เปิดใจนักกฎหมายหญิงไทย “วิลาวรรณ มังคละธนะกุล” สร้างประวัติศาสตร์นั่ง ILC

เปิดใจนักกฎหมายหญิงไทย “วิลาวรรณ มังคละธนะกุล” สร้างประวัติศาสตร์นั่ง ILC

หมายเหตุ “มติชน” – ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้สัมภาษณ์หลังสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะนักกฎหมายหญิงคนแรกของไทยและคนแรกในอาเซียน ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) วาระปี 2566-2570 ว่าหาเสียงอย่างไรจึงได้คะแนนสูงที่สุดในกลุ่มผู้สมัครหญิงด้วยกันคือ 162 เสียงเท่ากับเคนยา และพูดคุยถึงประสบการณ์ในฐานะผู้หญิงที่อยู่ในแวดวงกฎหมาย ทั้งยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ อีกด้วย

ทำไมถึงตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งใน ILC และเริ่มหาเสียงจริงๆ เมื่อใด

ราว 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง ตอนนั้นมีผู้ลงสมัครเพียง 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมี 8 ที่นั่ง ยูเอ็นออกเอกสารว่าเขาสนับสนุนและอยากให้มีผู้สมัครหญิงสำหรับ ILC ในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่มีครอบครัว เราไม่เคยออกไปประจำการในต่างประเทศ ดังนั้นเราจึงมีประสบการณ์แน่น เพราะจะทำกฎหมายต้องเข้าใจเรื่องการนำไปปฏิบัติด้วย การพัฒนากฎหมายของยูเอ็นก็ต้องดูจากการปฏิบัติจริงของแต่ละประเทศ ซึ่งความรู้ที่ดีที่สุดก็ต้องมาจากกรมสนธิสัญญาฯ ทั้งเรื่องในเวทีทวิภาคี พหุภาคี รู้ทิศทางและความเห็นต่างๆ ทั้งหมด เราอยู่ตรงนี้มา 25 ปี มีสิ่งที่เป็นต้นทุนที่จะเอาไปใช้สนับสนุนการทำงานได้มากที่สุด โดยเอาประสบการณ์จริงไปเพิ่มมูลค่าให้กับงานใน ILC แต่ไทยเป็นประเทศกลางๆ ไม่ใช่ประเทศใหญ่ จะให้ปังหรือให้คนเห็น เราก็ต้องก้าวไปมากกว่าคนอื่นๆ 1 ก้าว

สุดท้ายได้รับเลือกด้วยคะแนนสนับสนุนมากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือว่าน่าภูมิใจมาก มีการวางแผนในการหาเสียงอย่างไร

Advertisement

เราวางแผนกันมานานโดยเตรียมการเพื่อตอบโจทย์ของประชาคมโลกปัจจุบันว่าทุกภาคส่วนของยูเอ็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่าโลกของเราต้องแก้ไขปัญหาต่างออกไป นักกฎหมายซึ่งคนเคยคิดว่าอยู่บนหอคอยงาช้างก็ต้องมาทำงานร่วมกัน
ประเด็นที่เรานำเสนอในการทำงานของ ILC อาทิ การปรับปรุงกฎหมายการจัดทำสนธิสัญญาให้ทันสมัยและเข้ากับยุคดิจิทัล หลักกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศในเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียม การพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองประเด็นห่วงกังวลและเร่งด่วนของประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล การรับมือกับวิกฤตโรคระบาดใหญ่ ซึ่งกระทบต่อกฎหมายระหว่างประเทศในหลายด้าน เช่นการค้าระหว่างประเทศจากการห้ามส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์ การเข้าถึงวัคซีนและยารักษา การออกมาตรการห้ามการเดินทางระหว่างประเทศหรือการให้กักตัวต่างๆ ซึ่ง ILC สามารถเข้ามามีส่วนในการสร้างมาตรฐานกฎหมายในส่วนของความร่วมมือระหว่างประเทศและหน้าที่ของรัฐในเรื่องเหล่านี้ เป็นต้น
นอกจากนี้เรายังเอาคนรุ่นใหม่ๆ และไอเดียใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการหาเสียงโดยใช้สื่อออนไลน์และนิวมีเดีย มีทั้งเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ แนะนำตัวและพูดคุยกับผู้แทนรัฐสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ เพราะช่วงที่มีการแพร่ระบาดการเดินทางแบบเจอตัวยังทำไม่ได้ เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีมาทำให้เขาเข้าใจแนวคิดรวมถึงมุมมองของเราได้ก่อน พูดได้ว่าเราหาเสียงแบบไม่หยุดและไม่รอ ทีมงานของเราก็ทำงานกันหนักมาก ทำงานกันทุกวันทุกสัปดาห์ ประวัติของเราก็ส่งไปให้เขาทราบก่อนโดยทำเป็นภาษาทางการของยูเอ็นทั้ง 6 ภาษา อย่างวิดีโอที่ผู้สมัครคนอื่นๆ ใช้แนะนำตัว ของไทยเป็นการส่งสารและพูดคุยกับเขาว่าโลกขณะนี้เป็นอย่างไร ไทยสนใจอยากช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราตัดสินใจมาลงสมัคร และเราจะทำอย่างไร ทั้งยังมีการพูดคุยกับประเทศต่างๆ โดยตรงและติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเรา active แต่ไม่ aggressive ทำให้ได้รับความสนใจและมีการตอบรับที่ดี
ในฐานะที่เป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เราหาเสียงโดยเน้นว่าเราเป็นผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในฐานะนักปฏิบัติ ซึ่งต้องไปสร้างความสมดุลว่าอะไรคือสิ่งที่ใช้ได้จริง เมื่อไปหาเสียงก็ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำให้เราได้รับเลือกก็เพราะเรามีคุณสมบัติตรงและสามารถตอบโจทย์ได้ตรง นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีที่ไทยมีกับประเทศอื่นๆ เพราะประเทศไทยทำอะไรมาเยอะมาก เรามีประวัติศาสตร์ ทุกคนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง รักประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ต่อราชวงศ์ ไปจนถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนต่อประชาชน เขามีความประทับใจและมีความรู้สึกที่ดีกับไทย ซึ่งคนไทยอาจไม่เคยรู้
คะแนนที่ได้แสดงถึงความสำเร็จที่ไม่ใช่แค่ตัวเรา แต่ถือเป็นศักดิ์ศรีของประเทศไทย

