คอลัมน์ People In Focus: พอล รูเซซาบากินา ฮีโร่ ‘โฮเทลรวันดา’ สู่ข้อหาผู้ก่อการร้าย

คอลัมน์ People In Focus: พอล รูเซซาบากินา ฮีโร่ ‘โฮเทลรวันดา’ สู่ข้อหาผู้ก่อการร้าย

พอล รูเซซาบากินา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวรวันดา วัย 66 ปี ผู้ที่มีชื่อเสียงในฐานะฮีโร่ ผู้ช่วยชีวิตชาวรวันดากว่า 1,200 คน ในโรงแรม เรื่องราวที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในชื่อ “โฮเทลรวันดา” ล่าสุดกลับถูกทางการรวันดา จับกุมในข้อหา “ก่อการร้าย”

สำนักข่างสอบสวนกลางรวันดา (อาร์ไอบี) ระบุว่า รูเซซาบากินา จะต้องเผชิญกับข้อหาหนักในจำนวนนั้นรวมถึง “ก่อการร้าย วางเพลิง ลักพาตัว และฆาตกรรม”

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า รูเซซาบากินา ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นผู้นำ สนับสนุนและเป็นสมาชิกกลุ่ม ก่อการร้ายสุดโต่งอย่าง รวันดามูฟเมนต์ฟอร์เดโมเครติกแชนจ์ (เอ็มอาร์ซีดี) โดยปฏิบัติการจากหลายพื้นที่ทั้งในภูมิภาคและในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามลูกชายของ รูเซซาบากินา ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างซีเอ็นเอ็น ยืนยันว่าการจับกุมดังกล่าวมีแรงจูงในทางการเมืองเนื่องจาก รูเซซาบากินา เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรวันดา นำโดย พอล คากาเม ประธานาธิบดีรวันดา มาโดยตลอด

Advertisement

รูเซซาบากินา เป็นที่รู้จักในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อปีค.ศ.1994 โดยภาพยนตร์เรื่อง “โฮเทลรวันดา” ออกฉายในปี 2004 ก่อนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสกาในเวลาต่อมา เล่าเรื่องราวของ รูเซซาบากินา ชาวรวันดาชนเผ่าฮูตู ที่แต่งงานกับภรรยาเชื้อสายชนเผ่าทุซซี ทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรมมิลล์คอลลินส์ ในกรุงคิกาลี ประเทศรวันดา ใช้การเจรจาและความสัมพันธ์ส่วนตัวเจรจาช่วยชีวิตชาวทุซซี กว่า 1,200 คนที่หนีตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกลุ่มติดอาวุธฮูตูหัวรุนแรงเอาไว้ได้

เหตุการร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวมีชาวทุซซี และชาวฮูตูสายกลาง ถูกสังหารไปกว่า 800,000 คน ในโศกนาฏกรรมที่กินเวลา ยาวนานถึง 100 วัน

หลังเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รูเซซาบากินา กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีคากาเม ออกมาใช้ชีวิตในต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 1996 เช่นในเบลเยียม และสหรัฐอเมริกา

Advertisement

รูเซซาบากินา ได้รับรางวับยกย่องวีรกรรมในระดับนานาชาติหลายรางวัลในจำนวนนั้นรวมถึงการได้รับเหรียญอิสรภาพประธานาธิบดีสหรัฐ ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในปี 2005

อย่างไรก็ตามในประเทศรวันดาสถานะของ รูเซซาบากินา นั้นยังคงเป็นที่โต้เถียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังมีคนที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะฮีโร่ในเหตุการณ์เดียวกันอีกหลายคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ รูเซซาบากินา สร้างความตกตะลึงด้วยการออกมาเตือนว่า “จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงประธานาธิบดีคากาเม ที่โจมตี รูเซซาบากินา ว่าพยายามใช้เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนั้นสร้างผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้กับตัวเอง

ในช่วงเวลาที่อาศัยในต่างประเทศ รูเซซาบากินา โจมตีรัฐบาลคากาเม ที่อยู่ในอำนาจนับตั้งแต่ปี 1994 หลังโค่นล้มรัฐบาลที่ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าเป็น รัฐบาลเผด็จการ และเรียกร้องให้ชาติตะวันตกกดดันให้หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชนในรวันดา ข้อกล่าวหาซึ่งรัฐบาลคากาเม ปฏิเสธมาโดยตลอด

ขณะที่คากาเม เอง แม้จะเคยได้รับการยกย่องจากชาติตะวันตกในฐานะนักปฏิรูป แต่ในช่วงหลังก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ และกวาดล้างผู้เห็นต่าง
และนั่นก็คือความซับซ้อนทางการเมืองในรวันดา ที่ทำให้ “วีรบุรุษ” แห่งโฮเทลรวันดา กลายมาเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image