โกลบอลโฟกัส : คืบหน้า”ค็อป26″ ครึ่งทางสู่หายนะ!

ภาพ เอพี

คืบหน้า”ค็อป26″ ครึ่งทางสู่หายนะ!

ค็อป 26 ที่กลาสโกว สก็อตแลนด์ ผ่านไปครบสัปดาห์แรกแล้ว ความผิดหวังยังคงสูงกว่าความสมหวัง ปัญหาสำคัญทั้งหลายที่ยังถกกันไม่สะเด็ดน้ำ ยังคงมีมากกว่า ประเด็นที่ตกลงกันได้อยู่มากมายนัก

เท่าที่ตกลงกันได้ก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามความตกลงดังกล่าว เพราะเพียงไม่ช้าไม่นาน ปัญหาในเชิงปฏิบัติก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

รายงานของบีบีซี เวิลด์นิวส์ เมื่อ 5 พฤศจิกายน สรุปเอาไว้ว่า ที่ผ่านมามีความตกลงที่มีนัยสำคัญในการประชุมค็อป26 เพียง 4 ประเด็น

แรกสุดคือการที่ กว่า 100 ประเทศประกาศเจตนารมณ์ร่วมในอันที่จะยุติการทำลายป่าภายในปี 2030 ซึ่งหากทำได้จริงจะมีส่วนช่วยให้ธรรมชาติสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้มากขึ้น

Advertisement

ปัญหาสำคัญคือความเป็นจริงในทางปฏิบัติ เช่นกรณีของอินโดนีเซีย ที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมออกมาแสดงความกังขาในทันทีที่มีรายงานระบุว่า อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในกว่า 100 ชาติว่า ไปประกาศพันธะสัญญาไว้

ทำไม ในเมื่อรู้ดีว่า “ทำไม่ได้” อย่างที่พูด?

ถัดมาเป็นเรื่องของ “มีเทน” ที่กว่า 100 ประเทศเข้าร่วมในโครงการเพื่อปรับลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ภายนปี 2030 แต่แหล่งปล่อยมีเทนสำคัญของโลกอย่าง จีน, อินเดีย และรัสเซีย ไม่ได้รวมอยู่ด้วย

Advertisement

เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่สร้างความผิดหวังให้กับหลายคน รวมทั้งชาติเจ้าภาพอย่างสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่พยายามผลักดันให้การใช้พลังงานถ่านหินเป็นอดีตไปในการประชุมหนนี้ แต่มีเพียงราว 40 ประเทศเท่านั้นที่ตกลงเห็นพ้อง ขณะที่ ชาติสำคัญที่ใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งถือเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย, อินเดีย, จีนและสหรัฐ ก็ไม่ได้เข้าร่วมอีกด้วย

สุดท้าย คือกรณีที่องค์กรธุรกิจการเงินระดับโลกราว 450 องค์กร ที่บริหารจัดการเงินทุนรวมกันราว 130 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 40 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินภาคเอกชนของโลก ประกาศให้การสนับสนุน “เทคโนโลยีสะอาด” เช่นพลังงานทางเลือกเป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้เพียงเท่านี้ ไม่มีทางที่จะทำให้ความคาดหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าเพิ่มสูงขึ้นได้แน่นอน
และไม่น่าแปลกที่บรรดานักเคลื่อนไหวทั่วโลกเป็นเรือนหมื่นพากันชุมนุมเดินขบวนใหญ่เป็นการปิดฉากสัปดาห์แรกของ ค็อป26

เพื่อประกาศให้ได้รับรู้ทั่วกันถึง “ความล้มเหลว” ของผู้นำทางการเมืองของตน!

