คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘คอนแทกต์ เทรซซิง’ ความจำเป็นในยุคโควิด

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : 'คอนแทกต์ เทรซซิง' ความจำเป็นในยุคโควิด
REUTERS

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : ‘คอนแทกต์ เทรซซิง’ ความจำเป็นในยุคโควิด

ความน่ากลัวของโรคระบาดอย่าง โควิด-19 ลดน้อยถอยลงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแน่ชัดว่าติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ ที่ลดลงไปในหลายประเทศ

เช่นในประเทศไทย เมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศนานติดต่อกันกว่า 10 วัน หลงเหลือแค่ผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และอยู่ในระหว่างการกักกันโรคในศูนย์กักตัวของทางการ ความหวาดกลัวต่อโรคก็หดหายไปจนแทบหมดสิ้น

แต่ในระหว่างที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในเมืองไทยดีขึ้นอย่างชัดเจน สถานการณ์โดยรวมทั่วโลกกลับแตกต่างออกไปในทางตรงกันข้าม

ภาพรวมในระดับโลกจากการรายงานของซีเอ็นเอ็น แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วทั่วโลกในเวลานี้เพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละวันเร็วกว่าครั้งไหนๆ ในช่วงของการระบาดทั้งหมดที่ผ่านมา

Advertisement

ซีเอ็นเอ็นบอกว่า ในช่วงเดือนเมษายน ช่วงเวลาที่การระบาดในเมืองไทยกำลังพีคนั้น ยอดผู้ติดเชื้อได้รับการยืนยันรวมทั่วโลกในแต่ละวันไม่เคยเกิน 100,000 ราย แต่นับตั้งแต่ 21 พฤษภาคมเรื่อยมาจนถึงวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ยอดติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน มีที่ต่ำกว่า 100,000 คน อยู่เพียง 5 วันเท่านั้น

ยอดติดเชื้อเพิ่มต่อวันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 130,400 คน ก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนนี้เอง

เป็นอัตราการเพิ่มที่เร็วกว่าในช่วงไหนๆ ของการแพร่ระบาดใหญ่หนนี้

Advertisement

ความเร็วที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการตรวจหาคนติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นมากกว่า

การตรวจหาผู้ติดเชื้อในประเทศส่วนใหญ่ ยังไม่มากพอที่จะช่วยให้ได้ภาพรวมในการแพร่ระบาดทั้งหมดแต่อย่างใด

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ชะลอช้าลงในหลายประเทศที่เคยเกิดการระบาดอย่างหนัก ทำให้เกิดการเสียชีวิตมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในจีน, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, อิตาลี, สเปน และฝรั่งเศส

แต่ในอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะใน อเมริกาใต้, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา อัตราการติดเชื้อไม่เพียงเพิ่มขึ้นเท่านั้น ยังเพิ่มขึ้นเร็วมากอย่างน่าตกใจ

ในประเทศอย่าง ลิเบีย, อิรัก, ยูกันดา, โมซัมบิก และเฮติ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกๆ 1 สัปดาห์ ส่วนในประเทศอย่าง บราซิล, อินเดีย, ชิลี, โคลอมเบีย และ แอฟริกาใต้ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ 2 สัปดาห์

สถานการณ์เลวร้ายถึงขนาด ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ต้องออกปากอย่างกังวลใจว่า สถานการณ์ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ น่าวิตกเป็นพิเศษ

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในภาคพื้นอเมริกาในช่วงหลายสัปดาห์หลังมานี้ เพิ่มขึ้นในแต่ละวันมากกว่าส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลกรวมกันทั้งหมดด้วยซ้ำไป

ผู้เชี่ยวชาญการแพร่ระบาดอย่าง นายแพทย์ ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพ ขององค์การอนามัยโลก ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่การแพร่ระบาดในหลายประเทศผ่านพ้นจุดพีคไปแล้ว ประเทศในย่านอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น

ผลก็คือสัดส่วนของผู้ติดเชื้อในอเมริกาใต้และแถบแคริบเบียนเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วทั้งโลก เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

ประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดหนักที่สุดในละตินอเมริกาก็คือ บราซิล เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน บราซิลมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันเดียวมากกว่า 30,000 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้วเกือบ 615,000 ราย เสียชีวิตวันเดียวมากถึง 1,473 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตรวมทั้งหมด 34,000 คน

ยอดผู้ติดเชื้อดังกล่าวจะเป็นรองก็แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดจ่อจะถึง 2 ล้านคนอยู่รอมร่อ ในขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นก็ยังอยู่ในระดับ 2 หมื่น-3 หมื่นคน

