คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “ไกลโฟเซต”กับ “มอนซานโตเปเปอร์”

(ภาพ-Pixabay)

การห้ามใช้สารเคมี 3 ชนิดในไทยคือ พาราควอต, คลอไพริฟอส และไกลโฟเซตโดยเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยนั้น ไม่เพียงแค่ยังไม่จบ แถมยังมีประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศพ่วงเข้ามาอีกประเด็น เมื่อ เท็ด แม็คคินนีย์ ปลัดกระทรวง ฝ่ายกิจการการค้าและเกษตรกรรมต่างประเทศ ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาทำหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอีก 9 รัฐมนตรี ขอให้ทบทวนมติในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการแบนไกลโฟเซต เป็นการเฉพาะ

เหตุผลนั้นเพราะทางสหรัฐอเมริกาเห็นว่า การ “แบน” ดังกล่าวเป็นการตัดสินใจ “ที่ไม่ได้อยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์”

ในขณะเดียวกัน การแบนดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อการ “นำเข้า” สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักผลไม้ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิล องุ่น ฯลฯ จากสหรัฐอเมริกาและประเทศคู่ค้าอื่นๆ

แม็คคินนีย์ อ้างว่ามูลค่าสินค้าที่จะได้รับผลกระทบคือ “อาจ” ถูกห้ามนำเข้าไทยมานั้นมีมูลค่าสูงถึง 15,000 ล้านบาทต่อปี

Advertisement

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อกล่าวอ้างที่ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลในการขอให้ทบทวนมติของไทยในครั้งนี้นั้น เป็นเงื่อนปมสำคัญที่ “ถกเถียง” กันอยู่ในไทยมานานไม่ใช่น้อยแล้ว แล้วก็เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ถูกใช้ในการถกเถียงกันเรื่องสารไกลโฟเซตในหลายๆ ประเทศ ตั้งแต่ในสหภาพยุโรป แคนาดา เรื่อยไปจนถึงออสเตรเลีย

ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่า การถกเถียงกันในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยดังกล่าวนั้น เป็นการถกเถียงในเรื่องเดียวกันหรือไม่

เป็นการถกกันจำเพาะไปที่สารเคมีที่เรียกว่า ไกลโฟเซต หรือเถียงกันเรื่อง ยาปราบวัชพืชที่มีไกลโฟเซตเป็นสารออกฤทธิ์ (Glyphosate Based Herbicides-GBH) กันแน่?

Advertisement

ถัดมาก็คือข้อสังเกตุเรื่องของคดีในศาลนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ นายดีเวย์น ลี จอห์นสัน เป็นโจทย์ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตยาปราบวัชพืช จีบีเอช แล้วชนะคดีเมื่อปี 2018 เกิดกรณีหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างไปทั่วโลก

กรณีที่ว่านั้น สื่อมวลชนในบางประเทศเรียกขานกันว่า “มอนซานโตเปเปอร์” ที่ยังมีการอ้างอิงถึงกันอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่งในเวลานี้

ไม่รู้ว่าท่านปลัดฯ เท็ด แม็คคินนีย์ เคยรับรู้ผลของคดีดังกล่าว และเคยได้ยินกรณี มอนซานโตเปเปอร์ มาหรือไม่?

******

“ไกลโฟเซต เบส เฮอร์บิไซด์” นั้นเกิดขึ้นจากการคิดค้นพัฒนาของ มอนซานโต จดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1974 เป็นสารเคมีสำหรับปราบวัชพืช หรือที่คนไทยเรียกกันง่ายๆ ว่า ยาฆ่าหญ้านั่นแหละครับ

รายงานทางวิชาการของ สตีเฟน โอ. ดุค นักวิชาการจากสำนักวิจัยด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย เนบราสกา ลินคอล์น บอกเอาไว้ว่า ในตอนแรกเริ่มผลิตภัณฑ์นี้ ไม่เป็นที่นิยมกัน เหตุผลก็คือ มันส่งผลเสียหายต่อพืชที่เพาะปลูกพร้อมๆกับวัชพืชด้วย

