โกลบอลโฟกัส : จับตาประเด็นร้อนบนเวที”ค็อป26″

A man walks past a advertising in relation with the UN Climate Change Conference (COP 26) where world leaders discuss how to tackle climate change on a global scale, near the conference area in Glasgow Scotland, Britain October 30, 2021. REUTERS/Yves Herman

จับตาประเด็นร้อนบนเวที”ค็อป26″

ในทัศนะของนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การประชุมประจำปีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ค็อป26 ที่ กลาสโกว ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน ถือว่าเป็นการประชุมที่สำคัญที่สุด นับตั้งแต่การประชุม ค็อป21 เมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีสซึ่งทำให้โลกมี “ความตกลงปารีส” เป็นต้นมา
เหตุผลเป็นเพราะการประชุมครั้งนี้ กำหนดจะพิจารณาและทำความตกลงกันในประเด็นสำคัญๆ ทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นเครื่องชี้ขาดว่า ในที่สุดแล้วมนุษยชาติจะสามารถรวมพลังกันป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก สูงขึ้นจนเกินพิกัดและเป็นอันตรายต่อตัวเองในที่สุดได้หรือไม่
สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เริ่มต้นปูพื้นฐานการเจรจาทำความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี 1992
ในปีนั้น 120 ชาติสมาชิกยูเอ็นร่วมกันลงนามใน “กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ขึ้นมา และ มีการประชุมสำคัญ ที่เรียกว่า การประชุมภาคี หรือ ค็อป แบบเดียวกันนี้มาแล้ว 25 ครั้ง
กระนั้น โลกก็ยังดุ่มเดินไปบนเส้นทางสู่ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนหน้าการปฏิรูปอุตสาหกรรม
ความตกลงในประเด็นต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านั้น ยังคงถูกผลัก เลื่อน ชะลอ หรือไม่สามารถทำความตกลงกันได้เรื่อยมา
ประเด็นเหล่านั้นถูกนำมากองรวมกันไว้บนโต๊ะเจรจาที่ ค็อป26 ครั้งนี้ ให้ทุกฝ่ายหาทางทำความตกลงกัน ก่อนที่จะสายเกินไป
ต่อไปนี้คือประเด็นร้อนทั้งหลายที่ต้องจับตามองว่าจะมีการทำความตกลงกันในค็อป26 นี้หรือไม่และตกลงเรื่องชะตากรรมของทั้งโลกกันอย่างไร

คำสัญญาของนานาประเทศ

ประเด็นแรกที่ต้องจับตามองกันก็คือ ในการประชุมครั้งนี้ ชาติสมาชิกทั้งหลายจำเป็นต้องส่ง “คำสัญญา” ว่าจะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเท่าใด ณ เวลาใด ที่เป็นฉบับปรับปรุงใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ต่อ ยูเอ็นเอฟซีซีซี
“รายงานเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายประเทศ” (nationally determined contributions หรือ NDCs) เริ่มต้นกำหนดกันเป็นครั้งแรกในปี 2015 ตามความตกลงปารีส
ถือเป็นการกำหนดเป้ากันแบบ “ยืดหยุ่น” โดยที่กำหนดให้มีการทำ “ฉบับปรับปรุง” ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นำเสนอในทุกๆ ระยะ 5 ปี
ค็อป26 ซึ่งเดิมกำหนดจะมีการประชุมขึ้นในปี 2020 คือวาระครบรอบ 5 ปีแรก และต้องเลื่อนมาประชุมในปีนี้เพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“เส้นตาย” ของการนำเสนอรายงานกำหนดเป้าหมาย หรือ เอ็นดีซี ดังกล่าวก็ขยายจากสิ้นปี 2020 ออกมาเป็นเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา
สัญญาณอันตรายก็คือ แม้จะมีการขยายเวลา แต่มีชาติสมาชิกเพียง 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จัดส่งรายงานเอ็นดีซีดังกล่าว ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเท่านั้น
จีน ชาติที่ได้ชื่อว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ไม่สามารถจัดส่งรายงานทันตามเส้นตายได้ อินเดีย ชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ยังไม่จัดส่งรายงาน เช่นเดียวกับประเทศอย่าง ออสเตรเลีย และ ซาอุดีอาระเบีย
แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการยูเอ็นเอฟซีซีซี พยายามกระตุ้นเตือนจนนาทีสุดท้ายด้วยความหวังว่าจะมีรายงานจัดส่งมาเพิ่มเติม เช่นเดียวกับ อาลก ชาร์มา ประธานค็อป26 ที่เรียกร้องให้ กลุ่มประเทศจี20 เร่งรัดการจัดส่งรายงานเอ็นดีซี
เพราะถือเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการยับยั้งไม่ให้อุณภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศา หรือถ้าเกินก็ต้องไม่ทะลุ 2 องศาเซลเซียส
และเป็นปัจจัยสำคัญมากพอที่จะบ่งชี้ว่าค็อป26 หนนี้ สำเร็จหรือล้มเหลว

