คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ไฟไม่เคยมอดดับ ที่มินนีอาโพลิส

REUTERS/Lawrence Bryant

ดานีลลา ฟราเซียร์ สาวรุ่นผิวดำ พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อบังคับไม่ให้สมาร์ทโฟนในมือสั่น เพื่อจับภาพเหตุการณ์เกือบ 9 นาทีสุดท้ายในชีวิตของ จอร์จ เพอร์รี ฟลอยด์ หนุ่มใหญ่ผิวดำวัย 40 ปี ที่ถูกเข่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดิเร็ค ชอวิน วัย 44 ปี กดเข้าที่หลังคอ ทิ้งน้ำหนักทั้งตัวเพื่อให้ร่างผู้ต้องสงสัยนิ่งอยู่กับพื้นถนน

“ได้โปรด ผมหายใจไม่ออก ได้โปรด”

เสียงครางอ้อนวอนซ้ำแล้วซ้ำอีก ได้ยินถนัดไปถึงหูของผู้คนที่มุงดูอยู่ด้านหนึ่ง บางคนร้องอย่างตื่นตกใจให้เจ้าหน้าที่ปล่อยร่างผู้ต้องสงสัย ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ ธนบัตร 20 ดอลลาร์ปลอมในร้านค้าแห่งหนึ่ง

“ฉันเห็นเขาตาย…ต่อหน้าต่อตา” ดานีลลาบอกในภายหลัง “คืนนั้นฉันกลับไปโพสต์คลิปนี้ลงไป”

Advertisement

มันกลายเป็นไวรัล ไปในอีกไม่ช้าไม่นาน

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นคือเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกๆ ฝ่ายตกตะลึง คาดไปไม่ถึง การเดินขบวนประท้วงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ทางนายกเทศมนตรีจะประกาศเคอร์ฟิว กองกำลังรักษาดินแดนถูกเรียกตัวเข้ามารับมือ ก็ยังไม่สามารถยับยั้งได้

การประท้วง ทวงถามความเป็นธรรมและความชอบธรรมในการตายของ ฟลอยด์ เกิดขึ้นใน มินนีอาโพลิส แล้วลุกลามออกไปในหลายเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา จากนิวยอร์ก สู่ ลอสแองเจลิส สู่ ฟิลาเดลเฟีย และอีกหลายเมืองทั่วประเทศ

Advertisement

ส่วนใหญ่เป็นการแสดงออกถึงการประท้วงอย่างสันติ ถึงแม้จะตึงเครียด แต่อีกบางส่วนไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ดิเร็ค ชอวิน ถูกไล่ออกจากการเป็นตำรวจ 1 วันหลังเกิดเหตุ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ร่วมอยู่ในปฏิบัติการอีก 3 นาย แต่ไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งถึงวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา

และก่อนหน้านี้ สถานีตำรวจเขต 3 ถูกม็อบบุกเข้าไปยึดครองแล้วจุดไฟเผา ทั้งๆ ที่มีประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 20.00 น.

เปลวไฟสาดแสงสีแดงส้มจับท้องฟ้าเหนือมินนีอาโพลิสอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ครั้งหลังสุดที่ มินนีอาโพลิส ถูกเผา เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 1967 การจลาจล ปล้นสะดม เป็นการประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่องกันถึง 3 วัน 3 คืน

อาคารร้านค้าและธุรกิจหลายสิบหลังบนสองฟากถนน พลีมัท เอฟเวนิว ย่านถนนสายธุรกิจในแถบนอร์ธไซด์ ถิ่นที่อยู่อาศัยของคนผิวดำของมินนีอาโพลิส ถูกเผาผลาญด้วยพระเพลิง

ตนสายปลายเหตุของเรื่องราวแตกต่างกันออกไปหลายเวอร์ชั่น แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ดังกล่าว คือความปวดร้าว ขมขื่น และคับข้องใจ จากการถูกแบ่งแยก กีดกัน เหยียดหยาม ด้วยนโยบายหลากหลายตั้งแต่สำนักงานตำรวจ, นโยบายจัดโซนแบ่งเขตที่อยู่อาศัย และการถูกกีดกันในการสมัครเข้าทำงาน

ความเจ็บปวด ขมขื่น คับข้องทั้งหลายระเบิดออกมาใน 3 วันนั้น

กว่าจะสงบลงได้ก็ต้องเรียกกองกำลังรักษาดินแดน เนชันแนล การ์ด กว่า 600 นายเข้ามารักษาการณ์

