โกลบอลโฟกัส : โอไมครอน VS วัคซีน

ภาพ รอยเตอร์

คอลัมน์โกลบอลโฟกัส : โอไมครอน VS วัคซีน

แม้ว่าจะไม่ทันอกทันใจผู้คนทั่วโลกที่กระวนกระวายใจอยู่กับ “โอไมครอน” เชื้อสายกลายพันธุ์ล่าสุดของ “ซาร์ส-โควี-2” เชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 แต่ถึงเวลานี้ นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มล่วงรู้และทำความเข้าใจกับเชื้อร้ายนี้มากขึ้นตามลำดับ

โควนั่นเนื่องเพราะมีข้อมูลจากสภาพความเป็นจริงให้วิเคราะห์ได้มากขึ้น จากการที่โอไมครอน แพร่ออกไปในอย่างน้อย 64 ประเทศทั่วโลก และกำลังระบาดหนักในยุโรป โดยเฉพาะที่ สหราชอาณาจักร (ยูเค) ซึ่งมียอดติดเชื้อรวม 1,265 คน ไล่เรี่ยกับ เดนมาร์ก 1,280 คนแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม

ในเอเชีย พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนมากที่สุดที่เกาหลีใต้ 63 ราย รองลงมาคือออสเตรเลีย 53 ราย ต่อด้วยอินเดีย 32 ราย ในขณะที่สหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 78 ราย

สถานการณ์เหล่านี้น่ากังวล แต่ก็เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ใน ยูเค และในสหรัฐอเมริกา สามารถได้ตรวจสอบวิเคราะห์โอไมครอนจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศตนได้

Advertisement

ตัวอย่างเช่น ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา สามารถวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อโอไมครอน 43 คน พบว่า ส่วนใหญ่ คือ 34 คนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว โดย 14 คนในจำนวนนี้ ได้รับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์) แล้วด้วยซ้ำไป แม้ว่า 5 ใน 14 คนหลังจะติดเชื้อหลังได้รับบูสเตอร์ ไม่ถึง 14 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การกระตุ้นของวัคซีนยังขึ้นไม่เต็มที่ก็ตาม

ซีดีซี บอกว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอน จะแสดงอาการเล็กน้อย อาทิ ไอ, คัดจมูก, อ่อนล้า โดยใน 43 คนที่วิเคราะห์ มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 2 วัน

อาการอื่นๆ ที่พบ แต่ไม่บ่อยนัก มี อาทิ คลื่นเหียนหรืออาเจียน, หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก, ท้องร่วง และไม่รู้รส รู้กลิ่น เป็นต้น

Advertisement

ข้อสรุปที่ต้องใส่ใจจากถ้อยแถลงของซีดีซี ก็คือ วัคซีน (ในสหรัฐอเมริกาใช้วัคซีนอยู่ 3 ตัวคือ ไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน) ป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้น้อยมาก แต่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ซีดีซี ย้ำว่า แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่การที่โอไมครอนระบาดได้เร็วมาก ก็อาจยังผลให้โอไมครอนทำให้ระบบสาธารณสุขล้นมือได้เหมือนกัน

******

ที่สหราชอาณาจักร สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพ (เอชเอสเอ) ใช้นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ติดเชื้อโอไมครอน 581 ราย ได้ข้อสรุป ที่น่าสนใจว่า

ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือ วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค 2 เข็ม มีภูมิคุ้มกันเชื้อโอไมครอนในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับเชื้อเดลต้า

หากนำผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ มาฉีด ไฟเซอร์/ไบออนเทค เป็นเข็มที่ 3 แบบเต็มโดส (ไม่ใช่บูสเตอร์ ที่ใช้เพียงครึ่งโดส) ภูมิคุ้มกันโอไมครอนจะสูงขึ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์

ในกรณีที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคมาแล้ว 2 เข็ม การฉีดเข็ม 3 จะทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเป็น 75 เปอร์เซ็นต์

ภูมิคุ้มกันที่ว่านี้ ป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย ไม่ใช่การป้องกันการติดเชื้อ ข้อมูลสำหรับการเปรียบเทียบก็คือ ในกรณีของเชื้อเดลต้า การที่ฉีดเข็ม 3 วัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อแล้วป่วยได้สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

เอชเอสเอ สรุปว่า ในขณะที่โอไมครอนแพร่ระบาดเร็วกว่าเดลต้า มันยังทำให้ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันลดลง 20-40 เท่า ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดติดเชื้อซ้ำ (reinfection) ได้มากกว่าเดลต้าระหว่าง 3-8 เท่า

และแม้ว่าวัคซีน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีอาการหนัก แต่การปล่อยให้เกิดการติดเชื้อลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องดีแน่นอน

ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า เราจำเป็นต้องมี วัคซีนใหม่ หากต้องการเอาชนะ โอไมครอน!