เงินกับความเป็นธรรม

Advertisement

โทนี ลาวีนญา อดีตหัวหน้าคณะเจรจาว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของฟิลิปปินส์ ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในค็อป26 ก็คือ ประเด็นว่าด้วย “ไคลเมท ไฟแนนซ์”
นี่เป็นประเด็นเรียกร้องสำคัญของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนทั้งหลาย ที่ชี้ให้เห็นว่า ชาติกำลังพัฒนาและชาติยากจน มีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น น้อยที่สุด แต่เป็นบรรดาประเทศที่ต้องแบกรับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนหนักหนาสาหัสที่สุด อย่างไม่เป็นธรรม
เมื่อปี 2009 ชาติพัฒนาแล้วที่รวมกันแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 3ใน4 รับปากว่า ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป จะจัดสรรเงินทุนให้กับชาติกำลังพัฒนา 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนเหล่านี้มีหนทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองลงได้ และ ช่วยบรรเทาผลกระทบกับช่วยให้ชาติเหล่านี้สามารถปรับตัวให้อยู่กับภาวะที่โลกร้อนขึ้นได้
คำสัญญาที่ไม่เป็นเป็นไปตามสัญญา เพราะถึงปี 2019 เงินกองทุนดังกล่าวยังไม่ถึงเป้าหมายอยู่มากถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ และหลายฝ่ายไม่ได้คาดหวังมากมายว่าจะเป็นไปตามเป้าได้ในปีนี้
แต่ ลาวีนญา ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรื่องนี้ชาติพัฒนาแล้วไม่สามารถทำตามสัญญาได้ การเจรจาเรื่องอื่นๆ ก็แทบไม่มีความหมาย เพราะ “ความไว้วางใจ” ของชาติกำลังพัฒนาจะหมดไปในทันที
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นว่าด้วยการชดเชย “ความเสียหายและการสูญเสีย” ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ โซนัม พี. วังดิ หัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เรียกร้องให้มีการพิจารณาทำความตกลงกันโดยเร็ว เพราะ
“คนของเรากำลังทุกข์ทรมานในหลายๆ ด้านอันเป็นผลมาจากวิกฤตที่พวกเขามีส่วนก่อขึ้นน้อยมาก”