เอกสารประกอบคำแนะนำตัว 6 ภาษา

การเป็นผู้หญิงในแวดวงนักกฎหมายมีความยากลำบากมากหรือไม่

นักกฎหมายเป็นอาชีพที่หนัก ไม่ใช่แค่มีความรู้อย่างเดียวแต่ต้องแก้ไขปัญหา ยิ่งนักกฎหมายที่ไม่ใช่อาจารย์แต่เป็นที่ปรึกษาที่มีเรื่องต้องแก้ไข มันทั้งเหนื่อยและหนัก เขาถึงได้เรียกว่าหมอความ เพราะเราทำงานคล้ายหมอ วินิจฉัย หาทางแก้ เป็นอาชีพที่ต้องลงทุนลงแรง ใช้เวลาเยอะ กว่าเราจะแก้แต่ละเรื่องได้มันเหนื่อย ผู้หญิงจึงลำบากเพราะอาจจะเริ่มต้นทำงานพร้อมผู้ชาย แต่พอมีครอบครัว มีลูก เวลามันหายไป ทำให้ผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัวให้ดีก็อาจจะต้องเลือก และอาจจะต้องหยุดงานไป เพราะเป็นวิชาชีพที่เรียกร้องจากเรามาก กว่าจะมาถึงระดับบริหาร ผู้หญิงก็อาจน้อยลง หายไปในระหว่างทาง ยิ่งมาถึงตำแหน่งสำคัญๆ มันก็ยิ่งน้อยตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องทัศนคติ เพราะการเป็นนักกฎหมายต้องไปสู้ความกับคนอื่นๆ เป็นอาชีพที่มีการต่อสู้ ในตัววิชาชีพทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยอยู่กับมันยาวๆ เพราะไม่เหมาะกับผู้หญิง 100% แต่คิดว่าทุกอาชีพต้องมีตัวช่วยและต้องมีการสนับสนุนผู้หญิงให้ถูกเวลา อย่างมีการทำสถานที่ดูแลลูกในเวลาทำงาน ซึ่งจะทำให้เขามีสมาธิมากขึ้น พอลูกโตผู้หญิงก็จะสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้ง และในการทำงานผู้หญิงยังต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าเป็น 2 เท่า
ต้องยอมรับว่าเรื่องเพศเป็นอุปสรรค ในการสมัครชิงตำแหน่ง ILC ครั้งนี้ มีนักกฎหมายหญิงลงสมัครแค่ 8 คน ได้รับเลือกมา 5 คน ถ้าจะให้มีผู้หญิงใน ILC มากขึ้นก็ต้องมีผู้หญิงมาลงสมัครให้มากขึ้น สำหรับประเทศไทยยังให้การสนับสนุนผู้หญิง และเราก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างดี การเสนอชื่อผู้สมัครผู้หญิงของไทยยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่ไทยให้กับการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในเวทีระหว่างประเทศ

Advertisement

ไทยจะได้อะไรจากการมีคนไปนั่งใน ILC

เป็นโอกาสให้นักกฎหมายไทยมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง การพัฒนา และวางหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยให้ความสำคัญ หรือประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้เรายังสามารถนำแนวคิดหรือประสบการณ์ในการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศจากแง่มุมของไทยและของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าไปสะท้อนไว้ในการประมวลและการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ของที่ระลึกซึ่งมีเรื่องเล่ามากมายในการนำเสนอ

รู้จัก ILC
คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) ก่อตั้งโดยสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ตั้งแต่ปี 2490 เป็นการรวมตัวของบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านกฎหมายระหว่างประเทศ (persons of recognized competence in international law) มาสนับสนุนการพัฒนาอย่างก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศ และประมวลกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหลักการและระบบกฎหมายระหว่างประเทศ
ILC ประกอบด้วยสมาชิก 34 คน จากกลุ่ม 5 ภูมิภาค สมาชิก ILC ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนรัฐบาล แต่เป็นการทำหน้าที่ส่วนบุคคลในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ สมาชิกของ ILC จะมีสัดส่วนจากอาจารย์มหาวิทยาลัยกับข้าราชการประจำที่เป็นนักกฎหมายหรือที่ปรึกษากฎหมายในจำนวนที่เท่าๆ กัน เพื่อให้มีมุมมองจากทั้งในแง่วิชาการและในแง่การปฏิบัติ
ที่ผ่านมาไทยเคยมีผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิก ILC สามท่าน คือ ดร. ถนัด คอมันตร์ ระหว่างปี 2500-2502 ดร. สมปอง สุจริตกุล ระหว่างปี 2520-2529 และ ดร. เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี ระหว่างปี 2555-2559
ขณะที่ตลอด 74 ปีของการก่อตั้ง ILC มีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงเพียง 7 คน จากสมาชิกทั้งหมด 229 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 เท่านั้น และในจำนวนนี้มีผู้หญิงจากเอเชียเพียงคนเดียวเมื่อ 13 ปีก่อน สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครสตรีเพียง 8 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 49 คน และได้รับเลือกตั้งเข้ามา 5 คน คือผู้สมัครจากไทย เคนยา นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และตุรกี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image