คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ไวรัสอู่ฮั่น ในขั้นตอน “ตาบอดคลำช้าง”

REUTERS/Aly Song/File Photo

ในที่สุดโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ก็ได้ชื่อวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ว่า “โควิด-ไนน์ทีน” (CoViD-19) ที่ย่อมาจากคำเต็มๆ ว่า Corona Virus Disease 2019 ซึ่งถ่ายทอดเป็นไทยได้ความว่า “โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาซึ่งเริ่มระบาดในปี 2019” นั่นเอง

แต่ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ซึ่งรู้กันแล้วทั่วโลกในเวลานี้ ที่สำคัญยิ่งกว่าชื่อเรียกก็คือ จนถึงขณะนี้โลก ซึ่งหมายรวมเอาถึงพวกเราด้วยเช่นเดียวกัน ยังมีสิ่งที่ “ไม่รู้” เกี่ยวกับ โควิด-19 นี้มากมายนัก

นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเอง ย้ำเรื่องความเป็นเชื้อ “อุบัติใหม่” ของไวรัสตัวนี้ไว้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเอาไว้ว่า เชื้อไวรัสที่เลื่องลือไปทั่วโลกในยามนี้นั้น แค่ย้อนหลังไปเพียง 2 เดือนก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีมนุษย์หน้าไหนรู้จักมาก่อน

นายแพทย์ผู้นี้ย้ำด้วยว่า คนเราไม่รู้ทั้งจุดเริ่มต้น ไม่รู้ว่ามันระบาดได้มากมายแค่ไหน ไม่รู้อัตราเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อถึงตายว่าเป็นเท่าใดกันแน่

Advertisement

เขาสรุปเป็นเชิงอุปมาอุปไมยเอาไว้ว่า เหมือนกับคนเรากำลังต่อกรอยู่กับศัตรูที่เห็นได้แค่เพียงเงา มองไม่เห็นตัว

คำกล่าวของหัวเรือใหญ่ขององค์การด้านสุขอนามัยของนานาประเทศของสหประชาชาตินี้อาจตีความได้หลากหลายทาง ในทางวิชาการ ตีความโดยจำกัดแคบที่สุด คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงใน “ความใหม่” ของไวรัสตัวนี้ ที่ขยายความได้ว่า หากต้องการให้ล่วงรู้ทะลุปรุโปร่งอย่างแท้จริงนั้น ยังจำเป็นต้องเกิดการทำงานหนักตามแนวทางวิทยาศาสตร์ชนิดคร่ำเคร่งหามรุ่งหามค่ำอีกนานหลายเดือนเลยทีเดียว

ถามว่า ที่ผ่านมาไม่มีใครรู้ความจริงกันเลยหรืออย่างไร? คำตอบที่ชัดเจนของคำถามนี้ อยู่ที่คำอุปมาของสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ของนักวิชาการด้านระบาดวิทยาระดับหัวแถวอย่าง เดวิด ฟิสแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา

Advertisement

คำตอบของศาสตราจารย์ฟิสแมนคือ ทั้งโลกในเวลานี้กำลังอยู่ใน “ขั้นตอน” หนึ่งของการระบาด ซึ่งฟิสแมนเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ตาบอดคลำช้าง”

คนตาบอดมองไม่เห็นช้างทั้งตัว ได้แต่ใช้มือคลำเพื่อให้ได้รู้สึกว่า “ช้าง” คืออย่างไร และได้แต่บรรยายลักษณะช้างออกมาเพียงแค่ในส่วนที่มือสัมผัสได้ ยิ่งหลายคนคลำ ยิ่งบอกได้ต่างกันออกไป

“เรามีหลายคนรู้สึกถึงไวรัสนี้ได้จากแง่มุมต่างๆ กันหลากหลาย แต่เราไม่มีใครมองเห็นภาพรวมของช้างทั้งตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการอย่างยิ่ง”

ความไม่รู้ ไม่เพียงก่อให้เกิดความหวั่นวิตก กังวลมากเข้าก็กลายเป็นความหวาดกลัว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ความไม่รู้ในข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง นำไปสู่ความไม่รู้ในอีกหลายต่อหลายประการตามมา

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ ถึงเวลานี้ ทุกคนก็เริ่มพิศวงงงงวยกันแล้วว่า จริงๆ แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสนี้มีจำนวนเท่าใดกันแน่ แม้แต่ในประเทศจีน หรือแม้แต่จำกัดพื้นที่ลงเพียงแค่ภายในมณฑลหูเป่ย์ ก็ตามที

