คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เปิดรายงาน”อนามัยโลก” ว่าด้วยต้นตอ”โควิด-19″

(ภาพ-vishu vishuma via Unsplash)

คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เปิดรายงาน”อนามัยโลก” ว่าด้วยต้นตอ”โควิด-19″

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ไวรัสวิทยาและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 17 คน เดินทางไปสมทบกับคณะนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญของจีนอีก 17 คน ใช้เวลา 27 วัน สืบค้นหาต้นตอที่มาของ “ซาร์ส-โควี-2” เชื้อโคโรนาไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรค โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อกว่า 129 ล้านคน และเสียชีวิตไปมากถึง 2.8 ล้านคน
27 วันดังกล่าว ถูกใช้ไปเพื่อตรวจสอบ โรงพยาบาลหลายแห่งในอู่ฮั่น แหล่งระบาดเริ่มแรกในมณฑลหูเป่ย์, ตลาดค้าสัตว์เป็น, ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเชิงพาณิชย์, ห้องปฏิบัติการทดลอง, เดินทางไปพบเพื่อสัมภาษณ์ และ เรียกร้องเอาข้อมูลที่ต้องการจากเจ้าหน้าที่ทางการจีนมาตรวจสอบ
รายงานหนา 124 หน้า ที่เป็นผลสรุปของการสืบเสาะ ค้นหาข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ องค์การอนามัยโลก เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กลับสร้างความผิดหวังให้กับหลายคน ที่คาดหวังอย่างเต็มที่ว่าจะได้คำตอบที่เป็นบทสรุปที่ชัดเจน
รายงานชิ้นนี้ทำให้ต้นตอที่มาของ โควิด-19 ยังคงเป็นปริศนาให้แสวงหาคำตอบกันต่อไป
หลายคน รวมทั้งในบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เอง เชื่อว่า ผลสรุปในรายงานที่จัดทำร่วมกันระหว่างองค์การอนามัยโลกกับทางการจีนครั้งนี้ เป็นความพยายาม “รอมชอม” ทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น
ในขณะผู้ที่คร่ำหวอดกับการศึกษา วิจัย เกี่ยวกับไวรัสจนคุ้นเคย กลับเห็นว่า ข้อสรุปในรายงานชิ้นนี้ “ไม่น่าประหลาดใจ” แต่อย่างใด
แองเจลา ราสมุสเซน นักไวรัสวิทยาจาก ศูนย์เพื่อวิทยาการและความมั่นคงด้านสุขอนามัยโลก ในสังกัด ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ของสหรัฐอเมริกา บอกว่า การสืบค้นหาต้นตอของการแพร่ระบาดทำนองนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถทำได้แล้วเสร็จกระจ่างชัดภายในเดือนเดียว
โดยปกติแล้ว งานทำนองนี้ใช้เวลานานนับปี จึงสามารถให้คำตอบได้กระจ่างชัด
กระนั้นแล้ว ราสมุสเซน บอกว่า ในความเห็นของเธอ การสืบค้นหารากเหง้าของโควิด-19 หนนี้ก็ใช่ว่าจะ “ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” แต่อย่างใด
“โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า เรามีหลักฐานเพียงพอต่อการประเมินว่า ทำไมแหล่งที่มาอย่างหนึ่งถึงได้มีความเป็นไปได้มากกว่าอย่างอื่น”
ในรายงานชิ้นนี้ วางทฤษฎีว่าด้วยต้นตอของโควิด-19 เอาไว้ 4 แนวทาง พร้อมกับประเมินความเป็นไปได้ของทั้ง 4 แนวทางเอาไว้อย่างชัดเจนมากพอที่จะบอกได้ว่า ในความคิดโดยรวมของคณะสืบค้น อะไรคือทฤษฎีที่เป็นไปได้มากที่สุดและน้อยที่สุด
พร้อมเหตุผลประกอบสำหรับไว้ให้วิเคราะห์วิจัยและถกเถียงกันต่อไป