การแพร่ระบาดที่ยังคงหนักหน่วงในหลายประเทศดังกล่าวนี้ เมื่อรวมกับการเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ ขึ้นมาใหม่ในหลายประเทศที่ผ่านจุดสูงสุดของการระบาดครั้งแรกแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ในเกาหลีใต้, เยอรมนี หรือในจีน ในไม่ช้าไม่นานหลังจากมาตรการล็อกดาวน์ผ่อนคลายลง

กลายเป็นเครื่องเตือนใจทุกคนเป็นอย่างดีว่า โลกยังหนีโควิด-19 ไม่พ้น

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า จนถึงขณะนี้โลกยังไม่มียารักษาโควิด-19 โดยตรง และวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีเมื่อใด มีแล้วจะก่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ทำให้ทางออกของทุกประเทศในยามนี้มีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือ หาหนทางแยกผู้ที่ติดเชื้อออกมาจากสังคมให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด เพื่อนำตัวไปดูแล เยียวยา แยกต่างหาก ป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดแบบคลัสเตอร์ขึ้น

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนั้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เพื่อเตือนภัยล่วงหน้าในทันทีที่เกิดการแพร่ระบาด และช่วยให้ทางการสามารถแกะรอยเพื่อเข้าถึงตัวผู้คนอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อรายนั้นๆ ให้ได้เร็วและมากที่สุด จึงเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมาภายใต้สถานการณ์นี้

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไม “คอนแทกต์ เทรซซิง” ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ

ในอดีตที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการ คอนแทกต์ เทรซซิง ผ่านการสอบถามตัวผู้ติดเชื้อ จำนวนของผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยรายหนึ่งรายใดจะมีมากน้อยแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับความทรงจำมากกว่าอย่างอื่น

การทำคอนแทกต์เทรซซิง ดังกล่าว ไม่เพียงมีข้อจำกัดในแง่ของความทรงจำเท่านั้น ยังเกิดความล่าช้าในการควานหาตัวผู้คนใน “กลุ่มเสี่ยง” ที่จะติดเชื้อในเหตุการณ์หนึ่งๆ ขึ้นอีกด้วย

ในยุคดิจิทัล สมาร์ทโฟน กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การทำ “คอนแทกต์ เทรซซิง” ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้คอนแทกต์ เทรซซิง กลายเป็นเรื่องอัตโนมัติไปได้โดยง่ายดาย

จีน เป็นผู้บุกเบิกดิจิทัล คอนแทกต์ เทรซซิง ด้วยการระดมสมองของบริษัทเทคโนโลยีในท้องถิ่นเข้ามาจัดทำและพัฒนาแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน โดยอาศัยพื้นฐานของ “คิวอาร์ โค้ด” เป็นหลักในการจำแนกตัวคนกลุ่มเสี่ยงออกมาเพื่อกักกันโรค ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด เมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ผลก็คือ แอพพลิเคชั่น เพื่อแกะรอยหาตัวคนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว กลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหึมา มีทุกอย่างตั้งแต่ เพศ อายุ หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน โลเกชั่น มีแม้กระทั่งรายงานทางการแพทย์ซึ่งผู้ใช้รายงานไว้ในแอพพ์โดยสมัครใจ ซึ่งช่วยให้ทางการสามารถระบุสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงและบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ ได้อย่างรวดเร็วและดำเนินมาตรการป้องกันได้อย่างเต็มที่

ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นแต่ละคนจะได้รับผลการประเมินทางสุขภาพ เป็นรหัสสีต่างๆ ตั้งแต่เขียว เรื่อยไปจนถึงแดง

แต่ในประเทศตะวันตก เรื่องไม่ได้ง่ายดายอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

ในแง่ของเทคโนโลยีแล้ว การดำเนินการแบบเดียวกับที่จีนทำ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นแต่อย่างใด

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในโลกตะวันตกบอกว่า ปัญหาอยู่ตรงที่ แทนที่การทำแบบเดียวกันนั้นในประเทศตะวันตกจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนกับในจีน กลับจะก่อให้เกิดผลเสียต่อแผนคอนแทกต์ เทรซซิง แทน