คณะกรรมการสุขภาพของมณฑลหูเป่ย์ แถลงจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ และจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในมณฑลเป็นรายวันอยู่ดีๆ พอถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นรายวันกลับพุ่งพรวดจากวันละประมาณพันเศษกลายเป็นเพิ่มขึ้นวันเดียวมากกว่า 14,000 ราย แถมยังย้ำด้วยว่าเป็นการเพิ่มเฉพาะในหูเป่ย์เท่านั้น ไม่ใช่ยอดการเพิ่มทั้งประเทศ

หากยึดถือว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเดิมที่มีอยู่ภายในวันเดียวเท่านั้น

คำอธิบายอย่างเป็นทางการก็คือ การเพิ่มดังกล่าวเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจสอบยืนยันผู้ติดเชื้อ ทางหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจวินิจฉัย จากเดิมที่อาศัยชุดตรวจสำเร็จ ซึ่งเป็นการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ นิวคลีอิค แอซิด ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อร่างกายพัฒนาภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านเชื้อ วิธีการใหม่นั้น นอกจากใช้บุคลากรทางการแพทย์ตรวจยืนยันแล้วยังใช้การทำซีทีสแกนเพื่อตรวจสอบปอดประกอบด้วย

เหตุผลก็คือ เพื่อให้ตรวจสอบยืนยันตัวผู้ติดเชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการเพียงแค่ไอ จาม หรือมีไข้ ซึ่งเหมือนอาการหวัดทั่วไป เมื่อยืนยันได้เร็วขึ้นก็ช่วยให้นำตัวผู้ติดเชื้อมาเยียวยาได้เร็วขึ้นด้วย

ถ้อยแถลงของคณะกรรมการระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติจากรัฐบาลจีนที่กำหนดออกมาเมื่อ 5 กุมภาพันธ์

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วจากวันที่ 30 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศการระบาดของทางการจีน เรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนัก หรือผู้ที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งไม่เคยถูกรวมเอาไว้ในจำนวนผู้ติดเชื้อนั้น อยู่ที่ไหน? ยังคงถูกยึดถือว่าเป็นคนที่สุขภาพดีทั่วไป หรือถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็น ซึ่งจำต้องเฝ้าระวัง?

หรือคนเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้มาตรการกักกันโรคของทางการจีนชนิดปิดเมืองทั้งเมือง ปิดล้อมมณฑลทั้งมณฑลไม่เป็นผล?

จากการเปลี่ยนแปลงตัวเลขฉับพลันในหูเป่ย์ นำไปสู่คำถามจากผู้เชี่ยวชาญตามมามากมาย คำถามสำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบพรวดพราดนี้ เกิดขึ้นจำเพาะที่หูเป่ย์เท่านั้นหรือ? แล้วในอีกหลายๆ พื้นที่ระบาดของอีกหลายมณฑลเล่า?

ข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไป และมีรายงานทางการแพทย์เบื้องต้นยืนยันก็คือ มีผู้ติดเชื้อบางส่วนเท่านั้นที่มีอาการ “หนัก” อีกบางส่วนแสดงอาการเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ ซึ่งนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่า ที่จีนระบุว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อได้ เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นการเข้าใจผิดกันแน่

ซึ่งนำไปสู่ข้อกังขาตามมาว่า จริงๆ แล้ว ระยะฟักตัวของ โควิด-19 นี้เป็นเท่าใดกันแน่?

เริ่มต้นในระยะแรกนั้น เชื่อกันว่าระยะฟักตัวจะกินเวลาเพียง 2 วัน แต่ข้อเท็จจริงในหลายๆ กรณีต่อมาแสดงให้เห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น ระยะฟักตัว “คิดกันว่า” น่าจะเป็นไม่น้อยกว่า 14 วัน แต่ในตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญบางคนเริ่มตั้งข้อสังเกตใหม่กันแล้วว่า หรืออาจจะเป็น 24 วัน?

ในเวลาเดียวกันก็มีรายงานว่า ชุดทดสอบเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เทสต์คิท” นั้นเกิดขาดแคลนขึ้นในจีน

แน่นอนเทสต์คิท จำนวนมากถูกส่งมายังหูเป่ย์ เพราะที่นี่คือศูนย์กลางการแพร่ระบาด แต่ในขณะที่หูเป่ย์สามารถตรวจสอบยืนยันจำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนั้น มีรายงานว่า แพทย์ในที่อื่นๆ ตรวจวินิจฉัยแล้วนำตัวคนจำนวนมากเข้ากักกันโรค โดยที่ไม่มีวิธีตรวจยืนยันได้ว่า คนเหล่านั้นควรได้รับการ “ยืนยัน” ว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่

หรือในที่สุดคนเหล่านี้ก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ หลังจากถูกกักกันโรคอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะกลับไป “ล้มป่วย”?