******

คำถามสำคัญที่หาคำตอบได้ยากเย็นไม่น้อยก็คือ ผลลัพธ์ที่ได้จากค็อป 26 เพียงเท่านี้จะนำไปสู่อะไร?
ประเด็นก็คือ ค็อป 26 ก็เหมือนกับการประชุมทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นว่า โลก ไม่ได้ “ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” เสียทีเดียวนักกับการดำเนินความพยายามเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

แต่ในเวลาเดียวกัน โลก ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพันธะที่ยึดมั่นจริงจังและทั่วถึง ในความพยายามที่จะยับยั้งไม่ให้โลกร้อนขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การประเมินของผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในช่วงก่อนหน้าการประชุมค็อป 26 หลังจากมีการ “อัพเดต” พันธะกรณีที่แต่ละชาติสมาชิกนำเสนอขึ้นมาตามข้อกำหนดใน “ความตกลงปารีส 2015”

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นชี้ว่า “หากทั้ง 192 ประเทศรักษาพันธะสัญญา” ตามที่นำเสนอมาใหม่นี้ได้ครบถ้วน อุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งโลกก็จะยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่สูงขึ้นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนหน้ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 2.7 องศาเซลเซียส

นั่นเป็นระดับที่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ทุกชาติตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศา ถึงเกือบ 2 เท่าตัว

แต่ก็ต่ำกว่าระดับ “แย่ที่สุด” ที่ผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) เคยคาดการณ์เอาไว้ว่า ถ้าหากไม่ทำอะไรกันเลย ซึ่งจะสูงขึ้นไปอยู่ที่ 4.4 องศาเซลเซียส อยู่มากเช่นกัน

นั่นหมายความว่า โลกของเรากำลังดุ่มเดินเข้าสู่สภาวะ “กลางๆ” ที่อยู่ระหว่างการไม่ทำอะไรเลย กับ การทำแต่ไม่จริงจังและทั่วถึงเสียที

ไม่ได้เป็นสีขาวกระจ่าง แล้วก็ไม่ได้เป็นสีดำทมึน แต่เป็นเทาๆ กระดำกระด่าง เท่านั้นเอง

วรสินี ประกาศ หัวหน้ากลุ่ม “ซันไรส์ มูฟเมนท์” กลุ่มรณรงค์ให้ดำเนินการอย่างจริงจังและแข็งกร้าวเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนในสหรัฐอเมริกา บอกว่า ผลที่ได้จนถึงขณะนี้ทำให้เธอรู้สึกไป 2 ทิศ 2 ทางพร้อมๆ กัน
ทางหนึ่งรู้สึกดี และภาคภูมิใจที่สามารถทำให้พรรคเดโมแครตและประธานาธิบดี โจ ไบเดน เป็นกังวลห่วงใยต่อผู้คนในรุ่นต่อๆ ไปขึ้นมา

แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็หงุดหงิดผิดหวังและกราดเกรี้ยวมากพอๆ กัน

ได้แต่ถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “ที่ได้มาคือแค่นี้ละหรือ?”

******

อนาคตที่ร้อนขึ้น 2.7 องศาเซลเซียสจะนำไปสู่อะไร? สภาพแวดล้อมรอบตัวเราจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?

สิ่งนี้จะนำไปสู่ สภาวะวิกฤตชนิดที่สามารถทำให้อารยธรรมล่มสลายหรือไม่? หรือจะเป็นเพียงแค่ สภาวะการณ์น่ากลัวที่เราคุ้นเคยกัน แต่ร้ายแรงมากขึ้น ตั้งแต่อากาศร้อนจัดแบบที่ไม่เคยเจอะเจอกัน ภูมิอากาศวิปริตรุนแรง จนโลกที่เราคุ้นเคยมีความน่าอยู่ น่าใช้ชีวิตอยู่ด้วยน้อยลงกว่าเดิมมาก?

ไบรอัน โอนีล ผู้อำนวยการสถาบัน จอยต์ โกลบอล เชนจ์ รีเสิร์ช พยายามหาคำตอบของคำถามนี้เอาไว้ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาและ คอลเลจ ปาร์ค ของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์
โอนีล เป็นหนึ่งในผู้สถาปนา “5 อนาคตที่แตกต่าง” ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เส้นทางสังคมเศรษฐกิจร่วม” หรือ “เอสเอสพี” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำเสนอไว้ในรายงานล่าสุดของ ไอพีซีซี “5อนาคตที่แตกต่าง” เป็นการคาดการณ์ถึงสภาวะการณ์ในปี 2100 ปีสิ้นสุดของศตวรรษนี้ออกเป็น 5 แนวทาง แต่ละแนวทางขึ้นอยู่กับความคิดและพฤติกรรมของสังคมโลก