จนกระทั่งเมื่อมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่ผ่านกรรมวิธีดัดแปลงดีเอ็นเอด้วยเทคนิคทางวิศวพันธุกรรม ให้มีดีเอ็นเอที่สามารถต้านทานฤทธิ์ของ จีบีเอช ออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์นั่นแหละ ยาฆ่าหญ้าที่มีไกลโฟเซตเป็นสารออกฤทธิ์ จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมขึ้นมา

ผู้ผลิตก็ผลิตทั้ง จีบีเอช แล้วก็ เมล็ดพันธุ์ออกมาขายดิบขายดีกันไป ขยายออกไปสู่พืชอีกหลายชนิด ตั้งแต่ อัลมอนด์, พีช, หอม, เรื่อยไปจนถึงข้าวโพดและส้มไซตรัส

ในปี 2006 เริ่มปรากฏมีงานวิจัยของ แคโรไลน์ ค็อกซ์ และพวก ที่แสดงให้เห็นว่า สารประกอบอื่นๆ ที่ผสมอยู่ในยาปราบวัชพืชสูตรไกลโฟเซต อาทิ สารลดการตึงผิว, สารคงสภาพ และตัวทำละลาย ซึ่งไม่มีการระบุไว้ในฉลากกำกับ อาจมีผลผูกพันต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ สิทธิบัตรของ มอนซานโต จะหมดลงในปี 2000 ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ สามารถนำสารนี้ไปผลิต จีบีเอช ออกจำหน่ายได้ด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันนี้ มีสารเคมีสำหรับปราบวัชพืชที่มีไกลโฟเซตเป็นสารประกอบหลักวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอย่างน้อยมากถึง 750 ชนิด

ถึงปี 2015 นั้น “ไกลโฟเซต เบส เฮอร์บิไซด์” แพร่หลายออกไปใช้กันในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากถึง 160 ประเทศ

ในรายงานของ เนชันแนล จีออกราฟิก นิวส์ เมื่อปีเดียวกันนั้น ระบุว่า เกือบทั้งหมดของไร่ ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, และฝ้ายในสหรัฐอเมริกา ในตอนนี้ใช้ไกลโฟเซต เป็นตัวควบคุมวัชพืช

แต่ในวันที่ 20 มีนาคม ปีเดียวกันนั้นเองที่ สภาวิจัยมะเร็งนานาชาติ (ไอเออาร์ซี) หน่วยงานหนึ่งของ องค์การอนามัยโลกที่มีความชำนาญเป็นพิเศษเรื่องโรคมะเร็ง ระบุชัดเจนว่า ยาปราบวัชพืช ไกลโฟเซต “อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์” ได้

กรณีนี้นี่เองที่สร้างความตื่นตัว เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ จีบีเอช ใหม่ในหลายประเทศ เพื่อออกข้อกำหนดกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดการใช้งานยาปราบวัชพืชนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

บางประเทศเช่น ศรีลังกา ที่สงสัยว่า จีบีเอช ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตขึ้นกับประชาชนของตน

สั่งห้ามใช้สารเคมีชนิดนี้ในทันที ในปี 2015 นั่นเอง

******

เนชันแนล จีโอกราฟิก นิวส์ ระบุว่า การตัดสินใจของ ไอเออาร์ซี อยู่บนพื้นฐานของผลการวิจัยทั้งในคน ในสัตว์ และในระดับเซลล์ อารอน แบลร์ ผู้เป็นประธานการตรวจทานรายงานดังกล่าว ระบุว่า ทีมวิจัยตรวจสอบพบไกลโฟเซตในเลือด ในปัสสาวะ และพบว่าก่อให้เกิดความเสียหายให้กับโครโมโซมในเซลล์, เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด น็อน-ฮอดจ์กิน ขึ้นในผู้ที่ได้รับสาร และ ก่อให้เกิดก้อนเนื้องอกขึ้นในสัตว์ที่ใช้ในการทดลอง

มอนซานโต ตอบโต้รายงานดังกล่าวโดยระบุว่า ผลสรุปของ ไอเออาร์ซี “ไม่สอดคล้องกับการประเมินความปลอดภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา”

