ข่าวเด่นรอบโลกรอบปี 2020

ข่าวเด่นรอบโลกรอบปี 2020

ชัยชนะของ ‘ไบเดน’ บนความปราชัยของ ‘ทรัมป์’

ถือเป็นข่าวใหญ่อีกข่าวในช่วงปลายปี สำหรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ที่ทำเอาหลายคนลุ้นใจหายใจคว่ำว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยที่ 2 หรือไม่ เพราะโดยปกติแล้ว ประธาธิบดีสหรัฐหลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะมีผลงานอย่างไร ก็มักจะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2

ประธานาธิบดีสหรัฐ คนล่าสุด ที่ได้อยู่เพียงสมัยเดียว คือ “จอร์จ บุช” ผู้พ่อ ประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐอเมริกา

Advertisement

และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ที่สุด ก็สรุปได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน พ่ายแพ้ต่อ โจ ไบเดน จากเดโมแครต ไปอย่างราบคาบ ทำให้ตอนนี้ ไบเดนกลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46

ส่วนทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนล่าสุด ที่อยู่ได้แค่สมัยเดียว ก็หลุดออกจากตำแหน่งไปเรียบร้อย

โจ ไบเดน เตรียมเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ในวันที่ 20 มกราคม 2021 กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่อายุมากที่สุดที่รับตำแหน่งด้วยวัย 78 ปี

Advertisement

โควิด พลิกโลก

 NIH/Handout via REUTERS 

ปี 2020 ถือเป็นอีกปีที่จะต้องมีการจดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น จากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำไปสู่วิถีนิวนอร์มอลของชาวโลกอย่างที่ใครไม่คาดคิดมาก่อน

วิกฤตโควิด-19 จริงๆ เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 แต่ตอนนั้นยังไม่ระบาดไปทั่วโลก ยังพบการระบาดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ก่อนที่จะเริ่มลุกลามข้ามปีไปทั่วโลก

หลังการระบาดอย่างหนัก หลายเมืองหลายประเทศทั่วโลก ต้องใช้มาตรการเข้มข้นด้วยการ “ล็อกดาวน์” เมือง ปิดตายไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คน ให้เคลื่อนย้ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส ที่ดูจะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายเหลือเกิน

ด้วยความที่ไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำให้เกิดการล็อกเมือง ลุกลามไปจนถึงการปิดประเทศ ไม่เปิดรับเที่ยวบินจากต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัย กระทบถึงอุตสาหกรรมการบิน

ในขณะที่การล็อกดาวน์ต่างๆ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ต้องหยุดนิ่งเพื่อคุมการระบาด ตามมาด้วยการประท้วงต่างๆ มากมายทั่วโลก

ล่วงจนถึงปลายปี สถานการณ์โควิด-19 ยังคงไม่ได้ดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง หลายเมืองต้องประกาศล็อกดาวน์แล้ว ล็อกดาวน์อีก ระบาดกันเป็นระลอก 2 ระลอก 3 หลายประเทศจากที่ไม่เคยสนับสนุนให้ประชาชนใส่หน้ากาก ก็หันมาใส่หน้ากากกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ท่ามกลางการแพร่ระบาด ก็มีความพยายามในการพัฒนาวัคซีนคู่ขนานกันไป และในปลายปีนี้ ก็ได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนกันแล้วในหลายประเทศ

ระเบิดที่ท่าเรือกรุงเบรุต เลบานอน

REUTERS/Issam Abdallah/File Photo

อีกหนึ่งเหตุการณ์ ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุดแห่งปีนี้ คือเหตุการณ์การระเบิดที่ท่าเรือ ในกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2020 โดยเหตุระเบิดรุนแรง ส่งผลให้เกิดคลื่นกระแทกออกไปเป็นวงกว้าง สร้างแรงสั่นสะเทือนเหมือนกับเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.3 แมกนิจูด ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง กินพื้นที่รัศมีนับสิบกิโลเมตร

สาเหตุที่ทำใหเกิดระเบิดรุนแรงนั้น มาจาก สารแอมโมเนียมไนเตรต ที่ถูกเก็บไว้ในโกดัง ปริมาณมากถึง 2,750 ตัน ซึ่งสารแอมโมเนียมไนเตรตนี้ รัฐบาลเลบานอนยึดเอามาเก็บไว้หลายปีแล้วที่โกดังแห่งนี้ และแม้จะเคยมีความพยายามในการเรียกร้องให้กำจัดสารอันตรายนี้ แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ จนเกิดกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้นมา

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 204 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 7,500 คน และมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก

หลังเกิดระเบิด รัฐบาลเลบานอนได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น ก็เกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นในเลบานอน ผู้ประท้วงบุกอาคารรัฐสภา จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม วันต่อมา คณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายฮัสซัน ดิอับ นายกรัฐมนตรีเลบานอน ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังถูกกดดันอย่างหนัก

ความตกลงการค้าหลัง’เบร็กซิท’

REUTERS/Hannah McKay

อังกฤษกลายเป็นประเทศสมาชิกประเทศแรกที่ถอนตัวออกมาจาก สหภาพยุโรป (อียู) ได้สำเร็จเมื่อ 31 มกราคมปีนี้ 4 ปีหลังการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2016

หลังจากกำหนดเวลาดังกล่าว คือส่วนที่ยากเย็นที่สุดส่วนหนึ่งของกระบวนการเบร็กซิท นั่นคือการเจรจาเพื่อทำความตกลงด้านการค้าและความมั่นคงหลังเบร็กซิท ระหว่างอังกฤษกับอียู เพื่อกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในอนาคตหลังสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ผ่อนผันให้ใช้ข้อกำหนดเดิมอยู่ได้จนถึง 31 ธันวาคมนี้

การเจรจาต่อรอง ไม่เพียงยืดเยื้อ ยังเต็มไปด้วยอารมณ์เผ็ดร้อน วาทะแข็งกร้าวที่ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมลดราวาศอกให้กันและกัน กว่าจะทำความตกลงในรายละเอียดหนากว่า 1,000 หน้าได้ ก็ต้องยืดเยื้อมาจนถึงวันคริสต์มาสอีฟ หลงเหลือเวลาเพียง 5 วันก่อนที่จะเกิดความโกลาหลขึ้นบริเวณพรมแดนของทั้งสองประเทศในกรณีที่เกิดสถานการณ์ “ไร้ความตกลง” หรือ “โนดีล” ขึ้น

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ประกาศชัยชนะ สหภาพยุโรป ประกาศชัยชนะ ในขณะที่ นิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำสกอตแลนด์ ยืนกรานไม่ยอมร่วมขบวน “สหราชอาณาจักร” ต่อไป เตรียมเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกมาอย่างเป็นทางการ

โดยถือว่า อนาคตของสกอตแลนด์คือ “รัฐอิสระ ที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป” เท่านั้น

‘บีแอลเอ็ม’ กับการตายของ ‘จอร์จ ฟลอยด์’

จากเหตุการณ์ที่นายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เสียชีวิตขณะถูกตำรวจเมืองมินนีแอโปลิส จับกุมตัว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม หลังจากถูกตำรวจใช้เข่ากดทับที่บริเวณลำคอ จนเสียชีวิตในที่สุด กลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติที่หยั่งรากฝังลึกในสังคมอเมริกัน ที่มีมายาวนาน

การชุมนุมที่เริ่มขยายตัวกว้างออกไป เกิดเป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “แบล๊กไลฟ์สแมทเทอร์” ทั้งในสหรัฐ และอีกหลายประเทศทั่วโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image