โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : เรื่องเล่าจากสงครามยูเครน

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : เรื่องเล่าจากสงครามยูเครน

ชุมชนชาวยูเครนในกรุงเทพฯ ได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวที่โรงแรมพูลแมน จี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวยูเครนจากหลายเมืองทั่วประเทศยูเครน ได้ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์ที่พวกเขากำลังประสบอยู่จากการทำสงครามรุกรานของรัสเซีย ในการสนทนาโดยตรงผ่านระบบซูม

นาตาเลีย ยาโคฟเลวา

นาตาเลีย ยาโคฟเลวา อาสาสมัครในเมืองคาร์คีฟ และผู้ก่อตั้งองค์กรการกุศล Kharkiv with you ไลฟ์สดมาจากเมืองคาร์คีฟ ซึ่งเธออาศัยอยู่ เพื่อต้องการให้ผู้คนได้เห็นสถานที่เกิดเหตุจริง โดยเล่าว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทหารรัสเซียพยายามยิงและระเบิดสังหารผู้คนของเราทุกวัน ก่อนที่นาตาเลียจะฉายภาพไปให้ดูความเสียหายของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ถูกยิงถล่ม และโบสถ์ที่ถูกโจมตีบ่อยครั้ง เธอเล่าต่อว่า อาคารเสียหายไปมากมาย พวกรัสเซียนั้นยิงโจมตีทุกอย่าง ได้โปรดช่วยเราจากสงครามที่บ้าคลั่งนี้ ขอให้เมืองสงบสุข ฉันไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะยังมีชีวิตอยู่ไหม ผู้คนที่นี่ตายกันจริงๆ

ขณะที่นาตาเลียอยู่ในที่หลบภัยที่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองคาร์คีฟนัก เธอยังมีอาหารและน้ำในที่หลบภัย ทุกวันดำเนินไปอย่างยากลำบากสำหรับเธอและทุกคน

สิ่งเดียวที่เธอต้องการตอนนี้คือให้สงครามจบและสร้างเมืองที่สวยงามกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะรัสเซียทำลายเมืองที่สงบสุขของเราไป

Advertisement

สำหรับงานอาสาสมัครที่นาตาเลียทำอยู่นั้น คือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้คน อย่างการจัดหาแปรงสีฟัน ยาสีฟัน โดยข้าวของที่เธอนำมาให้ผู้คนนั้น หามาจากร้านทั่วทั้งเมืองที่ยังเปิดอยู่บ้าง

โอเล็กซี วาเชเลฟสกี

โอเล็กซี วาเชเลฟสกี ทหารประจำกองกำลังรักษาดินแดนในกรุงเคียฟ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า เวลา 04.30 น.ของวันที่ 2 ของการรุกรานยูเครน บ้านที่ถัดไปไม่กี่หลังถูกโจมตี เขาต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อพบกับภาพที่น่าสลด ต่อมาในวันที่ 3 โอเล็กซีตัดสินใจไปสมัครทหารของเมืองเพื่อช่วยผู้คน แต่เนื่องจากเขาไม่มีประสบการณ์ด้านการสู้รบ จึงถูกส่งไปเป็นเจ้าหน้าที่ส่งน้ำ อาหาร ยาและเสื้อผ้าให้ผู้คน ในวันที่ 4 เขาอยู่ที่ฐานทัพทหารในเมือง ได้เห็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากเขาไปเพียง 15 เมตร ถูกสไนเปอร์รัสเซียยิงมาจากที่สูง และว่า ขณะนี้อาหารและยายังพอมีอยู่ และพยายามหาซื้อจากร้านต่างๆที่ยังเปิดอยู่ อย่างไรก็ตามหลายพื้นที่ของเคียฟกลายเป็นแนวหน้าของการสู้รบซึ่งไม่ปลอดภัย สิ่งที่ขาดแคลนตอนนี้คืออุปกรณ์ป้องกันอย่างเสื้อเกราะและหมวก ราว 50% ของทหารยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน และบางคนยังไม่มีชุดที่กันหนาวได้เลย