ใน 4 ทฤษฎีที่หยิบยกขึ้นมาประเมินไว้ในรายงานของอนามัยโลกครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งคือ 2 ใน 4 ทฤษฎีบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ “ค้างคาว” เป็นแหล่งที่มาของเชื้อโคโรนาไวรัสมหันตภัยที่ก่อโรคโควิด-19
เหตุผลนั้นเป็นที่ทราบกันดีทั่วไปก่อนหน้านี้แล้วว่า มีงานวิจัยเชิงพันธุกรรมที่ระบุว่า โคโรนาไวรัส ซึ่งพบในค้างคาวในถ้ำที่มณฑลยูนนาน บริเวณพรมแดนด้านใต้ของจีนติดต่อกับเมียนมา มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงอย่างมากกับ “ซาร์ส-โควี-2” คือเหมือนกันถึง 96.2 เปอร์เซ็นต์
ในรายงานยอมรับเอาไว้ด้วยว่า “อาจเป็นไปได้” ที่สัตว์อื่น โดยเฉพาะตัว “มิงค์” และ “แพงโกลิน” จะเป็นแหล่งที่มาของเชื้อก่อโรคโควิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในจีน มีฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์ทั้งสองชนิดอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่เดวิด โรเบิร์ตสัน หัวหน้าภาควิชา พันธุกรรมไวรัสและไบโออินฟอร์เมติคส์ ของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ชี้ว่า ทีมของอนามัยโลกได้สุ่มตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างจากสัตว์หลายชนิดนอกเหนือจากค้างคาวแล้วได้ผลสรุปว่า ค้างคาว เป็นไปได้มากที่สุด
ใน 2 ทฤษฎีที่มีค้างคาวเป็นตัวแพร่เชื้อเริ่มแรกนั้น ทฤษฎีแรกตั้งสมมุติฐานไว้ว่า ค้างคาว แพร่เชื้อนี้มาให้คนโดยตรง แล้วคนที่ติดเชื้อรายดังกล่าวเกิดเดินทางมายัง อู่ฮั่น จุดประกายให้เกิดการ “ระบาดใหญ่” ขึ้นในโลก เรียกว่าทฤษฎี “ไดเรคต์ ทรานสมิสชัน” ระหว่างค้างคาวสู่คน
อนามัยโลกประเมินความเป็นจริงของทฤษฎีนี้ไว้ว่า “อาจเป็นไปได้” ไปจนถึง “เป็นไปได้” (possible to likely)
ปัญหาก็คือ “คน” ที่ติดเชื้อโดยตรงจากค้างคาวนั้น ต้องเป็นคนที่คลุกคลีอยู่กับค้างคาวถ้ำพวกนั้นนานไม่น้อยเป็นประจำ อาทิ นักล่าไวรัส (ซึ่งปกติแล้วจะมีชุดป้องกันเชื้อครบครัน) หรือ พวกเก็บขี้ค้างคาวขาย
คนทั่วไปอื่นๆ ยากมากที่จะติดเชื้อจากค้างคาวโดยตรงได้
ประการถัดมาคือคำถามที่ว่า ทำไมจุดเริ่มต้นการระบาดใหญ่จากคนสู่คนถึงได้เป็นที่ อู่ฮั่น ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำในยูนนานหลายพันไมล์? ทำไมไม่เป็นที่อื่น ที่ใกล้กว่า
ที่สำคัญที่สุดในแง่ของนักไวรัสวิทยาวิวัฒนาการแล้ว วิวัฒนาการจากไวรัสซึ่งมีพันธุกรรม 96.2 เปอร์เซ็นต์มาสู่ไวรัสซึ่งมีพันธุกรรมเหมือนกับ ซาร์ส-โควี-2 แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้นั้น จำเป็นต้องใช้เวลานานหลายสิบปี!
เว้นเสียแต่ว่า ไวรัส 96.2 เปอร์เซ็นต์นั้นจะมี “ทางลัด” ในการวิวัฒนาการ ด้วยการเข้าไปแพร่ระบาดในสัตว์ “ตัวกลาง” อย่างหนึ่งอย่างใดก่อน แล้ววิวัฒนาการให้สามารถแพร่สู่คนได้
นั่นคือแนวทางของทฤษฎีที่ 2 ซึ่งอนามัยโลกประเมินไว้ว่ามีความ “เป็นไปได้ จนถึง เป็นไปได้อย่างยิ่ง” (likely to very likely)

รายงานของอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลมากมายที่สนับสนุนและรองรับทฤษฎีที่ 2 นี้
แดเนียล ลูซีย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาโรคติดเชื้อ ของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ชี้ให้เห็นว่า ความคล้ายคลึงกันมากของโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคระบาด 3 ตัว คือ ก่อโรคซาร์ส ในจีน, ก่อโรคเมอร์ส ในตะวันออกกลาง และ ก่อโรคโควิด-19 หนนี้
ทำให้เชื่อได้ว่า กระบวนการที่มาของไวรัสทั้ง 3 ตัวน่าจะเป็นแบบเดียวกัน นั่นคือ ค้างคาวแพร่เชื้อให้กับสัตว์ที่เป็นตัวกลาง ซึ่งแพร่เชื้อที่ผ่านวิวัฒนาการมาระดับหนึ่งแล้วมาสู่คน
ในกรณีของซาร์ส ตัวชะมดคือสัตว์ตัวกลางดังกล่าว ในกรณีของเมอร์ส คือ อูฐโหนกเดียว ที่เลี้ยงกันมากในตะวันออกกลาง ในกรณีของโควิด-19 เชื่อกันโดยยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็น “มิงค์” หรือไม่ก็ “แพงโกลิน” (ตัวลิ่นหรือนิ่ม) ที่ใกล้ชิดกับคนเป็นประจำ เพราะมีการเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมในจีน รวมทั้งยังมีที่ลักลอบจับจากป่ามาขายอีกด้วย
ในเชิงพันธุกรรม เดวิด โรเบิร์ตสัน เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ “ซาร์ส-โควี-2” ที่ก่อโรคโควิด-19 พบว่า โคโรนาไวรัสตัวนี้มีคุณลักษณะเป็น “ไวรัสทั่วไป” (generalist virus) สูงมาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม มันถึงแพร่ไปสู่สัตว์ได้หลายสปีชีส์มาก ตั้งแต่แพงโกลิน, มิงค์, แมว, สุนัข ฯลฯ
นั่นหมายถึงว่า ไวรัสจากค้างคาว ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากนักในตัวสัตว์สื่อกลาง เพื่อที่จะสามารถติดต่อไปยังคนและก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
แองเจลา ราสมุสเซน บอกว่า น่าเสียดายที่ทีมวิจัยสืบค้นของอนามัยโลกไม่มีเวลามากพอที่จะเก็บตัวอย่างสัตว์ในฟาร์มที่จีนมาวิเคราะห์เพื่อหา “ตัวกลาง” ที่ชัดเจนได้

ทฤษฎีที่ 3 ที่ปรากฏอยู่ในรายงานขององค์การอนามัยโลก คือทฤษฎีที่ว่า เชื้อก่อโรคโควิด-19 อาจติดมากับ “โคลด์เชน” หรือห่วงโซ่การผลิตและกระจายอาหารแช่แข็งและแช่เย็นทั้งหลาย ก่อนที่จะไปเกิด “ระเบิด” เป็นการแพร่ระบาดขึ้นที่ตลาดค้าสัตว์เป็นที่อู่ฮั่น
ทางการจีนชื่นชอบทฤษฎีนี้เป็นพิเศษ เพราะเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า จีนไม่ใช่แหล่งที่มาเริ่มต้นของโรค แต่เป็นประเทศอื่นใดที่ส่งอาหารแช่แข็งแลแช่เย็นไปขายในประเทศจีน
อนามัยโลก ประเมินความเป็นจริงของทฤษฎีนี้ไว้เพียงแค่ “อาจเป็นไปได้” (possible) เท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่ว่า มีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในอาหารแช่แข็ง ทั้งที่บนหีบห่อ หรือ ในตัวอาหารเองหลายครั้งในจีนเมื่อปีที่ผ่านมา ช่วยสนับสนุนแนวทางนี้ แต่ก็เป็นข้อกังขาไปด้วยในตัว
กล่าวคือ ในเมื่อเชื้อสามารถอยู่รอดในอุณหภูมิเย็นจัดได้นานกว่าปกติ และอาหารแช่แข็งมีขายกันทั่วประเทศจีนในหลายเมืองใหญ่ ทำไมถึงเกิดการระบาดขึ้นเฉพาะที่อู่ฮั่น ไม่แพร่ระบาดในที่อื่นๆ ด้วย?
ราสมุสเซน ชี้ว่า นอกจากจะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงกรณีเช่นนี้โดยตรงแล้ว ยังมีหลักฐานชี้ไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือในการระบาดที่ผ่านมา น้อยครั้งมากที่โควิด-19 แพร่ระบาดผ่านพื้นผิว(สู่คน)
ถ้าจะมีการแพร่ระบาดผ่านห่วงโซ่อาหาร ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะเป็นผ่านสัตว์ป่าเป็นๆ ในทฤษฎีที่ 2 นั่นเอง
ทฤษฎีสุดท้ายที่เป็นไปได้น้อยที่สุดตามรายงานของอนามัยโลกก็คือ ทฤษฎีที่ว่า ซาร์ส-โควี-2 คือเชื้อที่ผ่านการปรับแต่งพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการทดลองของจีนแล้วหลุดรอดออกมาสู่สาธารณะด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด โดยอาจติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการ ที่นำมันติดตัวออกมา จนกลายเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ขึ้นมา
ทีมขององค์การอนามัยโลกประเมินความเป็นจริงตามทฤษฎีนี้ไว้ว่า “เป็นไปไม่ได้สูงยิ่ง” (extremely unlikely) โดยชี้ว่า ในอดีตเคยมีเชื้อเล็ดรอดออกจากห้องปฏิบัติการมาก่อนก็จริง แต่เกิดขึ้นได้ยากมาก เหตุผลหลักเหตุผลเดียวที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ คือข้อเท็จจริงที่ว่า ห้องปฏิบัติการของสถาบันไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น เคยจำแนกพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 ก่อนหน้านั้น คือ ไวรัส “โควี อาร์เอทีจี13” ที่มีพันธุกรรมเหมือนซาร์ส-โควี-2 ถึง 96.2 เปอร์เซ็นต์ กับโคโรนาไวรัสที่ใกล้เคียงอีกหลายสายพันธุ์
แต่สิ่งที่ทีมอนามัยโลกค้นพบก็คือ ก่อนหน้าที่จะเริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ห้องแล็บแห่งนี้ไม่เคยมีการทำวิจัยเกี่ยวกับโคโนาไวรัสที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับ ซาร์ส-โควี-2 มากกว่านั้นแต่อย่างใด
ทั้งยังไม่พบประวัติการป่วยที่มีอาการคล้ายกับผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่ห้องปฏิบัติการทดลองแห่งนี้อีกด้วย
ในทัศนะของราสมุสเซน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนกว่าก็คือ ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ใดๆ ทั้งสิ้นว่า ซาร์ส-โควี-2 คือไวรัสที่ผ่านการปรับ ตัดหรือแต่งพันธุกรรม และไม่มีข้อบ่งชี้ด้วยว่า มันคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญอีกด้วย
การเพาะเลี้ยงไวรัสให้มีความร้ายกาจเพียงพอต่อการเกิดการแพร่ระบาดในหมู่ผู้คนจากตัวอย่างที่ได้จากค้างคาวนั้น “ยากอย่างเหลือเชื่อ” เลยทีเดียวในความคิดของราสมุสเซน