******

ในขณะที่รอคอยข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยความรุนแรงของ โอไมครอน บริษัทวัคซีนทั้งหลายทั้งปวงก็ เร่งวิเคราะห์ผลกระทบของโอไมครอนต่อวัคซีนของตนเองอยู่อย่างเร่งรีบ

ทุกบริษัท ตั้งแต่ ไฟเซอร์/ไบออนเทค, แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา เรื่อยไปจนกระทั่ง ซิโนแวค และสปุตนิค

วิธีการก็คือ นำเอาตัวอย่างเลือดแต่ละชนิด มาทดลองดูปฏิกิริยาเมื่อให้เชื้อโอไมครอนเข้าไป ตัวอย่างเลือดที่ว่านี้ มีทั้งที่มาจากผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว และผู้ที่ได้รับวัคซีนแต่ละชนิด

ผลการทดลองคาดว่าจะทะยอยกันประกาศออกมาเรื่อยๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดหมายว่า ผลลัพธ์จะแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของแต่ละวัคซีนลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเผชิญกับโอไมครอน

ดังนั้น จะว่าไปแล้ว โอไมครอน ก็ไม่ต่างอะไรจาก “สัญญาณเตือนภัย” ต่อผู้ผลิต ผู้พัฒนาวัคซีนทั้งหมดตอกย้ำให้เห็นว่า การกลายพันธุ์รวดเร็วยิ่ง ของไวรัสโคโรนา สามารถทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงมากมายได้อย่างไร

วัคซีนเกือบทุกตัวที่พัฒนาขึ้นมา มุ่งเป้าไปที่ “โปรตีนหนาม” ที่ปกคลุมผิวนอกของไวรัสอยู่ทั่วไป แต่ โอไมครอน ใช้การกลายพันธุ์เพียงครั้งเดียว เปลี่ยนสภาพโปรตีนหนาม ไปมากกว่า 30 ตำแหน่ง

เรายังไม่รู้ว่า ครั้งหน้าถัดจากโอไมครอน เราจะเผชิญหน้ากับอะไร!

บางทีการพัฒนาวัคซีนใหม่สำหรับเฉพาะ โอไมครอน อาจไม่เพียงพอ หรือไม่ดีพออีกต่อไปแล้ว

ริชาร์ด แฮทเชตต์ ผู้บริหารขององค์กรระหว่างประเทศที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรเพื่อนวัตกรรมสำหรับเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดใหญ่” (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations-CEPI) หรือ “เซปิ” บอกว่า เครื่องมือ “ฉุกเฉิน” ในรูปของวัคซีนที่เราพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ทำงานได้ “น่าทึ่ง” สามารถรับมือแบบ “เอาอยู่” ตั้งแต่เชื้อกลายพันธุ์ดั้งเดิม เรื่อยมาจนกระทั่้งถึง “เดลต้า”

เพิ่งมาเผชิญปัญหากับ โอไมครอน ที่ทำให้ทุกคนต้องฉุกคิดแล้วว่า เราอาจต้องลงทุนและทำงานหนักสำหรับพัฒนาวัคซีน เจเนอเรชันใหม่ ขึ้นมาตั้งแต่ตอนนี้!

******

วัคซีน 2 ประเภท คือ วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (ไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา) และ วัคซีนไวรัลเวคเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) มีแนวโน้มสูงว่าจะไม่สามารถสกัดกั้นไม่ให้ติดเชื้อโอไมครอนได้ เพราะ ทั้ง 3 ตัวพุ่งเป้าไปที่ โปรตีนหนาม โดยเฉพาะ

วัคซีนอีกประเภท คือวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccines) พัฒนาโดย ซิโนแวค ไบโอเทค ของจีน และ ซิโนฟาร์ม บริษัทที่เป็นรัฐวิสหกิจของจีน รวมทั้ง วัลเนวา บริษัทไบโอเทคของฝรั่งเศส ไม่ได้พุ่งเป้าไปเฉพาะที่โปรตีนหนาม เพียงอย่างเดียว แต่ใช้เชื้อ ซาร์ส-โควี-2 ทั้งตัวที่ทำให้หมดฤทธิ์ เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

