คอลัมน์ People In Focus : คิม อิล ซุง กับชีวประวัติที่สร้างดราม่าในเกาหลีใต้

คอลัมน์ People In Focus : คิม อิล ซุง กับชีวประวัติที่สร้างดราม่าในเกาหลีใต้

ในช่วงที่ผ่านมา ในประเทศเกาหลีใต้เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือด หลังจากหนังสืออัตชีวประวัติ คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ออกวางวางขายในชั้นวางได้ไม่นาน ก่อนที่ผู้จัดพิมพ์จะตัดสินใจเก็บออกจากชั้นวางทั้งหมด

การตัดสินใจยุติการขายหนังสือชีวประวัติอดีตผู้นำเกาหลีเหนือ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างหนัก โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ “กฎหมายความมั่นคง” ปีค.ศ.1948 ห้ามไม่ให้เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้

หนังสือชุดนี้เขียนขึ้นครั้งแรกโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือในปีค.ศ.1992 ถูกแปลไปถึง 20 ภาษา ตีพิมพ์ออกขายอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน โดย คิม ซอง คยุน ชาวเกาหลีใต้ผู้จัดพิมพ์ เปิดเผยกับสื่อว่า มีเหตุผลเพื่อ สนับสนุนการปรองดองระหว่างสองเกาหลี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านเกาหลีเหนือ ได้ยื่นฟ้องร้องกับผู้จัดพิมพ์ ในข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคง ซึ่งห้ามไม่ให้เผยแพร่สื่อโฆษณาชวนเชื่อเกาหลีเหนือ และห้ามไม่ให้ชาวเกาหลีใต้ เข้าถึงเนื้อหาในสื่อเกาหลีเหนือ มีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปีเลยทีเดียว

Advertisement

กรณีดังกล่าวฝ่ายที่สนับสนุนการเผยแพร่หนังสือ มองว่า เกาหลีใต้ เวลานี้เป็นประเทศประชาธิปไตย ชาวเกาหลีใต้ได้รับการศึกษาจนมี “วิจารณญาณ” เพียงพอที่จะตัดสินเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวได้ด้วยตนเอง

ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเป็นงานที่ทำในเชิง “นิยาย” มีน้ำหนักและมีความถูกต้องในเชิงประวัติศาสตร์น้อยมาก
อย่างไรก็ตามหนังสือมีคุณค่าในแง่ของการแสดงให้เห็นถึงวิธีการของเกาหลีเหนือในการ ชู คิม อิล ซุง ให้เป็นฮีโร่ ต่อสู้กับชาติอาณานิคมในอดีต เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมกับพฤติกรรมบางอย่างของเกาหลีเหนือในปัจจุบัน

องค์การสหประชาชาติ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ก็เคยวิพากษ์วิจารณ์กม.ดังกล่าวว่า “เป็นปัญหา” ต่อเสรีภาพในการแสดงออกเนื่องจากมีคนต้องถูกจำคุกภายใต้กฎหมายดังกล่าวมาแล้วหลายพันคน

Advertisement

ด้านกลุ่ม “กระบวนทัศน์เกาหลีใหม่” ที่เป็นผู้แจ้งความฟ้องรองกรณีดังกล่าวเองก็ระบุว่า สังคมทั่วไปนั้นอ่อนไหวกับการใช้ประโยชน์จากการโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการ และว่า การเผยแพร่หนังสือดังกล่าว “เทียบได้กับการยื่นกระเป๋านิวเคลียร์ให้กับศัตรู”

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า ควรปล่อยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอง และยืนยันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นเนื้อหาเท็จและรุนแรง ก็ต้องได้รับการปกป้องในโลกประชาธิปไตยที่แท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image