คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เกาหลีเหนือ-แคชเมียร์ ฮอตสปอตเอเชีย2020

(ภาพ-Hasan Almasi/Unsplash)

โลกไม่เคยว่างเว้นความขัดแย้ง ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา “ฮอตสปอต” ของความขัดแย้งก่อตัวขึ้น ดำรงอยู่และลุกลามขยายตัวขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ หลายภูมิภาคของโลก

ในแอฟริกาตอนเหนือ สภาวะแทบไร้ขื่อแปในลิเบีย ยิ่งนับวันยิ่งลุกลามและแหลมคมมากขึ้นตามลำดับ ที่อเมริกาใต้ วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเวเนซุเอลา ก่อวิกฤตทางมนุษยธรรมซ้ำซากขึ้นอย่างชนิดที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าจุดลงเอยจะเป็นฉันใด ที่ตะวันออกกลาง ซีเรีย ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตหลายๆ ด้าน ขณะที่หาผู้คนใส่ใจน้อยลงทุกที ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นในอิรัก เลบานอน และในอีกบางประเทศ จากปัจจัยเดิมๆ ซึ่งคือการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อสร้างอิทธิพลอำนาจจากมหาอำนาจน้อยใหญ่ทั้งในภูมิภาคและในระดับโลก

ใกล้ตัวเรามากขึ้นในเอเชีย บาดแผลเรื้อรังตั้งแต่ยุคสงครามคาบสมุทรเกาหลี ยังคงส่งอิทธิพลทางลบต่อภูมิภาคได้อย่างเหลือเชื่อ แนวโน้มที่ดิ่งลงในทางลบตั้งแต่ครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ส่อแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเกาหลีเหนือยังสามารถยกระดับจากการเป็น “ฮอตสปอต” ขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกได้ภายในชั่วข้ามคืน

ทำนองเดียวกันกับเงื่อนปมที่แคชเมียร์ ซึ่งย่ำแย่ลงชนิดเหนือความคาดหมายในช่วงไม่กี่เดือนหลังของปีที่ผ่านมา อาจนำพาเราไปสู่สงครามหนใหม่ในเอเชียในรอบหลายสิบปีได้ง่ายๆ หากปากีสถานและอินเดียเลิกยับยั้งชั่งใจและปล่อยให้อารมณ์ ความรู้สึก ชาตินิยมพุ่งขึ้นสูงครอบงำเหตุและผลไปในที่สุด

Advertisement

ในอีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งในระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่นเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มในเชิงการเมืองระดับโลก การก่อตัว ขยายตัว ดำรงอยู่ หรือแม้กระทั่งการได้รับการแก้ไขจนลุล่วง ล้วนแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ผันแปร ในความสัมพันธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งหลาย

สะท้อนถึงความเข้มข้นในการแข่งขัน ช่วงชิงกันสร้างอิทธิพล ของบรรดา “ผู้แสดง” ที่รับบทบาทแตกต่างกันบนเวทีการเมืองโลก ตั้งแต่การทะยานอยากมากขึ้นของชาติที่มีอิทธิพลในภูมิภาค เรื่อยไปจนถึงการฉกฉวยโอกาส เพื่อสร้างและสั่งสมผลประโยชน์ของมหาอำนาจในระดับโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นและเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทั้งหมดเหล่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และสับสนอย่างยิ่งในบทบาทของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์
เป็นการพลิกผันที่ก่อความสับสน ปั่นป่วนถึงระดับที่ความเข้าใจดั้งเดิมและดุลยภาพของอำนาจของโลกที่คุ้นเคยกันแต่เดิมไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ระเบียบโลกที่เคยคาดหมายได้ ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป พันธมิตรเดิมถูกหยามหมิ่น คู่แข่งขันแย่งชิงอิทธิพลกันแต่ไหนแต่ไรกลับกลายเป็นมิตรประเทศ

Advertisement

บทบาทที่แสดงออกในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกายังคงพร้อมที่รักษาความเป็น “ผู้นำโลก” อยู่ต่อไปตราบเท่าที่ยังก่อให้เกิดประโยชน์อำนวยให้แก่ตน แต่ไม่เต็มใจอีกต่อไปแล้วที่จะแบกรับภาระอันเกิดขึ้นเนื่องจากความเป็นผู้นำที่ว่านั้น

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับทุกชาติในยามนี้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ไม่ล่วงรู้อีกต่อไปแล้วว่าจุดยืนของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ใด

******

ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น บทบาทของมหาอำนาจอื่นๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน บทบาทของจีนในเวทีการเมืองโลกที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความอดทน อดกลั้่นสูงยิ่งด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของชาติตนสั่งสมอิทธิพลบารมีมากขึ้นเรื่อยๆ บนเวลาที่ผ่านไป

ในเวลาเดียวกันก็ไม่เร่งร้อน ไม่ที่จะแสดง หรืออวดอำนาจอิทธิพลระดับโลกของตนอย่างเต็มที่ออกมาให้เห็นกันกระจะตา

