เชื่อมคนสองรุ่น สร้างความเข้าใจและก้าวไปด้วยกัน

เชื่อมคนสองรุ่น สร้างความเข้าใจและก้าวไปด้วยกัน

หมายเหตุ “มติชน” เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “New Normal: New Coolture – Bridging the Gap” โดยถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมกันระดมความคิดหาทางออกของปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยภายในงานมีวิทยากรด้านการสื่อสารยุคดิจิทัล 4 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุทธิชัย หยุ่น นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ จากเดอะสแตนดาร์ด นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ จากเวิร์กพอยต์ทูเดย์ และมีนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจมาสรุปให้ได้รับทราบกัน

คำถาม : ความรู้สึกและมุมมองต่อการแบ่งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
อ.ธงทอง – การแบ่งรุ่นเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเราต้องปรับตัว
นายนภพัฒน์จักษ์ – มองว่าคนรุ่นใหญ่เรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกปัจจุบัน มีความพร้อมในการปรับตัว แต่ความสามารถในการปรับตัวแต่ละคนไม่เท่ากัน และคิดว่าคนทุกรุ่นต้องมีความเข้าใจกันและจะสามารถอยู่ร่วมกันบนแพลตฟอร์มใหม่ๆได้
นายนครินทร์ – ตอนนี้คนแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันจริง และแตกต่างมากกว่าและลึกกว่าที่คิด ซึ่งเป็นเพราะ 1.โลกทัศน์ต่าง เพราะโตมาในโลกคนละใบ คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกเป็นประชากรโลก สามารถเข้าถึงได้เร็ว และบริบทสังคมในปัจจุบัน เศรษฐกิจโตช้ามาก โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก คนรุ่นใหม่ประสบความลำบากมากขึ้นจากเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและภัยคุกคามใหม่ 2.เทคโนโลยีเปลี่ยน ทำให้คนเปลี่ยน เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันทีและมีแอปใหม่มาเรื่อยๆ 3.วิธีการพูดต่าง คนรุ่นใหม่ใจร้อนและอาจไม่ได้มีหางเสียงหรือพิธีรีตอง และรูปแบบของมารยาทต่างกัน ผู้ใหญ่อาจมองว่าก้าวร้าว ส่วนคนรุ่นใหม่เมื่อฟังคนรุ่นเก่าก็อาจรู้สึกว่าเชย ทำให้มีความไม่เข้าใจกัน 4.อารมณ์ต่างกัน เด็กใจร้อน ต้องเร็ว และมีรูปแบบในการทำงานต่างกัน 5.คุณค่าที่ยึดถือต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น คนรุ่นใหญ่ยึดถือในสิ่งที่มีมายาวนาน ศีลธรรม สถาบันแต่คนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและความหลากหลาย 6.รูปแบบในการทำงานต่าง คนรุ่นใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเนื่องด้วยเทคโนโลยี แต่คนรุ่นใหญ่ต้องการให้มีการเข้ามาพบหน้าในที่ทำงานเหมือนเดิม
นายสุทธิชัย – มีช่องว่างระหว่างทุกรุ่นอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันดูต่างกันมาก เพราะเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งปกติในทุกการปฏิวัติที่นำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงจะเร็วขึ้นและถี่ขึ้น และจะไม่ใช่คำว่าช่องว่างหรือGapแล้วแต่เป็นการรับไม้ต่อก่อนส่งให้คนรุ่นต่อไป
นายนภพัฒน์จักษ์ – คำศัพท์ของคนสองรุ่นต่างมากและเปลี่ยนไวมาก ต่อมาคือชีวิตที่โตมาที่แตกต่างกัน มุมมองทางการเมืองที่ต่างกัน ในอดีตสื่อมีโอกาสกำหนดวาระของข่าวสารได้ แต่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทำให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนมากขึ้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิดขนาดนั้น เพราะคนจะพูดอยู่ในที่ๆของตัวเอง ไทยยังขาดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน นอกจากนี้คนรุ่นใหม่อยู่ในความทุกข์ร้อนความลำบาก ความแตกต่างจึงเป็นเรื่องใหญ่ และทำได้แต่หวังว่าผู้นำสูงอายุจะไม่อยู่ในอำนาจนานนักและควรให้เป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นสะพานที่เข้าใจความต่างเป็นผู้นำ

