โกลบอลโฟกัส : ใครแพ้ใครชนะ เมื่ออัฟกานิสถานล่มสลาย?

ใครแพ้ใครชนะ เมื่ออัฟกานิสถานล่มสลาย?

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งภายในและภายนอกประเทศ จากการตัดสินใจ “ถอนตัวกะทันหัน” ออกจากอัฟกานิสถาน
โศกนาฏกรรมชวนสลดใจถึงขีดสุด ตั้งแต่ ชิ้นส่วนศพในห้องแลนดิงเกียร์ของเครื่องบินลำเลียง, การเดิมพันด้วยชีวิตโดยการเกาะเครื่องบินขณะทะยานขึ้นสู่อากาศ ที่ลงเอยด้วยการเสียชีวิตของ นักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติอัฟกันในวัยเพียง 19, เรื่อยไปจนถึงภาพเด็กๆ ชาวอัฟกัน บางคนยังคงอยู่ในวัยทารก ถูกส่งข้ามกำแพงท่าอากาศยานนานาชาติ ฮามิด คาไซ ปล่อยให้ที่เหลือเป็นไปตามยถากรรม ฯลฯ
ล้วนถูกตำหนิว่า เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ รีบเร่งรวบรัด “โดยไม่จำเป็น” ของสหรัฐอเมริกา
การตัดสินใจที่ถูกมองว่าเป็นการ “ทรยศ” ทั้งต่อคนอเมริกันเองที่พลีชีพที่นั่น และต่อคนอัฟกันทั้งประเทศ
หลังความพ่ายแพ้ที่ “น่าอาย” โจ ไบเดน ออกมาปกป้องว่า การตัดสินใจถอนตัวออกมา เป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” เหตุผลที่ยกมาอ้างก็คือ อเมริกันไม่ควรไปรบ ไปตาย แทนผู้คนที่ไม่มีแม้แต่เจตนารมณ์ที่จะต่อสู้เพื่อตัวเอง
โดยเฉพาะเพื่อ ประดาคนที่มีกุมอำนาจรัฐอยู่ในมือ ที่เอาแต่ฉ้อฉล ตักตวงเพื่อตัวเองในคณะรัฐบาลที่คาบูล
ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของความจริงที่ยากโต้แย้งเช่นกัน
หรืออันที่จริง สหรัฐอเมริกา ไม่ควรเริ่มสงครามหายนะนี้ตั้งแต่แรก
อเมริกันบางคน ถากถางเอาไว้ในโซเชียลมีเดียว่า สหรัฐอเมริกาใช้เวลา 20 ปี เงินอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ กับ ชีวิตทหารอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อ แทนที่ “ทาลิบัน” ด้วย “ทาลิบัน”
ความผิดพลาดใหญ่หลวงของฝ่ายอเมริกัน ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เดือนที่แล้ว หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หากแต่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนโน้น
รายงานของ “คณะตรวจการณ์พิเศษว่าด้วยการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน” ของเพนตากอน เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “ทำไม” และ “อย่างไร” ทุกอย่างที่สหรัฐอเมริกาทำในอัฟกานิสถานถึงผิดพลาด ผิดที่ผิดทางไปทั้งหมด
ผิดตั้งแต่ยุทธศาสตร์ แผนงาน นโยบาย จังหวะเวลา ตลอดไปจนถึง การใช้และการกำกับดูแลงบประมาณ
เป็นอีกครั้งที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของลัทธิ “แทรกแซงด้วยกำลังเพื่อสร้างประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลอเมริกันซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่เวียดนาม เรื่อยมาจนถึง อิรัก และ อัฟกานิสถาน
สหรัฐอเมริกาไม่เคยถอดบทเรียนความล้มเหลวเลยหรือ? เคย แต่เป็นการถอดบทเรียนในเชิงปฏิบัติการ เพื่อการก้าวเข้าไปทำสงครามหนใหม่ ในสมรภูมิใหม่ อีกครั้ง
ไม่เคยเรียนรู้สักทีว่า ควรเลี่ยง “สงคราม” ให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะ “สงครามที่เลือกได้” เช่นนี้
หรือจะเป็นอย่างที่ เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้?
“คุณเชื่่อขนมกินได้เลยว่า อเมริกัน มักทำสิ่งที่ถูกเสมอ เมื่อได้ลองทุกทางที่เหลือหมดแล้ว”
ทุกครั้งเสมอเลยหรือ?