Advertisement

ในขณะที่หลายคนผิดหวังกับรายงานขององค์การอนามัยโลกชิ้นนี้ นักวิทยาศาสตร์อย่าง เดวิด โรเบิร์ตสัน และ แองเจลา ราสมุสเซน กลับเชื่อว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการในระยะยาวเท่านั้น
โรเบิร์ตสัน เชื่อว่า ความยากลำบากจากวิกฤตโควิดต่อโลกทั้งโลก ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบหาต้นตอที่เป็นรากเหง้าของโควิด-19 ให้กระจ่างชัดเจนให้ได้
ราสมุสเซน ตั้งข้อสังเกตว่า ในรายงานชิ้นนี้ได้วางแนวทางในการศึกษาวิจัยต่อไปไว้แล้วเช่นกัน นอกเหนือจากการเสนอแนะให้มีการเฝ้าระวัง ทั้งสัตว์ป่าที่จับมาและสัตว์ป่าที่เพาะเลี้ยง เพื่อหาต้นตอของเชื้อหรือตัวกลาง เช่นเดียวกับการเสนอให้เก็บตัวอย่างเชื้อจากค้างคาวมาศึกษาเพิ่มเติม
รายงานนี้ยังเสนอให้ดำเนินการศึกษาเชิงระบาดวิทยาแบบลุ่มลึก กับ เคสการแพร่ระบาดเริ่มแรกทั้งหมดอีกด้วย
“มีทัศนะทั่วไปที่เป็นที่นิยมกันอยู่ว่า เราจำเป็นต้องหาต้นตอที่มาของโรคระบาดครั้งนี้เพื่้อหาคำอธิบายและหาผู้รับผิดชอบเพื่อความยุติธรรม” ที่ก่อให้เกิดการระบาดครั้งนี้ ราสมุสเซนบอก
“แต่เหตุผลที่แท้จริงของการค้นหาที่มาของการแพร่ระบาดในตอนเริ่มแรกนั้น ก็เพราะมันสามารถบอกเราได้ว่า เราควรดำเนินความพยายามอย่างไร ที่ไหน
“เพื่อที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกเท่านั้นเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image