จึงน่าสนใจมากว่า วัคซีนประเภทนี้จะให้ผลอย่างไรกับโอไมครอน ทุกคนรอดูอย่างจดจ่อ

ปัญหาที่ผ่านมาของวัคซีนเชื้อตาย ก็คือ มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันที่วัคซีนประเภทนี้กระตุ้นให้เกิดขึ้นนั้นลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว

ดร. ลาร์รี คอรีย์ นักไวรัสวิทยาจากศูนย์มะเร็งเฟรด ฮัทชินสัน ให้ความเห็นเอาไว้ตรงไปตรงมาว่า

“สิ่งหนึ่งที่โอไมครอน ทำให้เราเห็นชัดเจนก็คือ ไวรัส(ก่อโรคโควิด-19) นี้จะไม่หายไปไหน” ซึ่งนั่นหมายความว่า

“เราจำเป็นต้องมีวัคซีนที่ดีกว่าที่มีอยู่”

ผู้เชี่ยวชาญมากมายเห็นพ้อง แต่เตือนว่า การพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชันใหม่นี้ อาจต้องใช้เวลาอีกกว่าปี บวกกับเงินทุนที่มหาศาลไม่น้อย

นายแพทย์ แดน บารูช นักวิจัยวัคซีนจากฮาร์วาร์ด เชื่อว่า การพัฒนาวัคซีนที่ให้ครอบคลุมกับซาร์ส-โควี-2 ทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนที่เกิดการกลายพันธุ์ได้น้อย แม้จะกินเวลา เปลืองทรัพยากร แต่ก็ยังคุ้มค่า น่าลองอยู่ดี

มันอาจไม่ทันใช้กับโอไมครอน แต่จะดีอย่างยิ่งหากสามารถใช้ได้กับเชื้อกลายพันธุ์ทุกตัวนับแต่นี้ต่อไป
สตีเฟน โฮก ประธานโมเดอร์นา ยอมรับว่า การวิจัยเพื่อวัคซีนที่พุ่งเป้าไปในหลายๆ ส่วนที่ไม่อ่อนไหวต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัส อาจต้องใช้เวลานาน 6-12 เดือน และต้องใช้การทดลองในคนขนาดใหญ่

โมเดอร์นา กำลังทดลองสูตรวัคซีนหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะรองรับเชื้อกลายพันธุ์ได้ถึง 4 ตัว

เซปิ เอง ลงทุนให้เงินสนับสนุนสำหรับ “เน็กซ์ เจเนอเรชัน วัคซีน” นี้ อยู่กับ 3 บริษัท หนึ่งคือ มิกแวกซ์ คอร์ป. ของอิสราเอล สำหรับพัฒนาวัคซีน “ชนิดกิน”

อีกหนึ่งคือ องค์การว่าด้วยวัคซีนและโรคติดเชื้อ ในสังกัด มหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน ในประเทศแคนาดา

แต่เงินก้อนใหญ่ที่สุดของเซปิ มอบให้กับบริษัท “กริทสโตน ไบโอ” บริษัทอเมริกันที่ต้องการพัฒนา วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ให้ก้าวไปอีกก้าว เป็นวัคซีน เอ็มอาร์เอ็นเอ ที่ “ขยายตัวได้เอง” เพื่อต่อสู้กับสารพัดเชื้อกลายพันธุ์ ที่คืบหน้าไปถึงระดับเตรียมทดลองระยะแรกกันแล้ว

แอนดรูว์ อัลเลน ซีอีโอของกริทสโตน บอกไว้ว่า เราคง “ไร้เดียงสา” กันอยู่ไม่น้อย

ถ้าคิดกันว่า วัคซีนที่เราพัฒนากันอย่างรีบๆ ในช่วงแรกของการระบาด คือไวรัสที่ดีที่สุดแล้ว!
(ภาพ-Reuters)

บลิงเกนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเสริมสัมพันธ์ทางศก.-ความร่วมมือด้านความมั่นคง

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านความมั่นคง ขณะที่สหรัฐอเมริกาเร่งหาแนวร่วมเพื่อต่อต้านจีนในอินโด-แปซิฟิก

นายบลิงเกนซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจในการประชุมจี7 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ จะเดินทางเยือนอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก โดยเขาจะเยือนกรุงจาการ์ต้าในวันที่ 13 ธันวาคม ตามด้วยมาเลเซีย และจะเดินทางมาเยือนไทยในวันที่ 15-16 ธันวาคม

