คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ยังมีไวรัส ‘รอระบาด’ อีกนับแสนนับล้าน!

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นำโดย คริสตีน ครูเดอร์ จอห์นสัน ผู้อำนวยการศูนย์การระบาดเพื่อศึกษาพลวัตโรค (อีซีดีดี) ในสังกัดสถาบันวันเฮลธ์แห่งโครงการสัตวแพทย์ ของยูซีเดวิส เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากสัตว์มาสู่มนุษย์ รวม 140 ชนิด

ทั้ง 140 ชนิด เป็นเชื้อไวรัสที่พบระบาดในมนุษย์ และเป็นเชื้อที่พบว่ามีอยู่ในสัตว์สปีชีส์ต่างๆ อยู่ก่อนหน้าแล้ว นับเฉพาะที่ปรากฏอยู่ก่อนหน้าปี 2014 เท่านั้น

ทีมวิจัยนำเอาข้อมูลของการแพร่ระบาดนี้ไปเทียบเคียงกับเทรนด์ของสัตว์แต่ละชนิดที่พบไวรัสเหล่านั้น โดยอาศัยข้อมูลของ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็นอาร์) ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายการ “สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” หรือ “เรด ลิสต์” ของบรรดาสัตว์ที่ถูกคุกคามทั้งหลาย

บทสรุปของงานวิจัยนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง ครูเดอร์ จอห์นสัน สรุปผลการวิจัยเอาไว้ดังนี้

Advertisement

“การแพร่ของไวรัสทั้งหลายจากสัตว์มาสู่มนุษย์นั้น เป็นผลโดยตรงของพฤติกรรมของมนุษย์เราที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ในธรรมชาติป่า และถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน”

เหตุผลที่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น คือว่า สัตว์ต่างๆ ที่ถูกคุกคามจนใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะมนุษย์เข้าไปทำลายพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพวกมัน หรือเข้าไปล่า ดักจับ ทั้งเพื่อเป็นอาหารและเพื่อการค้าสัตว์ป่า ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศทั้งหลายนั้น มีไวรัสอยู่ในตัวมันหลากหลายชนิด (สายพันธุ์) มากกว่าจำนวนชนิดของไวรัสที่เรารู้จักกันอยู่ว่าแพร่ระบาดกลายเป็นโรคระบาดในมนุษย์ได้ถึง 2 เท่าตัว เมื่อนำมาเทียบกับสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ด้วยวิธีการอื่นๆ

ครูเดอร์ จอห์นสัน บอกต่อไว้ว่า

Advertisement

“ผลลัพธ์ของพฤติกรรมเข้าไปบ่อนทำลายถิ่นอาศัย หรือจับหรือล่าสัตว์ป่าทั้งหลายเหล่านี้ ก็คือ สัตว์เหล่านี้แพร่ไวรัสที่มันมีอยู่ในตัวมาให้กับเรา ยิ่งพฤตกรรมทำลายสัตว์ป่าทำนองนี้เกิดขึ้นมากเท่าใด ความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสจากสัตว์มาสู่คนก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

“โชคร้ายที่ในบางกรณีของการรับเชื้อที่แพร่จากสัตว์เข้ามาเช่นนี้มีปัจจัยอื่นๆ บังเอิญเข้ามาสมทบด้วย ทำให้เกิดกรณีร้ายแรงขึ้นมาเหมือนกับภาวะโกลาหลที่เราเป็นอยู่ในเวลานี้”

การค้นพบครั้งนี้ เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์เรานั่นเองที่เป็นที่มาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ที่เพิ่มถี่ยิบมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้เราทำลายพื้นที่ป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้กลายเป็นชุมชนเมือง และการขยายพื้นที่ทำเกษตรกรรมออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการบริโภคของประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เหล่านี้ล้วนทำให้มนุษย์ เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับประชากรสัตว์ป่าที่มีไวรัสอยู่ในตัวมันเองมหาศาลเหล่านี้มากขึ้นและมากขึ้น

ทีมวิจัยพบว่า ถ้าเปรียบเทียบในเชิงปริมาณของการเข้าไปสัมผัสสัตว์ป่าใกล้ชิดเช่นนี้ของสังคมมนุษย์ในเวลานี้กับในช่วงทศวรรษ 1960 แล้ว ปริมาณเพิ่มขึ้นถึงกว่าสองเท่าตัว

