ เป็นมุมมืดที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยรู้จัก เป็นอาคารสูง 7 ชั้น ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินนัมยอง

อาคารแห่งนี้ เคยถูกใช้สำหรับเป็นสถานที่สำหรับทรมานบรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย รวมไปถึงบรรดาแกนนำนักศึกษาทั้งหลายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ที่จะถูกนำตัวมาสอบปากคำและถูกทรมาน ในช่วงที่ “ปาร์ค จุง ฮี” และ “ชุน ดู ฮวาน” เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในช่วงทศวรรษ 1970-1980

หนึ่งในนักศึกษาที่ถูกนำตัวมาทรมานที่อาคารนี้ คือ ปาร์ค จอง ชุล นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ถูกจับกุมตัวมาสอบปากคำเกี่ยวกับเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งหนึ่งในวิธีการทรมานที่ใช้กันที่อาคารแห่งนี้ ยังรวมไปถึงการใช้น้ำเพื่อทรมาน และปาร์ค จอง ชุล ก็ถูกสอบปากคำและถูกทรมานจนตายภายในอาคารแห่งนี้ เมื่อปี ค.ศ.1987

เมื่อผลการชันสูตรศพนายปาร์ค ถูกเผยแพร่ออกไป ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ผู้คนจำนวนมาก จนนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ในวันที่ 10 มิถุนายนปีเดียวกัน
ทำให้ยุคเผด็จการของ ชุน ดู ฮวาน ต้องสิ้นสุดลง และทำให้ชาวเกาหลีใต้มีสิทธิในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

ปัจจุบัน อาคารแห่งนี้ได้มีการจัดพื้นที่สำหรับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศเพื่อ “สิทธิมนุษยชน” ที่มีชื่อว่า “เดโมเครซี แอนด์ ฮิวแมน ไรท์ส เมโมเรียล ฮอลล์”

โดยผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารและบริหารจัดการอาคารแห่งนี้ คือ “กองทุนประชาธิปไตยเกาหลี” ที่ต้องการทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้เพื่อแผ่ขยายประชาธิปไตยและฝังรากลึกด้านประชาธิปไตยให้แก่ผู้คน

และยังชี้้ให้เห็นถึงความสามัคคีของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและจากทั่วโลกที่สามารถผลักดันทำให้เกิดประชาธิปไตยร่วมกันได้

Advertisement

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะมุ่งเน้นการจัดแสดงเกี่ยวกับประชาธิปไตยโลก โดยเฉพาะในภูมิภาค “เอเชีย”

ตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ ยังได้เปิดเผยกับ “ซีเอ็นเอ็น ทราเวล” ที่นำเรื่องนี้มารายงานไว้ว่า ทางพิพิธภัณฑ์มีแผนที่จะสร้าง “สวนสนุกประชาธิปไตย” ขึ้นมาที่อาคารแห่งนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร

แม้ตัวอาคาร จะถูกเปลี่ยนจากสถานที่ที่เคยเป็นที่ทรมานนักเคลื่อนไหว มาเป็นสถานที่จัดแสดงเพื่อประชาธิปไตย หากแต่ร่องรอยของอดีตที่หลายคนต้องจบชีวิตลงเพื่อแลกมาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็คงยากที่จะถูกลบเลือนออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image