คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : เหมืองถ่านหินแห่งสุดท้าย ในกรุงปักกิ่ง

(FILES) (Photo by GREG BAKER / AFP)

หลังจากเหมืองถ่านหินเคยรุ่งเรืองอย่างมากในประเทศจีน อันเนื่องมาจากเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับประเทศอันยิ่งใหญ่อย่างจีน

มาวันนี้ ผลกระทบจากเหมืองถ่านหินได้ทำให้จีนต้องเผชิญกับภาวะมลพิษทางอากาศอย่างหนัก จนต้องทยอยสั่งปิดเหมืองถ่านหินเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง “หมอกควันพิษ” ที่จีนต้องเจอ

การปิดเหมืองช่วยทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน

โดยเฉพาะในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เคยมีเหมืองถ่านหินอยู่มากกว่า 270 แห่ง และได้ทยอยปิดตัวลงไปตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

จนตอนนี้เหลือเหมืองถ่านหินอยู่ในกรุงปักกิ่งเพียงแห่งเดียวคือ เหมืองถ่านหิน “ต้าไถ” ในเขตเหมินโถวโกว ที่มีกำหนดจะปิดตัวลงภายในปีนี้แล้ว

(FILES) (Photo by GREG BAKER / AFP)

หม่า ซือฮุ่ย คนงานเหมืองที่มาจากมณฑลเสฉวน ที่มาทำงานอยู่ที่เหมืองต้าไถตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 บอกว่า “ถ้าเหมืองถ่านหินต้าไถปิดไป ก็จะไม่เหลือเหมืองถ่านหินในปักกิ่งอีกแล้ว”

ตอนนี้คนงานที่ยังเป็นวัยรุ่นก็พากันรับเงินชดเชยแล้วย้ายไปเมืองอื่นเพื่อหางานทำ แต่ก็ยังมีคนงานอีกหลายร้อยคนที่เหมือนกับนายหม่า ในวัย 50 ปี ที่มีความหวังเพียงน้อยนิดสำหรับการหางานใหม่ เนื่องจากอายุที่มากแล้ว และยังไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตรในหมู่บ้านบ้านเกิดของตัวเอง

Advertisement
(FILES) (Photo by GREG BAKER / AFP)

ตอนทำงานที่เหมือง นายหม่าได้เงินเดือนราว 10,000 หยวน หรือราวๆ 46,000 บาท

แต่ตอนนี้ครอบครัวของนายหม่าต้องประทังชีวิตด้วยเงินเพียง 1,540 หยวนต่อเดือนเท่านั้น โดยเป็นเงินที่ทางบริษัทเหมืองให้มา

“ถ้าคนที่อายุเกิน 45 ไปแล้ว ไม่มีใครรับเข้าทำงานหรอก” นายหม่าบอก และว่า ครอบครัวของตนนั้นไม่มีที่นาทำกินแล้ว ดังนั้น คงไม่สามารถกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดได้ ถึงกลับไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถอยู่รอดได้

(FILES) (Photo by GREG BAKER / AFP)

ความหวังตอนนี้คือ อยากให้บริษัทเหมืองช่วยหางานที่เหมืองอื่นๆ ให้ทำ หรือจะให้เป็นคนทำความสะอาดก็ได้ จะที่หนิงเซี่ย หรือซานตงก็ได้

นายจาง เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ทำงานให้กับเหมืองต้าไถมานานถึง 30 ปี และเมื่อต้นปีก่อนเขาเพิ่งป่วยเป็นโรคฝุ่นจับปอด ที่เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานในเหมืองถ่านหิน

แม้ว่ารัฐบาลจะสัญญาว่าจะมอบเงิน 380,000 หยวน เป็นเงินชดเชยสำหรับคนงานเหมืองที่ล้มป่วย แต่นายจางก็ไม่เคยได้เงินเหล่านั้น

(FILES) (Photo by GREG BAKER / AFP)

เหมือนกับคนงานเหมืองอีกหลายคนที่ถูกบริษัทเหมืองยักยอกเงินชดเชยที่ควรได้รับจากการล้มป่วยไป

แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แม้จะยื่นเรื่องฟ้องร้องกันก็ตาม

ที่สุดแล้ว หลังจากเหมืองสุดท้ายในปักกิ่งปิดไป อีกหลายร้อยชีวิต คงมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image