******

ความพ่ายแพ้ของอเมริกันคือชัยชนะของทาลิบัน ใช่หรือไม่? ความเป็นจริงไม่ได้เรียบง่ายเช่นนั้นทุกครั้งไป
ทาลิบัน ชนะศึกในอัฟกานิสถาน แต่ก็ยังเผชิญกับ “สงครามต่อต้านก่อการร้าย” ที่ยังคงอยู่และทวีความหมายมากยิ่งขึ้นในมุมมองของซีกโลกตะวันตก
ท่าทีที่แสดงออกผ่านถ้อยแถลงเบื้องต้นของทาลิบัน สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักในความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในอัฟกานิสถาน
ทาลิบัน ชนะก็จริง แต่ก็ไม่ต้องการถูกโดดเดี่ยวอีกครั้งเหมือนเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
การพยายามแสดงออกถึงการประนีประนอมมากขึ้น ประกาศ “อภัยโทษ” ข้าราชการทุกคน และพยายามเรียกร้องให้ทหารในกองทัพอัฟกันแต่เดิม เข้าร่วมในกองกำลังของตน การพูดถึงการฟอร์มรัฐบาล “สมานฉันท์” เรื่อยไปจนถึงการอนุญาตให้เด็กหญิงได้ร่ำเรียนหนังสือในโรงเรียนต่อไปและให้ผู้หญิงยังคงทำงานได้ ตราบเท่าที่ยังปกปิดใบหน้า
เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ไม่น้อย
แต่จะเป็นการ “เปลี่ยนใจ” ที่แท้จริง หรือเป็นเพียงแค่การตระหนักเชิง “ยุทธวิธี” เพื่อดิ้นหนีจากการถูกโดดเดี่ยว ยังยากที่จะบอกได้
เพราะจนถึงบัดนี้ ทาลิบัน ก็ยังแสดงออกชัดเจนอย่างยิ่งในแง่ที่ว่า ประชาธิปไตย นั้น ไปด้วยกันไม่ได้กับ “ชาเรีย” (กฎหมายอิสลาม) และขนบของคนอัฟกัน
ปัญหาจะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ หาก ทาลิบัน ไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองให้อยู่ในรูปของ “รัฐบาล” ที่สามารถทำหน้าที่ “รัฐบาล” ที่เหมาะสมได้ แต่หวนกลับไปใช้ “อำนาจปืน” ในการปกครอง พร้อมที่จะล้างแค้นแก้เผ็ดฝ่ายตรงข้ามหลังจากได้อำนาจ
จุดอ่อนที่เคยเป็นของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่สหรัฐหนุนหลัง ก็จะกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลทาลิบันได้เช่นเดียวกัน
อัฟกานิสถาน ยังคงเป็นอัฟกานิสถานที่กว้างใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่ทุรกันดารยากเข้าถึง ยากปกครอง เต็มไปด้วยกองกำลังภายใต้การนำของ “ขุนศึก” ท้องถิ่น ที่ยึดโยงอยู่กับชาติพันธุ์และศาสนา
อัฟกานิสถาน ยังคงเปราะบางต่อการเข้าแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิหร่านที่ถือตนเองว่าเป็นตัวแทนของชีอะห์มุสลิม และปากีสถาน ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงโดยตรงหรือผ่านกลุ่มติดอาวุธ กระทั่งกองกำลังก่อการร้ายทั้งหลาย
เมื่อนั้นวัฏจักรเลือด สงครามและการสู้รบยืดเยื้อและยาวนานก็จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