มีคนอีกจำนวนเท่าใดที่ “กลัว” กับการกักกันโรค หรือเป็นคนยากจน แล้วไม่ยอมรายงานอาการป่วยของตนเองต่อทางการ? คนเหล่านี้มีจำนวนเท่าใดที่ล้มตายลง แล้วก็ไม่มีการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเช่นเดียวกัน เพราะต้องการประกอบพิธีศพตามขนบประเพณี ไม่ใช่ส่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์?

จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงที่ไม่มีใครรู้ ทำให้หลายอย่างผิดเพี้ยนไปทั้งหมด ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนก็คือ การใช้คำสั่งเด็ดขาดปิดล้อมหูเป่ย์เพื่อกักกันโรคซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเต็มระยะฟักตัว 14 วันพอดี แต่เพียงแค่ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ยังไม่ครบ 10 วันด้วยซ้ำไป ทางการจีนก็ต้องปิดล้อม มหานครกว่างโจว เมืองที่มีประชากร 14 ล้านคน อีกทั้งเมือง

ทำไมการปิดล้อมหูเป่ย์ถึงไม่ได้ผล ไม่มีใครมีคำตอบ!

ความไม่รู้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเหล่านั้น ทำให้การประเมินการระบาดทำได้ยากลำบากอย่างยิ่ง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันชัดเจนว่า โควิด-19 ระบาดได้รวดเร็วเพียงใด เป็นอันตรายต่อชีวิตคนแค่ไหน เราควรกลัวกับการระบาดครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

ตัวอย่างเช่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักระบาดวิทยาระดับหัวแถวของโลกอย่าง นีล เฟอร์กุสัน ออกมายืนยันว่า ตัวเลขที่ทางการจีนรายงานออกมานั้น “คาดว่าน่าจะเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดเท่านั้น” และยกตัวอย่างว่า อย่างเช่นเมื่อ 25 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ทางการจีนรายงานตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดไว้ที่ 2,000 รายนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะมากถึง 75,000 ราย เป็นต้น

อดัม คูชาร์สกี รองศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่อและระบาดวิทยา จากลอนดอน สคูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ โทรปิคอล เมดิซิน ของอังกฤษ เคยใช้แบบจำลองประเมินเอาไว้ว่า ณ ถึงจุดระบาดสูงสุดของโควิด-19 ประชากรในอู่ฮั่นราว 5 เปอร์เซ็นต์ จะติดเชื้อ ซึ่งเท่ากับว่าเฉพาะในอู่ฮั่นเมืองเดียว จะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 500,000 คน เป็นอย่างน้อย

ประเด็นสำคัญที่สุดนอกเหนือจากการได้ผลหรือไม่ได้ผลของระยะเวลากักกันโรคแล้ว ก็คือ ทำให้เราไม่รู้ว่าโควิด-19 เป็นอันตรายถึงชีวิตมากมายแค่ไหน?

ตัวเลขที่เป็นของทางการจีนตอนนี้ อยู่ระหว่าง 2.1-2.2 เปอร์เซ็นต์ คำถามก็คือ สัดส่วนที่ว่านี้ประเมินจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดเท่าใด หากผู้ติดเชื้่อมีมากกว่าที่เคยบันทึกไว้ จริงๆ แล้วมันควรต่ำกว่านี้มากใช่หรือไม่

ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาจำเพาะในอู่ฮั่นเพียงเมืองเดียว สัดส่วนของผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่ผ่านมา สูงเกือบถึง 5 เปอร์เซ็นต์

ความเป็นอันตรายถึงตายของโควิด-19 เชื่อมโยงถึงคำถามสำคัญที่ว่า เราควรกลัวมันมากมายเพียงใด เราควรปิดเมือง ปิดโรงงาน หยุดทำงานกันอีกมากน้อยเพียงใด

หรือถามอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เราควรปล่อยให้เศรษฐกิจสูญเสียไปอีกยาวนานเพียงใด สร้างผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจจีนและของโลกอีกมากน้อยขนาดไหน?

ก็ยังไม่มีใครมีคำตอบที่ชัดเจนเช่นกันครับ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image