ในช่วง 2-3 วันแรกทุกคนยังตื่นตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเมืองถูกโจมตีในช่วงเช้ามืด และทุกอย่างก็เปลี่ยนไปทันที นอกจากนี้โอเล็กซีเล่าว่า เมื่อ 5 วันก่อนเขาได้ทราบข่าวว่าเพื่อนเสียชีวิตขณะเป็นทหารในแนวหน้าไม่ไกลจากกรุงเคียฟนัก และเพื่อนอีกคนของเขาซึ่งเป็นชาวรัสเซียที่รู้จักสมัยเรียนในสหภาพยุโรปถูกรัฐบาลเรียกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อรบในยูเครน แต่เพื่อนไม่ยอมไป โอเล็กซีหวังว่ารัสเซียจะแพ้สงคราม และยูเครนจะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์

Advertisement
เจเนีย โมอีเซเยฟ

เจเนีย โมอีเซเยฟ อาสาสมัครที่เมืองลวิฟ และผู้อำนวยการองค์กรการกุศลที่ชื่อว่า gofriendssaveUA (เว็บไซต์ gofriends.site) รับผิดชอบในการอพยพประชาชนจากพื้นที่สงครามและช่วยเด็กๆ จากบ้านเด็กกำพร้า ขณะนี้เขาดูแลเด็กพิการและคนชราราว 150 คน ซึ่งอพยพมาจากหลายพื้นที่ทั่วยูเครน เช่น แคว้นโดเนตสค์ และเชอร์นิฮีฟ องค์กรของเขาช่วยเหลือผู้อพยพโดยให้ที่อยู่อาศัย อาหารและการดูแลรักษาพยาบาล

เจเนียบอกว่า ขณะนี้องค์กรของเขาทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาเพื่อช่วยให้คำปรึกษาและเยียวจิตใจของผู้อพยพซึ่งเผชิญกับเรื่องที่เลวร้ายมา ผู้อพยพบางคนร้องไห้ตลอดเวลา เพราะก่อนหน้านี้ต้องอยู่ชั้นใต้ดินเพื่อหลบระเบิดเป็นเวลากว่าสัปดาห์ องค์กรของเขาได้ช่วยผู้อพยพออกจากพื้นที่สงครามและย้ายไปต่างประเทศมากกว่า 2,000 คน และให้ที่พักกับประชาชนที่ต้องการพักก่อนอพยพต่อไปด้วย นายเจเนียได้เล่าเรื่องราวของเด็กกำพร้าพิการที่อพยพจากบ้านเด็กกำพร้าในคาร์คีฟไปยังพื้นที่ตะวันตกของยูเครนว่า เด็กพิการและครู 56 คนอพยพไปอยู่ที่สนามกีฬา ใน 5 วันต่อมา พวกเขาก็ตัดสินใจขึ้นรถไฟหนี ขณะที่กำลังขึ้นรถไฟมีการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่อง พวกเขาต้องโดยสารรถไฟที่มีคนแออัดกว่า 100 คน ระหว่างการเดินทางนี้ครูต้องอุ้มเด็กอยู่ตลอด เนื่องจากเด็กๆไม่สามารถเดินได้ องค์กรของเขาได้ช่วยให้ครูของเด็กๆอพยพไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำใจยากมากเพราะ พวกเขาต้องทิ้งสามีและเด็กไว้ที่นี่ หลังจากนั้นไม่นานองค์กรการกุศลของเยอรมนีได้ส่งรถบัสและรถพยาบาลมาช่วยอพยพเด็กกลุ่มนี้ไปอยู่อยู่ที่เยอรมนี

ส่วนวิธีที่ทำให้เจเนียผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้และสู้ต่อไปได้คือ ความสามัคคีของชาวยูเครน คำขอบคุณจากผู้อพยพที่เขาช่วยเหลือให้เดินทางไปถึงที่ปลอดภัย และการที่เขารู้ว่ายังมีคนต้องการความช่วยเหลืออีกมากก็ทำให้เขามีกำลังใจที่จะช่วยเหลือผู้คนต่อไป