******

Advertisement

ในบริบทของสถานการณ์ระหว่างประเทศในเวลานี้ แน่นอนว่า พันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ทั้งผิดหวัง ทั้งรู้สึกอึดอัดกระวนกระวาย กับการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้
ไม่มีใครรู้ว่า สัญญาที่ให้ไว้มั่นเหมาะ จะถูกสหรัฐอเมริกา เททิ้งเมื่อใด
เช่นเดียวกับความรู้สึกที่ว่า ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกา ความเห็นของตนโดยเฉพาะจากพันธมิตรในยุโรป ด้อยค่าลงในทันทีที่วอชิงตันตัดสินใจมุ่งหน้าไปทางหนึ่งทางใดโดยเฉพาะ
ประเทศที่ซ่อนรอยยิ้มบนใบหน้าไว้ไม่มิด เห็นทีจะเป็นจีน รัสเซียและปากีสถาน ความผิดพลาดขึ้น การล่มสลายของลัทธิ “บังคับสร้างประชาธิปไตย” ล้วนสอดคล้องกับผลประโยชน์ของคู่แข่งอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น
ความโกลาหลและผลกระทบจากกรณีอัฟกานิสถาน จะส่งผลในทางบวกมากยิ่งขึ้น หากข้อสังเกตที่ว่า ประธานาธิบดีไบเดน เร่งรัดการถอนทหารออกมา เพื่อพุ่งความสนใจไปที่การสกัดอิทธิพลของจีนโดยเฉพาะ นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปิดช่องให้จีนมีโอกาสได้ขยายอิทธิพลเข้าไปในอัฟกานิสถานอย่างเป็นงานเป็นการอีกด้วย
ทาลิบัน ย่อมตระหนักดีไม่น้อยว่าการ “สร้างชาติ” อัฟกานิสถานขึ้นมาใหม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและรับรองจากต่างประเทศ ไม่มากก็น้อย
ปัญหาก็คือ จีนเอง นอกจากจะมีพรมแดนส่วนหนึ่งติดต่อกับอัฟกานิสถานโดยตรงแล้ว ภายในจีนยังมีเงื่อนปมว่าด้วยชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ที่ต่อต้านรัฐบาลในปักกิ่งอยู่ด้วย จีนจึงกังวลไม่น้อยกับความเป็นไปได้ที่ว่า กลุ่มมุสลิมต่อต้านจีนอาจใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่น
รัสเซียเอง แม้จะยินดีกับการที่สหรัฐได้รับ “บทเรียน” ที่ตนเคยได้รับมาแล้วเมื่อทศวรรษ 1980 แต่ก็กังวลกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นมากเช่นเดียวกัน
ถึงขนาดต้องเคลื่อนกำลังรถถังเข้าไปประจำการตามแนวชายแดน ทาจิกิสถาน-อัฟกานิสถาน ที่เป็น “ด่านหน้า” ของกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ซึ่งถือเป็น “ผลประโยชน์หลัก” ของรัสเซียในภูมิภาคนี้
ปัญหาของจีนกับรัสเซียจะยิ่งทวีสูงขึ้น ถ้าหาก ทาลิบัน ตัดสินใจกลับไปเป็น “รัฐนอกคอก” ที่อ้าแขนรับกลุ่ม “ผู้ก่อการร้าย” จากทุกสารทิศอีกครั้ง
เมื่อนั้น อาจไม่เหลือรอยยิ้มสำหรับจีนและรัสเซียอีกต่อไป
ประเทศใดได้หรือเสียประโยชน์จากการล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถานในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด ถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรบ่งบอกได้ชัดเจนนัก
แต่ข้อสรุปที่ยากที่จะหาใครปฏิเสธก็คือ คนอัฟกัน คือฝ่ายที่พ่ายแพ้อย่างชอกช้ำ ยับเยินที่สุดนั่นเอง
//////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image