ผลเสียอาจมากมายถึงขนาดทำให้ทั้งโครงการหมดประสิทธิภาพไปโดยสิ้นเชิง

อุปสรรคสำคัญของการทำ คอนแทกต์ เทรซซิง ในโลกตะวันตกก็คือ ความกังวลว่าการดำเนินการนี้จะกลายเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเรื่อยไปจนถึงการทำให้ประชาชนทุกคนตกอยู่ในความควบคุมของรัฐโดยสิ้นเชิง

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีนักวิชาการและนักวิจัยมากกว่า 300 ราย ทำจดหมายเปิดผนึกขึ้น เตือนให้ทุกฝ่ายระมัดระวังในกรณีที่แอพพลิเคชั่น คอนแทกต์ เทรซซิง ที่จะมีขึ้นมีฟีเจอร์เปิดเผยที่อยู่ของตัวบุคคลนั้นๆ อยู่ด้วย

ข้อกังวลหลักของนักวิชาการเหล่านี้ก็คือ จะทำให้ผู้ใช้แอพพ์จำนวนมหาศาล ตกอยู่ในการควบคุม ตรวจสอบ ไม่ว่าจะโดยทางภาครัฐ หรือภาคเอกชน อยู่ตลอดเวลา

ผลจากความกังวลดังกล่าว ทำให้แอพพลิเคชั่น ซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กูเกิล กับ แอปเปิล อิงค์. ที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการในโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนเกือบทั้งโลก ต้องหลีกเลี่ยงไม่เก็บรวบรวมข้อมูล ถิ่นที่อยู่ของผู้ใช้ ไม่รายงานที่อยู่ตัวบุคคลซึ่งต้องอาศัยระบบจีพีเอส แต่หันมาใช้ระบบบลูธูท แทน

เหตุผลที่จำเป็นต้องเลี่ยง ไม่รายงานโลเกชั่นของผู้ใช้นั้น เป็นเพราะไม่ต้องการให้แอพพ์เหล่านี้ถูกปฏิเสธโดยผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ ที่ไม่ต้องการให้ความเป็นส่วนตัวถูกละเมิด ซึ่งหากมีจำนวนมากเหมือนอย่างในสหรัฐอเมริกา ก็จะทำให้โครงการตรวจสอบหาตัวคนกลุ่มเสี่ยงไร้ผลโดยสิ้นเชิง

เพราะมีคนใช้แอพพลิเคชั่นน้อยมากนั่นเอง

ในสหรัฐอเมริกา มีคนมากถึงเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่ยืนยันว่าไม่สามารถใช้หรือไม่ยอมใช้แอพพลิเคชั่นที่รายงานตำแหน่งที่อยู่ของตนแน่นอนตามผลการสำรวจของวอชิงตัน โพสต์และมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์

แต่ในเวลาเดียวกัน การเลี่ยงไม่รายงานตำแหน่งที่อยู่ ก็ส่งผลให้แอพพลิเคชั่นของกูเกิลและแอปเปิล ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ลดประสิทธิภาพลงอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างเช่น หากเกิดผู้ป่วยโควิด-19 รายหนึ่ง เคยเดินทางไปยังภัตตาคารแห่งหนึ่ง แทนที่แอพพ์จะสามารถบ่งชี้ตัวบุคคลทั้งหมดที่อยู่ภายในรัศมีที่จะได้รับเชื้อในภัตตาคารนั้น ณ เวลาเกิดเหตุได้ทั้งหมด ถ้าหากใช้ระบบจีพีเอส

ก็จะบ่งชี้ได้เพียงแค่คน ซึ่งบังเอิญอยู่ใกล้กันมากพอสำหรับการเชื่อมต่อบลูธูทอยู่ในเวลานั้นเท่านั้นเอง

แอพพลิเคชั่นที่ไม่มีรายงานรายละเอียดได้มากพอ ยังไม่สามารถอำนวยให้เกิดข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณภาพมากพอต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายได้ ว่ากิจกรรมธุรกิจแบบไหนสามารถเปิดให้บริการได้ แบบไหนยังไม่ควรให้เปิดบริการ

จะทำได้ก็เพียงแค่เสนอแนะให้คนส่วนหนึ่งกักตัวเองเพื่อดูอาการในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในโลกตะวันตก คอนแทกต์ เทรซซิง กลายเป็นปัญหาเพราะเกิดการเหลื่อมซ้อนกันระหว่างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล, ปัญหาเชิงสาธารณสุข และปัญหาทางการเมืองการปกครอง

จนอาจกลายเป็นจุดที่ต้องตัดสินใจสำหรับผู้นำของทุกประเทศว่า จะลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาเหล่านี้อย่างไร เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image