ตัวอย่างเช่น “เอสเอสพี 1” คือ สภาวะการณ์ที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่โลกรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยเอาไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้สำเร็จ นำโลกในอนาคตดุ่มเดินไปบนเส้นทางที่ “ยั่งยืน” ได้

ในสภาวะการณ์ดังกล่าว เศรษฐกิจของโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มนุษยชาติ เปลี่ยนทิศทางจากการสั่งสมความมั่งคั่งไปสู่ “ความเป็นอยู่ที่ดี” แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าลงในระยะยาวก็ตามที

ในทางตรงกันข้าม ที่ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุด อย่าง “เอสเอสพี4” ไม่เพียงภูมิอากาศจะพลิกผันไปสู่ความเลวร้ายอย่างยิ่งเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำของมนุษยชาติจะทวีขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีที่เลวร้ายกว่า ก็แค่ “เอสเอสพี5” ซึ่งมนุษยชาตินำพาโลกก้าวเข้าไปหาด้วยพลังของ “ทุนนิยมติดเทอร์โบ”
ที่ได้จากการใช้พลังงานจากซากฟอสซิลแบบต่อเนื่องและไร้ขีดจำกัดนั่นเอง

******

เส้นทางที่โลกเลือกเดินอยู่ในเวลานี้ นำเราเข้าไปใกล้สภาวะที่ ไบรอัน โอนีล เรียกว่า “เอสเอสพี2” มากขึ้นทุกที

นี่คือโลก ซึ่ง “แนวโน้มทาง สังคม, เศรษฐกิจ และ เทคโนโลยี จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากมายนักจากรูปแบบที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์”

มนุษยชาติ ไม่สามารถแสดงพฤติกรรม “วีรบุรุษ” ออกมาแก้ไขแม้ว่า “สถานการณ์จะเรียกร้อง” ก็ตาม
แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ “ย่ำแย่ลงมากมายนัก” จากที่เราเคยเป็น

ภายใต้ เอสเอสพี 2 ความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยเฉลี่ยอาจดีขึ้น, ช่วงชีวิตของมนุษย์ยาวนานขึ้น, อัตราความยากจนและความอดอยากจะลดลง, รายได้โดยเฉลี่ยอาจเพิ่มสูงขึ้น

แต่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำลายชีวิตคนจำนวนหนึ่งไป, คร่าชีวิตผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง และอาจทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติลดน้อยถอยลงมากกว่าที่ควรจะเป็น

ผลกระทบเชิงกายภาพ อย่างเช่น ภาวะแล้งจัด, ความร้อนสุดขีด, ไฟป่า, พายุรุนแรง, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น “อย่างมีนัยสำคัญ” หลายอย่างที่เราเคยมี จะ “ไม่คงอยู่” อีกต่อไป ภายใต้ เอสเอสพี 2
ตัวอย่างเช่น บริเวณอาร์ติคเซอร์เคิล ที่เคยมีแผ่นน้ำแข็งปกคลุมชั่วนาตาปี จะกลายเป็นท้องทะเลที่ปราศจากน้ำแข็งอีกตลอดทั้งปี ที่ทำให้มนุษย์เราต้องแบกรับผลกระทบทางนิเวศที่ตามมาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างเต็มที่

ปัญหาก็คือ ผลกระทบทำนองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับบางคน บางกลุ่ม ที่กลายเป็น “เครื่องบัดพลี” ในพิธี “บูชายัญ” จากสถานการณ์โลกร้อน ซึ่งทุกคนในโลกร่วมมือกันก่อขึ้น

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมนักเคลื่อนไหวเรื่องภูมิอากาศบางคนถึงยืนยันว่า เรื่องโลกร้อน เป็นปัญหาด้าน “ความเป็นธรรม” ควบคู่อยู่ด้วย

เพราะมีไม่น้อยที่ต้องสังเวยด้วยชีวิต ระหว่างเส้นทางก้าวเดินสู่หายนะนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image