รายงานของไอเออาร์ซี ก่อให้เกิดคลื่นระลอกแรกที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานจีบีเอช แต่ผลสะเทือนสูงมากจริงๆ เกิดขึ้นจากผลของคดีที่ ดีเวย์น ลี จอห์นสัน เป็นโจทก์ และ ไบเออร์ ยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์ของเยอรมนี เข้าไปซื้อกิจการทั้งหมดของมอนซานโต เป็นมูลค่า 66,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 ตกเป็นจำเลยในคดีต่อเนื่องคดีนี้

ในเดือนสิงหาคม ปี 2018 คณะลุกขุนศาลนครซานฟรานซิสโก มีมติให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ เป็นเงิน 289 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเห็นว่า มอนซานโต กระทำความผิดจริงตามข้อกล่าวหา ว่า ไม่ได้ระบุข้อความเตือนให้กับผู้ใช้ได้รับทราบว่ายาฆ่าหญ้าของมอนซานโตก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยลูกขุนเชื่อว่า ยาฆ่าหญ้าดังกล่าวเป็นสาเหตุ “อย่างมีนัยสำคัญ” ในการป่วยเป็นมะเร็งของโจทก์

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ คดีนี้ ส่งผลให้มีการเปิดเผยสิ่งที่เรียกกันว่า “มอนซานโตเปเปอร์” ออกสู่สาธารณะ

เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2018 เอบีซีนิวส์ ออสเตรเลีย สรุปเรื่องราวเกี่ยวกับ มอนซานโตเปเปอร์เอาไว้น่าสนใจดังนี้

“คลังเอกสารจำนวนมากของบริษัท (มอนซานโต) ซึ่งรู้จักกันในชื่อ มอนซานโตเปเปอร์ เปิดเผยให้เห็นถึงประวัติของบริษัทในการใช้บทความที่เขียนโดยนักเขียนผีในการสนับสนุนการใช้งานไกลโฟเซต พยายามบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือในการค้นพบของไอเออาร์ซี และ ยังแสดงให้เห็นถึงความกังวลภายในบริษัทเอง เกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของบริษัท”

มอนซานโตเปเปอร์ หรือ เอกสารภายในของมอนซานโต เปิดเผยประเด็นที่ชวนพิจารณาไว้ดังนี้

ประการแรก ในปี 2003 หัวหน้าทีมนักพิษวิทยาของมอนซานโต เตือนไว้เป็นการภายในว่า บริษัท ไม่สามารถพูดได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะ “ไม่ได้มีการดำเนินการทดสอบเท่าที่จำเป็นในการพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้่น”

มอนซานโต ดำเนินความพยายามต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เพื่อจัดการ “ทำลาย” ผลการประเมินอิสระใดๆ เกี่ยวกับไกลโฟเซต รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อบ่อนทำลายผลการประเมินของไอเออาร์ซี ที่ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ของตนอาจก่อให้เกิดมะเร็ง

ใช้นักเขียนผี เขียนรายงานทางวิทยาศาสตร์ และเขียนบทความในนิตยสารต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้ไกลโฟเซต และ จ่ายเงินว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ไปปรากฏตัวเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ

เบรนท์ วิสเนอร์ ทนายความของ ดีเวย์น จอห์นสัน ที่ชนะคดีให้สัมภาษณ์เอาไว้ด้วยว่า

“ในช่วง 20-30 ปีมานี้อนซานโต ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยเจตนา ในอันที่จะรณรงค์เพื่อโจมตีผลงานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่ระบุเอาไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ของตนไม่ปลอดภัยและโจมตีบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่กล้าที่จะออกมาพูดอะไรสักอย่างในเรื่องนี้”

มอนซานโต อ้างเอาไว้อย่างนี้ครับ

“เอกสารต่างๆ ที่ถูกนำมาเปิดเผยในศาลนั้น เป็นการเลือกหยิบบางส่วนมาใช้ประโยชน์ ไม่ได้แสดงให้เห็นภาพทั้งหมด และยืนยันว่า มีงานวิจัยและการตรวจทานมากกว่า 800ชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าไกลโฟเซต ปลอดภัย”

นำมาเผยแพร่ให้พิเคราะห์ พิจารณาเลือกเชื่อถือกันเอาเองก็แล้วกันครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image