จีน ยังคงแสดงสภาวะของขุนศึกที่เลือกที่จะทำศึกที่เหมาะสม เป็นสงครามที่ตนเองต้องการ แต่ยังยอมแม้ต้อง “กลืนเลือด” ระงับยับยั้งไม่บุ่มบ่ามทำสงครามแตกหักที่ไม่เอื้อต่อผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของชาติ

ยังคงกร้าวอย่างยิ่งในการควบคุมความมั่นคงภายใน การกำราบปราบปรามฝ่ายต่อต้าน (กรณีฮ่องกงและซินเจียงคืออุทธาหรณ์ในประเด็นนี้) กับการดำเนินการทั้งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก

แต่ยังปล่อยให้สงครามแย่งชิงความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีของโลกกับสหรัฐอเมริกา ยืดเยื้อค่อยเป็นค่อยไป กลายเป็นศึกระยะยาวที่ยังไม่มีใครล่วงรู้จุดจบ

รัสเซีย ภายใต้การนำของ วลาดิมีร์ ปูติน แตกต่างออกไป ภายใต้ความสับสนบนเวทีโลก ปูติน ได้กลิ่นโอกาสที่จะขยายอำนาจอิทธิพลของประเทศซึ่งหดหายไปแทบหมดสิ้นหลังสิ้นสุดสงครามเย็น และกระโจนเข้าหาทุกโอกาสที่เปิดให้ ฉกฉวยไว้ในมือก่อนที่เวลาจะหมดลง เปลี่ยนวิกฤตการณ์ในหลายที่ทางให้กลายเป็นการแสดงอำนาจ แสวงหาอิทธิพลใหม่ของรัสเซียในทุกที่ทุกเวลาที่โอกาสเปิดขึ้น

ปฏิบัติการของรัสเซียในซีเรีย ลิเบีย เรื่อยไปจนถึงพื้นที่ซับ-ซาฮาราแอฟริกา เวเนซุเอลา และยูเครน คือตัวอย่างของการสร้างอิทธิพลใหม่ของมอสโก

สหภาพยุโรป (อียู) น่าจะเป็นตัวถ่วงดุลสภาวะการณ์เช่นนี้ได้ แต่น่าเสียดาย ปัญหาและความขัดแย้งภายในอียู มีมากเกินไปจนไม่อาจแสดงความแข็งแกร่ง เป็นอันหนึ่้งอันเดียวกันออกมาได้

ภายใต้สภาพการณ์ทั้งหมดนี้ มุมมองต่อวิกฤต ต่อความขัดแย้ง ในทุกๆ พื้นที่ของชาติมหาอำนาจเปลี่ยนแปลงไป

ไม่มีการพูดถึงการป้องกันวิกฤต หรือการแก้ไขวิกฤตอีกต่อไป ที่มหาอำนาจคำนึงเป็นลำดับแรก ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถรุกคืบเข้าไปกุมสภาพและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตนเองจากวิกฤตเหล่านั้นได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำลายอำนาจอิทธิพลของอีกฝ่ายหนึ่งลง

แนวโน้มของวิกฤตการณ์และความขัดแย้งภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ มีแต่จะน่าสะพรึงกลัว สยดสยองและอำมหิตมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

******

สถานการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือนั้น ปรับเปลี่ยนดีขึ้นและเลวลงสลับกันมาตั้งแต่ปี 2017 เมื่อครั้งที่ทั้งสองฝ่ายปั้นแต่งวาทะกรรมขึ้นมาโจมตีซึ่งกันและกันสลับกับการข่มขู่คุกคาม ชนิดไม่เลือกวิธีการแม้ว่าจะเป็นอาวุธนิวเคลียร์หรือการส่งกองเรือรบเข้ากดดันก็ตามที

ความตึงเครียดดังกล่าวนำไปสู่ภาวะสงบ สันติมากขึ้นในปี 2018 และ 2019 ที่ผ่านมา เมื่อต่างฝ่ายต่างโอนอ่อน เอาอกเอาใจซึ่งกันและกันหลังการหารือสุดยอดครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ ที่นำไปสู่การยกเลิกการซ้อมรบทางทหารเกือบทั้งหมดของสหรัฐอเมริกากับกองทัพเกาหลีใต้ แลกกับคำสัญญาจะรื้อทำลายแห่งทดลองและผลิตอาวุธ เพื่อนำไปสู่การหารือถึงขั้นตอนการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ได้ในที่สุด

การหารือสุดยอดครั้งที่ 2 ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จอง อึน ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม กลับกลายเป็นเครื่องแสดงให้เห็นจุดยืนที่แตกต่างกันมหาศาลของผู้นำทั้งสองมากกว่าอย่างอื่น และแม้จะมีความพยายามฟื้นฟูการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ขึ้นมาในการ “แวะพบกัน” ที่เขตปลอดทหารซึ่งคั่นระหว่างสองเกาหลีเมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ การเจรจานาน 8 ชั่วโมงระหว่างทูตพิเศษของทั้งสองประเทศที่สวีเดน ซึ่งไม่มีผลรุดหน้าใดๆ เท่านั้นเอง