คำถาม : จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างไร ในสภาพสังคมไทยที่ไม่ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนกัน
อ.ธงทอง – ใช้เทคโนโลยีเป็น1.พื้นที่ในการแสวงหาความรู้ สำหรับเช็กข้อมูลของคนทั้งสองรุ่น และใช้สติเรียนรู้ข้อมูลที่หลากหลาย 2.ใช้พื้นที่โลกออนไลน์หาความคิดเห็นของคนที่หลากหลาย โดยต้องมีความเมตตาและอุเบกขา 3.แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้เห็นด้วยกับทุกคนว่าเรามีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นน้อย และมีกฎหมาย จารีต แนวคิดหลายอย่างที่ปิดกั้นและจำกัดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฉะนั้นเราควรหาเวทีในการเปลี่ยนความคิดเห็น
นายนครินทร์ – คิดเห็นเช่นเดียวกันว่าโลกเปลี่ยนไปเร็วมากในปัจจุบัน และเทคโนโลยีทำให้ได้พูดคุยกับคนมากขึ้น แต่การพูดคุยกันอาจไม่สามารถเอาแต่ความถูกต้องอย่างเดียวได้ต้องมีความถูกใจด้วย โดยลดความถูกต้องลงบ้างเวลาพูดคุยกัน และมีความคิดเห็นว่า 1.ในมุมคนทั่วไปคือควรมี ความฉลาดรู้ระหว่างรุ่น (intergenerational literacy) เราต้องฝึกฝนเรื่องนี้เพื่อเปิดใจรับความเห็นต่างเพื่อเข้าใจความต่าง และต้องฟังมากกว่าพูด ฟังแบบมีความเข้าอกเข้าใจ 2.ต้องมีการพูดคุยมากขึ้น และคิดว่าควรมีคนกลางที่ช่วยให้คนสองรุ่นได้คุยกัน โดยผู้นำต้องสร้างสถานที่ปลอดภัยในการพูดคุยกัน ผู้นำต้องเปิดใจรับและโน้มตัวลงมาฟัง ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองทำให้รุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่แยกจากกันมากขึ้น ส่วนผู้นำต้องเปลี่ยนไปเป็นคนที่เป็นสะพาน เชื่อมให้ทุกคนเข้ามาหากัน ไม่ใช่คนที่เสียงดังที่สุด
อ.ธงทอง – ผู้นำบางคนคุ้นชินกับการให้คนเดินตามหรือจูง แต่ทุกวันนี้ควรเป็นแบบประคองและเดินไปด้วยกัน
นายสุทธิชัย – เราต้องอย่างไรเพื่อเปิดสถานที่ปลอดภัย และจะแยกVoice(เสียง)กับNoise(เสียงรบกวน)ได้อย่างไร ยังคงเป็นคำถาม นอกจากนี้คิดว่าสื่อและสถาบันการศึกษาจะต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ในการจัดเวทีถกเถียงความเห็นต่าง ฟังความคิดกันซึ่งในอดีตสถาบันการศึกษามีบทบาทมีสนามโต้วาที เราควรโฟกัสที่เนื้อหาเป็นหลักและสนับสนุนด้วยเหตุผล เราต้องหาข้อมูลมาถกเถียงกันและวัดกันด้วยข้อมูล
นายนภพัฒน์จักษ์ – เชื่อว่าคนไทยแม้จะต่างกันแต่ก็ยังมีจุดร่วมกัน สังคมไทยไม่ได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นผลของวัฒนธรรม คนตัวเล็กไม่กล้าพูดกับคนระดับสูง อีกอย่างคือกฎหมายทำให้เรื่องบางเรื่องไม่สามารถพูดได้ เรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่มีความอ่อนไหวมากขึ้นและเป็นสิ่งที่ในอดีตไม่ได้พูดถึงกัน ฉะนั้นจึงคิดว่า ควรรีบสร้างพื้นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ออกนอกประเทศ เพราะยังต้องการคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆทำงานในองค์กร และเราต้องพัฒนาให้สังคมมีการคุยกันมากขึ้นจึงจะสามารถอยู่ด้วยกันได้แม้จะคิดเห็นต่างกันก็ตาม