กฏข้อบังคับปารีส

ความตกลงปารีส 2015 หนาเพียง 25 หน้ากระดาษ ไม่สามารถบรรจุทั้งหมดลงไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติ และการควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความตกลง
ที่ประชุมค็อป21 อาจสามารถทำให้หนาขึ้นได้ แต่เสี่ยงสูงอย่างยิ่งที่จะทำให้การเจรจาไม่ประสบผล และ ไม่สามารถมีความตกลงปารีสขึ้นได้ในที่สุด
รายละเอียดส่วนที่เหลือ จึงถูกปล่อยทิ้งไว้ในเจรจาต่อรองกันในภายหลัง
คนในแวดวงมักเรียกขานส่วนที่เหลือนี้ว่า “ปารีส รูลบุ๊ก” หรือ “หนังสือกฏข้อบังคับปารีส” กำหนดกันไว้แต่เดิมว่าจะแล้วเสร็จในปี 2018
แต่จนถึงบัดนี้ยังมีบางประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ อาทิ กฏเกณฑ์ว่าด้วยการนำเสนอรายงานผลความคืบหน้ารายประเทศของการดำเนินการตามรายงานเป้าหมายหรือ เอ็นดีซี, การกำหนดเส้นตายของการนำเสนอรายงานเอ็นดีซี และ ที่สำคัญก็คือ กลไกและกฏเกณฑ์ว่าด้วย “ตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ”
ประเด็นหลังสุดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถึงขนาดสามารถทำให้ ความตกลงปารีส ทั้งฉบับกลายเป็นเพียงเศษกระดาษไปได้ง่ายๆ หากกลไกและการควบคุมไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

Advertisement

การเลิกใช้ถ่านหินและอื่นๆ

ประธานค็อป26 อย่างชาร์มา ต้องการให้การประชุมหนนี้เป็น วาระที่โลกทำให้ ถ่านหิน กลายเป็น “ประวัติศาสตร์” ไป ด้วยการผลักดันอย่างมุ่งมั่้นให้นานาประเทศให้สัญญาที่จะยกเลิก “ยุคถ่านหิน” ของตนเอง แม้จะไม่มีวาระเรื่องการเลิกใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ก็ตามที
ประเทศเจ้าภาพยังพยายามผลักดันให้ทุกประเทศมีกำหนดการยกเลิก “การใช้รถพลังงานน้ำมัน” ภายในปี 2040 โดยพยายามจะให้ปีนั้นเป็นปีของการขาย “รถใช้น้ำมัน” เป็นคันสุดท้าย
นอกจากนั้นยังมี การเจรจาเพื่อทำความตกลงว่าด้วยการให้ความคุ้มครองป่าไม้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การประชุม ค็อป หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันอย่างจริงจัง
สุดท้าย ที่ประชุมค็อป26 จะตัดสินใจกันว่า “การประเมินสถานการณ์การดำเนินงานระดับโลก” หรือ “โกลบอล สต็อกเทค” ที่จะมีขึ้นทุกๆ 5 ปี จะดำเนินการกันอย่างไร
โกลบอล สต็อกเทค เดิมกำหนดไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2023 เพื่อเป็นการทบทวนความคืบหน้าของสิ่งที่แต่ละประเทศดำเนินการมาว่า ทำให้โลกเข้าใกล้เป้าหมายที่กำหนดไว้ใน ความตกลงปารีส มากน้อยแค่ไหน
เอดดี เปเรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ จาก ไคลเมท แอคชัน เน็ตเวิร์ก แคนาดา บอกว่า ถึงที่สุดแล้ว เดิมพันของ ค็อป26 ก็ไม่ต่างอะไรจากค็อปครั้งอื่นๆ นั่นคือ จำกัดลงมาอยู่ที่ว่า การประชุมครั้งนี้สร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ให้เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน
การประชุมเช่นค็อป เหมาะหรือไม่ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการรับมือกับความท้าทายในระดับโลก? ค็อป26 สามารถสร้างสรรค์แนวทางที่จะทำให้เราก้าวเข้าสู่ “ทศวรรษชี้ขาด” ว่าจะควบคุมอุณหภูมิของโลกให้อยู่ในระดับ 1.5 องศาเซลเซียสได้หรือไม่?
หรือจะเป็นที่ประชุมที่ส่งโลกทั้งโลกพร้อมมนุษยชาติเข้าสู่ภูมิอากาศกลียุคในอีกไม่ช้าไม่นานกันแน่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image