ในช่วงก่อนหน้านี้ สัตว์ที่แพร่ไวรัสมาสู่คนได้มากที่สุด เป็นสัตว์เลี้ยง หรือปศุสัตว์ที่เราเลี้ยงเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นอาหาร เพราะมันเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากและบ่อยที่สุดนั่นเอง

ตัวอย่างของไวรัสที่มาจากสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ อาทิ ไข้หวัดนก เอช1 เอ็น1, ไวรัสฮันตา ที่แพร่มาจากสัตว์ฟันแทะทั้งหลาย และไวรัสก่อโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

แต่เมื่อประชากรโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทีมวิจัยพบว่า ยิ่งเพิ่มโอกาสให้มนุษย์เราพาตัวเองเข้าไปในอยู่ในปริมณฑลดั้งเดิมของสัตว์ป่ามากขึ้น สัตว์ฟันแทะจำพวกหนู ค้างคาว และสัตว์จำพวกไพรเมท หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกลิง ที่อยู่อาศัยในป่าต้องใช้ชีวิตใกล้กับฟาร์มเกษตรกรรมมากขึ้น ใกล้บ้านเรือนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ จากความพยายามในการขยายพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของมนุษย์

ยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์เป็นไปได้สูงมากยิ่งขึ้น

สัตว์ฟันแทะ ค้างคาว และไพรเมท เหล่านี้มีปริมาณประชากรมากคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนพื้นโลกทั้งหมด ที่สำคัญก็คือ สัตว์ทั้ง 3 จำพวกนี้ รวมกันกลายเป็นที่มาของไวรัสที่แพร่มาสู่มนุษย์มากถึงราว 3 ใน 4 ของไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คนที่มีมาทั้งหมด

ค้างคาว คือแหล่งที่มาของไวรัสก่อโรคร้ายแรงที่ระบาดในหมู่มนุษย์จำนวนหนึ่ง รวมทั้ง โรคซาร์ส, เมอร์ส, โรคนิปาห์ และแน่นอน โควิด-19!

เดิร์ค ฟีฟเฟอร์ ศาสตราจารย์ประจำแผนกวิชาวันเฮลธ์ จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยข้างต้นนี้ บอกว่า การแพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คนดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีธรรมชาติ แต่สิ่งที่เปลี่ยนวิถีนี้ให้กลายเป็นการแพร่ระบาดแบบผิดธรรมชาติ ผิดไปจากวิถีปกติทั่วไป เป็นถี่ยิบมากขึ้นและอันตรายมากยิ่งขึ้นก็คือ “พฤติกรรมของมนุษย์”

“เราทำให้สมดุลตามธรรมชาติสูญเสียไป เราขยับตัวเองเข้าไปใกล้ป่ามากขึ้น ล่วงล้ำเข้าไปในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเหล่านี้ เข้าไปสัมผัสและใกล้ชิดกับเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน”

เมื่อเรานำเชื้อร้ายนี้ออกมาจากป่า การขยายตัวของชุมชนเมืองให้กลายเป็นชุมชนมหานคร ควบคู่ไปกับการพัฒนาของการค้าโลกและการเดินทางท่องเที่ยว ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เร็วขึ้นและมีอานุภาพทำลายล้างร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม

“มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกใบนี้ไป เพื่อให้สามารถทำเงินได้มากขึ้นกว่าเดิม ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม และด้วยการทำเช่นนี้ เราได้รังสรรค์สภาวะแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับการแพร่ระบาดเชื้อโรคร้ายออกไปให้มากที่สุด กว้างขวางที่สุด”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น ห่วงโซ่ซัพพลายที่ขยายออกไปกว้างขวางครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทำให้คนที่เดินเตร็ดเตร่อยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตในซีกโลกหนึ่ง สามารถเลือกซื้อเนื้อสันที่ตัดส่วนมาจากปศุสัตว์ซึ่งเลี้ยงอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งได้

แชมพูขวดหนึ่งซึ่งซื้อจากหิ้งในห้างที่นิวยอร์ก มีส่วนผสมหลักที่ทำจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งปลูกอยู่บนเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย เป็นต้น