คำถาม : การรับมือความแตกต่างทางความคิดของคนต่างวัย
อ.ธงทอง – ฝากถึงรุ่นใหญ่ว่าไม่มีอะไรหยุดนิ่งอยู่กับที่ และสิ่งที่จะอยู่รอดไปได้คือต้องปรับเปลี่ยน และฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ความเป็นมาและเราไม่สามารถถอนรากถอนโคนทุกเรื่องได้ในวันนี้วันพรุ่งได้ และอยากให้ฟังผู้ใหญ่บ้าง นายสุทธิชัยจึงถามว่าผู้ใหญ่จะพูดอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่ฟังบ้าง อ.ธงทองกล่าวว่า บอกให้คนรุ่นใหม่ฟังแต่ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แล้วในอนาคตจะนำประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่เล่าไปใช้อย่างไรก็แล้วแต่ อยากให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจมากขึ้นว่าทุกอย่างมีที่มา
นายสุทธิชัย – คิดเห็นว่า เราอาจขาดละครหรือสารคดีที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยหรือเรื่องประวัติศาสตร์ถูกสอนอยู่ในหนังสือที่น่าเบื่อ หรือเด็กที่ไม่ได้เรียนสายประวัติศาสตร์ก็ไม่รู้ประวัติศาสตร์ จึงขาดความรู้สึกในความภูมิใจเป็นชาติ ซึ่งต่างกับจีน
นายนครินทร์ – เห็นด้วยว่าคนรุ่นใหม่ต้องมีความเข้าใจที่มา นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังสนใจประวัติศาสตร์และการเมืองมากขึ้นมาก หนังสือแนวประวัติศาสตร์ขายดีมาก แต่จะเป็นประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่สนใจ ปัจจุบันหนังสือประวัติศาสตร์ของไทยมีเยอะมาก แต่เป็นหนังสือที่เอาไทยเป็นศูนย์กลางของเรื่องและไทยดีไปหมด ทุกอย่าง เรายังขาดหนังสือประวัติศาสตร์ที่ไม่เอาไทยเป็นศูนย์กลางและขาดหนังสือที่คนรุ่นใหม่ตีความ และเสนอว่าต้องมี peace process โดยเริ่มจากหาจุดที่เห็นตรงกัน และดึงคนสองรุ่นมาคุยกัน
นายนภพัฒน์จักษ์ – ฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ต้องเข้าใจคนรุ่นเก่าว่า เขาอาจพยายามที่สุดแล้วในช่วงเวลานั้นและวันหนึ่งคนรุ่นใหม่ก็จะกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจและวันนั้นเราก็แก้อะไรที่อยากแก้ และฝากถึงผู้ใหญ่ว่า คนรุ่นใหม่เจอและเผชิญอะไรมาไม่เหมือนกัน
นายสุทธิชัย – เห็นด้วยกับทุกคนว่าต้องแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง และควรใช้การวางแผนหาทิศทางของชาติว่าในอีก 5 ปี 10 ปี ไทยอยู่ตรงไหน เพื่อให้คนทุกรุ่นช่วยกันคิดหาทางออก และคิดว่าสังคมต้องมีสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานรัฐบาลเป็นคนขับเคลื่อนเรื่องนี้และเพื่อเชื่อมคนทุกรุ่นและสร้างอนาคตด้วยกันต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image