54 ปีต่อมา ความตายของจอร์จ ฟลอยด์ จุดระเบิดเวลาเชิงชาติพันธุ์นี้ขึ้นมาอีกครั้ง และดูเหมือนว่า ระดับของความกราดเกรี้ยว การปะทุอารมณ์และระบายความคับข้องใจทั้งหลาย จะสูงขึ้นและขยายตัวมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา

เลค สตรีท ถนนสายที่เป็นใจกลางของการจลาจล ความยาวเพียงแค่ 3 กิโลเมตรเศษ หน้าต่างกระจกโชว์สินค้าสองฟาก ถูกทุบทำลาย แตกกระจาย หรือไม่ก็มีร่องรอยถูกเผา ข้าวของภายในเสียหาย กระจัดกระจายระเกะระกะ

บางแห่งถึงกับลงทุนปิดป้ายไว้หน้าร้าน “ธุรกิจของชนกลุ่มน้อย” ด้วยหวังว่าจะทำให้รอดพ้นจากการปล้นสะดม

เหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ไฟแห่งความเหลื่อมล้ำ แบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติ เพียงถูกระงับให้สร่างซาลงเท่านั้น แต่ไม่เคยมอดดับสนิทจริงๆ

ไฟที่มินนีอาโพลิส ไม่เคยมอดดับ!

มินนีอาโพลิส เติบใหญ่ขยายตัวในรูปแบบเดียวกันกับเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นแบบเดียวกันในแง่ของการแบ่งแยก เหยียดผิว ตั้งแต่ในทางปฏิบัติไปจนถึงระดับนโยบาย

บ้านเรือนใหม่เอี่ยมนับหมื่นนับแสนในมินนีอาโพลิส วางจำหน่ายทั่วไปภายใต้ “ข้อตกลงร่วมทางชาติพันธุ์” ซึ่งส่งผลให้มีเพียงแต่คนขาวเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของได้

ในเวลาเดียวกัน ข้อกำหนด “เรดไลน์” กลายเป็นเครื่องบ่งชี้ สำทับอีกระดับหนึ่งในทางปฏิบัติ ตามนโยบายนี้ มีแต่ย่านที่อยู่อาศัยที่ “มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์น้อยที่สุด” จะได้รับสินเชื่อจากรัฐบาลกลางในระดับที่ต่ำที่สุด

นั่นหมายความว่า ชนกลุ่มน้อยที่ต่างชาติพันธุ์ออกไป นับถือศาสนาแตกต่างออกไป ไม่มีวันที่จะมีที่อยู่อาศัยที่ดีกว่า และได้อยู่อาศัยในย่านที่ดีกว่า คนผิวขาวโดยสิ้นเชิง

คนผิวดำที่เป็นชนกลุ่มน้อย ถูกกวาดไปรวมกันอยู่ในสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในเมือง รวมทั้ง นอร์ธไซด์ และ เนียร์นอร์ธ ซึ่ง พลีมัทเอฟเวนิว ตัดผ่าน

ในปี 1966 พลีมัทเอฟเวนิวถูกเผาเป็นครั้งแรก อาร์ท นัฟทาลิน นายกเทศมนตรีในเวลานั้น ร้องขอให้ชาวผิวดำในมินนีอาโพลิสไปพบตนที่จัตุรัสใกล้เคียง รับฟังอย่างอดทนถึงการเลือกปฏิบัติที่คนเหล่านั้นพานพบตลอดมา ให้สัญญาว่าจะหางานให้

ปี 1967 พลีมัทถูกเผาอีกครั้ง ลุกลามใหญ่โตกว่าเดิม หลังจากที่ความพยายามของนาฟทาลินไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างมากมายนัก

นาฟทาลินเกษียณในปี 1969 นายกเทศมนตรีคนใหม่คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจยศร้อยตำรวจโท ที่ใช้กฎหมายและระเบียบอย่างเข้มงวด ในขณะที่ปฏิเสธแนวคิดที่ว่า ชาติพันธุ์คือที่มาของอาชญากรรม

นั่นทำให้สถานการณ์ในมินนีอาโพลิสคลี่คลายลง สงบอยู่เรื่อยมาภายใต้การบริหารของนายกเทศมนตรีที่มีแนวคิดเสรีนิยมต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษ 1970

แต่ลึกลงไป ความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างคนขาวกับชนกลุ่มน้อย ยังคงทวีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะวัดในแง่ไหน ปัญหาในเชิงโครงสร้างในสังคมที่นั่นจะถูกแก้ไขแบบ “เฉพาะหน้า” ไปเรื่อยๆ โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่หลายอย่างยังคงอยู่ และล้าหลังกว่าอีกหลายพื้นที่มาก

ตัวอย่างเช่น “ความตกลงร่วมทางชาติพันธุ์” นั้น ถูกศาลฎีกาห้ามบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1948 นโยบาย “เรดไลน์” เริ่มหายไปในทศวรรษ 1970

แต่ในมินนีอาโพลิส ยกเลิกนโยบายและแนวปฏิบัติเหล่านี้ไปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมานี่เอง!