ในทางหนึ่ง พฤติกรรมเช่นนี้อาจนำพาเชื้อจากที่หนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว เร็วกว่าที่เคยเป็นมาหลายร้อยหลายพันเท่าตัว

ในอีกทางหนึ่งพฤติกรรมเดียวกันนี้ ก่อให้เกิดการหักร้างถางพง ทำลายพื้นที่ป่า ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากขึ้นและเร็วขึ้นจนสัตว์เหล่านั้นปรับตัวไม่ทัน ไวรัสที่เคยสิงสู่อยู่ในตัวมันก็ยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น

ปีเตอร์ แดสแซค ประธานกลุ่มพันธมิตรเพื่อสุขภาวะสิ่งแวดล้อม องค์กรวิจัยไม่แสวงกำไรในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก (ฮู) เรียกสภาวะโลกเช่นนี้ว่าเป็น “ยุคสมัยของการแพร่ระบาดใหญ่”

เขาชี้ว่ากรอบคิดเรื่องโรคระบาดของเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

“เราจำเป็นต้องคำนึงถึงการแพร่ระบาดใหญ่อย่างเช่นโควิด-19 ในเวลานี้ในท่วงทำนองแบบเดียวกันกับการคิดถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก ทั้งโรคระบาด และภาวะโลกร้อนต่างเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของเราเหมือนกัน แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้เหมือนกัน

“เราควบคุมทั้งสองอย่างนี้ได้ เพราะเราคือตัวการก่อให้เกิดทั้งสองอย่างนี้ขึ้นมานั่นเอง”

การทำความเข้าใจต่อไวรัส ต่อสัตว์และสภาวะแวดล้อมที่ก่อให้เกิดไวรัสร้ายแรงเหล่านี้ เพื่อเฝ้าระวัง “พื้นที่เสี่ยงสูงสุด” ที่จะก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหม่ขึ้น คือหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อการควบคุมดังกล่าวนั้น แต่ แซม สคาร์ปิโน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์เครือข่าย ของมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น เชื่อว่า แนวต้านแรกสุดเพื่อการนี้คือการ “เฝ้าระวัง” การ “กระโดด” จากสัตว์มาสู่มนุษย์

“ตัวอย่างเช่น โควิด-19 อาจแพร่หลายอยู่ในตัวคนมาก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้ว อาจเป็นเวลานานหลายปี ก่อนที่จะกลายพันธุ์เป็นร้ายแรงมากถึงระดับที่เป็นอยู่ แต่เราไม่มีกลไกใดๆ ในการเฝ้าระวังกรณีเช่นนี้ในหมู่ประชากรของเรา เราไม่รู้ตัวจนกระทั่งเกิดการระบาดใหญ่อย่างเช่นในเวลานี้”

สคาร์ปิโนตั้งคำถามสำคัญไว้ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นเช่นนี้อีก?

เพราะแม้แต่การกำหนดให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็น “พื้นที่เสี่ยงสูงสุด” ได้ก็ “เป็นการท้าทายที่เหลือเชื่อมากแล้ว” ส่วนหนึ่งเพราะเกิด “ความลำเอียง” ในการกำหนดสิ่งนี้

“ที่ผ่านมาเรามุ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษมาที่จีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่เกิดการระบาดอุบัติใหม่มาก แต่ในเวลาเดียวกัน เรากลับไม่สนใจที่จะตรวจสอบพื้นที่ส่วนที่เหลืออื่นๆ ทั่วโลก ทั้งๆ ที่มีคุณลักษณะเชิงสภาวะแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยงในทำนองเดียวกันไปโดยสิ้นเชิง”

แล้วเราก็พบไวรัสเอช1 เอ็น1 2009 ว่า กำเนิดขึ้นในหมูเลี้ยงในเม็กซิโก และแทบไม่มีการเตรียมพร้อมเมื่อเกิดการระบาดของ อีโบลาและซิกา เป็นครั้งแรก

สคาร์ปิโนคาดหวังว่า ประสบการณ์ร้าวรานสุดขีดจากโควิด-19 จะทำให้โลกเราเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

เปลี่ยนเป็นการลงทุนในการเฝ้าระวังให้มากขึ้นและครอบคลุมทั่วทั้งโลก

เพื่อไม่ให้มนุษย์ต้องเผชิญกับความอำมหิตไม่เลือกหน้าของไวรัสตัวต่อไปนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image