เอลิซาร์ กรานคอฟ

เอลิซาร์ กรานคอฟ แพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองมารีอูปอล ปัจจุบันได้อพยพออกมาอยู่ที่เมืองอื่นแล้ว แต่ขณะที่กำลังพูดคุยอยู่เขายังได้ยินเสียงไซเรนดังมาจากด้านนอกตลอดเวลา รัสเซียสามารถทิ้งระเบิดและทำลายทุกสิ่งได้ แม้กระทั่งโรงพยาบาล เอลิซาร์เล่าย้อนไปสมัยที่อยู่เมืองมารีอูปอลว่า เขาอยู่เมืองนี้มาตั้งแต่ปี 2014 ก่อนหน้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เขาไม่รู้เลยว่าจะมีสงครามเกิดขึ้น รู้แค่ว่ารัสเซียส่งทหารมาล้อม แต่ไม่คิดว่ารัสเซียจะโจมตีเราจริงๆ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เขาก็ได้พบกับคนไข้คนแรกที่บาดเจ็บจากการยิงจรวดของรัสเซีย หลังจากนั้นเขาต้องอยู่โรงพยาบาลนาน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม ในสัปดาห์แรกของสงครามยังมียาพอ และยังสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ แต่หลังจากนั้น รัสเซียได้โจมตีโรงพยาบาลและทำลายห้องผ่าตัด ในช่วงนั้นทั้งเมืองไม่มีน้ำและไฟฟ้าใช้แล้ว และการผ่าตัดก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะต้องใช้เครื่องปั่นไฟแทน ช่วงที่เขาออกจากเมืองมารีอูปอล เขาไม่สามารถช่วยใครได้แล้ว เพราะรัสเซียยึดโรงพยาบาลในวันที่ 12 มีนาคม เขาไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ และช่วงที่รัสเซียยึดโรงพยาบาล ทหารรัสเซียใช้โรงพยาบาลเป็นฐานในการยิงทำลายเมือง เมื่อสถานการณ์การสู้รบรุนแรงมากขึ้น เขาได้ตัดสินใจวิ่งหนีออกจากโรงพยาบาลไปที่บ้านก่อนอพยพไปที่อื่น ระหว่างทางที่วิ่งได้เห็นซากอาคารและผู้คนเสียชีวิตมากมาย

เลสยา ลิซิซา

เลสยา ลิซิซา แพทย์ประจำโรงพยาบาลเด็กในเคียฟ เล่าประสบการณ์ของเธอว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของสงครามเธอ สามีและลูกๆ อาศัยอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากทั้งเธอและสามีเป็นแพทย์ทั้งคู่ ต่อมาเธอตัดสินใจพาลูกไปฝากไว้กับพ่อแม่ของเธอในที่ปลอดภัย และกลับมาทำงานต่อ การรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากอุปกรณ์ไม่เพียงพอ ในสัปดาห์ที่ 2 ของสงคราม ต้องทำการรักษาที่ชั้นใต้ดินแทน จึงทำให้ไม่สามารถทำการรักษาเฉพาะทางได้ ผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับการรักษาต่อเพราะขาดแคลนเลือด ขณะนี้โรงพยาบาลยังไม่ถูกทำลายแต่มีการโจมตีอาคารรอบๆ โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง สำหรับยาและอุปกรณ์การแพทย์ในขณะนี้มีเพียงพอสำหรับ 3 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งจริงๆก็ยังไม่พอแต่อาสาสมัครกำลังช่วยหาให้เพิ่มเติม

อันนา โควาเลงโก

อันนา โควาเลงโก อดีตรองหัวหน้าทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อความมั่นคงและการป้องกันประเทศ และประธานองค์กรไม่แสวงหากำไร บอกเล่าสถานการณ์บริเวณกรุงเคียฟว่า รัสเซียทำลายเมือง ยิงประชาชนที่พยายามอพยพ สังหารเด็กๆ ผู้หญิง นักข่าวและพลเรือน รัสเซียต้องการให้ชาวยูเครนกลัว แต่เราสู้กลับและโกรธแทน องค์กรของเธอได้ขอให้ประชาชนทั่วประเทศช่วยกันเก็บข้อมูลในที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังช่วยให้คำแนะนำแก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ อย่าง การทำระเบิดขวด และยังให้คำแนะนำกับองค์กรต่างชาติที่ต้องการให้ช่วยเหลือด้วย ขณะนี้สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ ยา อาวุธ และยานพาหนะสำหรับการขนย้ายผู้อพยพและการสู้รบ

ตอนนี้อันนายังคงอยู่ในแคว้นเคียฟ สามียังคงเป็นทหารสู้รบอยู่ในแนวหน้า ส่วนลูกสาววัย 1 ปีถูกส่งไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยกับแม่และญาติ

นี่เป็นความโหดร้ายเพียงเศษเสี้ยวที่ชาวยูเครนต้องเผชิญจากการรุกรานของรัสเซีย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image