ปัญหาเชิงโครงสร้าง ก่อให้เกิดความคุ้นเคยในแนวปฏิบัติ ส่งผลถึงความรู้สึกนึกคิด การตัดสินและมุมมองของผู้คนในสังคม

อคติที่ก่อรูปขึ้นก่อนหน้า ไม่ว่าจะจากฝ่ายไหน อาจเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ “เหมือนที่เคยทำๆ กันมา” จากทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมายหรือคนผิวดำผู้อยู่ใต้การบังคับใช้ดังกล่าว

เช่นเดียวกับที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเจตนา ไม่ไยดีต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ เอาแต่ถวิลหายุคสมัยเมื่อคนเช่นนี้ ผิวสีนี้ ยังถูกอำนาจกดลงให้เป็นเพียงแค่ทาส

ที่ผ่านมาเกิดเหตุเล็กๆ น้อยๆ อยู่บ่อยครั้งที่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้ง ซึมลึก และรุนแรงเช่นนี้ ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2018 ต้นคริสต์มาส ที่ประดับประดาอย่างหรูหน้า สถานีตำรวจเขต 3 เคยถูกลอบเผาทิ้ง เป็นต้น

ข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมจากเหตุทางชาติพันธุ์ ไม่ได้มีการเก็บสถิติเป็นทางการไว้นานนัก อย่างน้อยก็ไม่ได้ย้อนหลังไปในยุค “เผาเมือง” ที่มินนีอาโพลิสแน่นอน

แต่กระนั้น คนดำในย่านนอร์ธไซด์ทุกคนไม่มีใครแปลกใจที่ได้รู้ว่า ในช่วงสองสามปีหลังมานี้นแอฟริกัน-อเมริกัน ตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่อย่างหนักหน่วง

ในระหว่างเดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน ปี 2018 เจ้าหน้าที่ตำรวจมินนีอาโพลิสเรียกรถให้จอดเพื่อแจ้งข้อหาติดตั้งอุปกรณ์ผิดข้อกำหนด อย่างเช่นไฟท้ายแตก ฯลฯ รวม 5,113 คัน

54 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนทั้งหมดนั้น เป็นคนผิวดำ

ในช่วงเวลาเดียวกัน ตำรวจเมืองนี้เรียกรถให้จอดเพื่อตรวจค้น 525 คัน 75 เปอร์เซ็นต์เป็นรถของคนผิวดำ

ที่ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกก็คือ ระหว่างปลายปี 2009 เรื่อยมาจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2019 คนแอฟริกัน-อเมริกัน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนีอาโพลิสยิงใส่มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งหมด

ทั้งๆ ที่ คนผิวดำทั้งเมืองคิดสัดส่วนเป็นเพียงแค่ ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งเมืองเท่านั้น

หลายต่อหลายอย่างสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ความตายของจอร์จ ฟลอยด์ ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ก่อให้เกิดการจลาจลถึงขั้นเผาเมืองกันในมินนีอาโพลิส

แต่สำนักงานตำรวจของเมืองไม่เคยได้รับบทเรียน ไม่เคยถอดบทเรียน ไม่เคยเรียนรู้ใดๆ

สำนักงานตำรวจมินนีอาโพลิสไม่เคยรับนโยบายห้ามใช้การจับกุมโดยการรัดคอจากข้างหลัง ซึ่งสำนักงานตำรวจรัฐบาลกลางเสนอแนะไว้มาปฏิบัติ อย่าว่าแต่จะรับเอาแนวทางปฏิรูปตำรวจมาใช้

เหตุการณ์หลังสุดนี้ เป็นเหตุผลที่ดีชี้ให้เห็นว่า มินนีอาโพลิส จำเป็นต้องเริ่มต้นกระบวนการนี้

ก่อนที่จะเกิดเปลวไฟในมินนีอาโพลิสขึ้นใหม่อีกในครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image