ถือเป็นการเดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นายแดเนียล เจ. คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า บลิงเกนจะเดินตามความตั้งใจของประธานาธิบดีไบเดนที่จะยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติสมาชิกอาเซียนไปสู่ระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พุ่งความสนใจไปที่การเพิ่มพูนความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงในภูมิภาค ท่ามกลางการเผชิญหน้าของการระรานจากจีน และหารือถึงวิสัยทัศน์กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ของประธานาธิบดีไบเดน

ทั้งนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่างสหรัฐและจีน สองชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่รัฐบาลสหรัฐมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญต่อความพยายามที่จะโต้กลับการเพิ่มขึ้นของอำนาจของจีน แต่กลับขาดโครงสร้างในการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการระหว่างกัน นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากความตกลงทางการค้า CPTPP ในปี 2560 ซึ่งยิ่งจำกัดความสามารถในการสร้างอิทธิพลของสหรัฐ แต่กลับทำให้อิทธิพลของจีนเติบโตมากขึ้น
แม้สหรัฐจะยังไม่ได้พูดชัดเจนว่ากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอะไรที่รัฐบาลไบเดนมองไว้ แต่นายคริเทนบริงค์กล่าวว่า จะพุ่งไปที่การอำนายความสะดวกทางการค้า เศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และการวางมาตรฐานด้านแรงงาน

นักวิเคราะห์และนักการทูตกล่าวว่า บลิงเกนน่าจะล่อใจประเทศต่างๆ ด้วยการให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นฐานการผลิตสินค้าของบริษัทสหรัฐที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาห่วงโซ่อุปทานที่ละเอียดอ่อนรวมถึงเรื่องการพัฒนาด้านการเงิน แต่ไม่มีวี่แววว่าจะเต็มใจเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภูมิภาคนี้ต้องการ

ล่าสุดทั่วโลกพบไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนแล้วใน 71 ประเทศ โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นที่ได้รับการยืนยันแล้ว 5,901 คน ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนมากที่สุดคืออังกฤษที่ 1,898 ตามด้วยเดนมาร์ก 1,840 และแอฟริกาใต้ 779 แต่ในแอฟริกาใต้มีจำนวนผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้ออีก 77,844 ซึ่งยังต้องรอการยืนยันผลตรวจอีกครั้ง

เอพีรายงานว่า แพทย์ในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นที่แรกที่พบการแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนเชื่อว่าไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนทำให้เกิดอาการป่วยน้อยกว่าไวรัสโควิดกลายพันธุ์เดลต้า แม้ว่าดูเหมือนมันจะแพร่ระบาดไปได้รวดเร็วมากว่าก็ตาม โดยคนไข้ส่วนใหญ่จะพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านของตนเอง และส่วนใหญ่ก็จะหายดีภายในเวลา 10-14 วันที่ต้องกักตัวเอง ซึ่งคนไข้ที่ว่านั้นยังรวมถึงผู้สูงวัยและผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางและมักจะมีอาการหนักกว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มอื่นๆ ด้วย

ขณะที่ข้อมูลของสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ มีเพียงราว 30% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโควิด-19 ที่มีอาการป่วยหนัก ซึ่งน้อยกว่าที่พบในช่วงสัปดาห์แรกของการแพร่ระบาดในระลอกก่อนหน้านี้ถึงครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็สั้นลงกว่าเดิมเช่นกัน โดยลดเหลือ 2.8 วันจากเดิม 8 วัน นอกจากนี้มีเพียง 3% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้นที่เสียชีวิต เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในการระบาดก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ราว 20%

ด้านรอยเตอร์รายงานว่า นักวิจัยชาวอิสราเอลพบว่าการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไฟเซอร์/ไบออนเทค 3 เข็ม มีประสิทธิภาพเพียงพอใจการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนได้ โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเมื่อ 5-6 เดือนก่อนไม่มีความสามารถในการจัดการกับโอไมครอน แต่ยังสามารถรับมือกับเดลต้าได้ แต่ข่าวดีก็คือผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับที่ไฟเซอร์เคยออกมายืนยันเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันโอไมครอน และยังสอดคล้องกับผลศึกษาจากแอฟริกาใต้ที่ระบุว่า โอไมครอนอาจหลบหลีกการป้องกันในผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทคเพียง 2 โดสได้ แต่การป้องกันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image