ในห้วงเวลาที่ความสนใจในปัญหาอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือของสหรัฐอเมริกาเจือจางลงในครึ่งปีหลังที่ผ่านมา เกาหลีเหนือเริ่มต้นทดลองอาวุธ และแสดงท่าทีกดดันให้สหรัฐยกเลิกการแซงก์ชัน อันเป็นเงื่อนไขล่วงหน้าก่อนการเจรจาของตนอย่างต่อเนื่อง ลงเอยด้วยการข่มขู่จะส่ง “ของขวัญวันคริสตมาส” มาให้ ต่อด้วยการท้าทายด้วยการทดลองเครื่องยนต์จรวดพิสัยไกลในสถานที่ทดลองซึ่งทรัมป์ อ้างเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าเกาหลีเหนือรับปากจะรื้อถอนทำลาย

แม้ว่ายังโชคดีที่คำขู่ว่าด้วย “ของขวัญคริสตมาส” ของเกาหลีเหนือยังไม่เกิดเป็นจริงขึ้นมา แต่สถานการณ์กลับตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ เพราะไม่มีใครสามารถคาดคิดได้ว่า เกาหลีเหนือจะยกระดับการยั่วยุของตนขึ้นมาอีกหรือไม่และถึงระดับใด และยังไม่มีใครการันตีได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะตอบโต้ด้วยวิธีการทางการทูตเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

เอาเข้าจริงแล้ว ความเสี่ยงสูงสุดของสถานการณ์เกาหลีเหนือก็คือ ผู้นำอย่าง คิม จองอึน และ โดนัลด์ ทรัมป์ คือรูปธรรมของผู้นำที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลยนั่นเอง

******

ขณะที่กรณีเกาหลีเหนือคาดเดาได้ยากลำบาก สถานการณ์ที่แคชเมียร์กลับล่อแหลมต่อการนำไปสู่สงครามมากที่สุด แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง อินเดียและปากีสถาน จะสงบราบเรียบมานานหลายปีก่อนหน้านี้ก็ตาม

การประกาศเพิกถอนสถานะกึ่งปกครองตนเองของแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งนำมาใช้เป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกับอินเดียมานานร่วม 72 ปีของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี้ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และผนวกเอาแคชเมียร์เป็นดินแดนหนึ่งของอินเดียเต็มตัว ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานกลับมาอยู่ในความสนใจของนานาชาติอีกครั้ง

ที่สำคัญก็คือ ก่อนหน้าการประกาศดังกล่าว โมดี้ ส่งกำลังทหารเข้าไปในแคชเมียร์หลายพันนาย ทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ ตัดการสื่อสาร และ จับกุมนักการเมืองทั้งหมดในแคชเมียร์ ทั้งๆ ที่หลายคนในจำนวนนั้นไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ของอินเดียก็ตามที

การดำเนินการดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณารวมกันกับการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมืองฉบับใหม่ ซึ่งถูกชี้ชัดว่าเป็นกฎหมาย “ต่อต้านมุสลิม” ก็สามารถอนุมานถึงเจตนารมณ์ของ โมดี้ และรัฐบาลอินเดียได้เป็นอย่างดี ว่า ต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐของชาติพันธุ์ฮินดู ที่เป็นนโยบายสำคัญของกลุ่มชาตินิยมฮินดู ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ปากีสถาน พยายามดำเนินการทางการทูตเพื่อระดมแรงสนับสนุนจากนานาชาติ ด้วยการกล่าวหาว่าการตัดสินใจผนวกดินแดนแคชเมียร์ของอินเดีย ไม่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

เหตุผลหนึ่งอาจเนื่องจากการที่เชื่อกันว่า ปากีสถานอยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุในอินเดียหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา ในอีกแง่หนึ่งอาจเป็นผลจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจของอินเดีย ที่ยิ่งนับวันชาติตะวันตกยิ่งมองว่าเป็น “คู่ค้า” และ “หุ้นส่วน” สำคัญมากขึ้นตามลำดับ

หากปากีสถานต้องการปรับแก้สถานการณ์ในแคชเมียร์ คงไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากอาศัยความรุนแรง

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ในสถานเบา อินเดีย จะเผชิญกับการก่อการร้ายมากขึ้นในปีนี้ แต่มีโอกาสไม่น้อยเช่นเดียวกันที่แคชเมียร์จะกลายเป็นแนวรบของสงครามครั้งใหม่อีกครั้ง

ชนิดที่ทำให้ทั้งโลกต้องผวา เพราะทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองนั่นเอง
(ภาพ-Hasan Almasi/Unsplash)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image