โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : โอกาสทางธุรกิจของไทย จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : โอกาสทางธุรกิจของไทย จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน

กรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการหารือทางธุรกิจและการสร้างเครือข่ายระหว่างไทย-ลาว ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน ของสปป.ลาว ระบุว่า ขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศได้ยกระดับความร่วมมือ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนขยายธุรกิจกาค้าระหว่างไทย-ลาว รัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับไทย ไทยเป็นคู้ค้าอันดับ 1 และเป็นผู้ลงทุนอันดับ 2 ของลาว นอกจากนั้นไทยยังมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนุภูมิภาคนี้ การเยือนไทยครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการย้ำถึงการสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย และการร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศจะไม่สำเร็จหากขาดการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ แม้สปป.ลาวจะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่ลาวยังมีท่าแห้ง(ดรายพอร์ต-พื้นที่ตอนในของประเทศที่เป็นศูนย์โลจิสติกส์)หลายแห่ง และกำลังปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานก็ได้รับการพัฒนาแล้ว จึงหวังว่านักธุรกิจจะใช้การประชุมนี้เพื่อปรึกษาหารือ ร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ของสองชาติ นอกจากนี้รัฐบาลลาวได้วางนโยบายแบบยั่งยืนสีเขียวและสะอาด ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 ปี 2021 – 2025 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาวของรัฐบาลลาว จึงขอเสนอให้ในที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และยังมีนโยบายยุคสมัย 4.0 นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ หวังว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่ภาคธุรกิจจะได้ฟังนโยบาย หารือ และพบปะคู่ค้า เวลานี้ทั้งสองต้องร่วมกันถอดบทเรียนในอดีตเพื่อสร้างปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

โอกาสจากความเชื่อมโยงรถไฟลาว-จีน

หลังจากนั้นเป็นการเปิดเวทีเพื่อพูดถึงวิสัยทัศน์และโอกาสจากความเชื่อมโยงการเปิดใช้รถไฟลาว-จีน และการให้มุมมองรวมถึงความเห็นจากกลุ่มผู้ให้บริการและกลุ่มผู้ใช้บริการ ดำเนินรายการโดยนายเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์

Advertisement

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการกลุ่มการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ระบุว่า ในวันนี้จะเน้นไปที่ Trans Asia Railway ซึ่งเชื่อมภูมิภาคแม่น้ำโขง และมีลาวเป็นศูนย์กลาง และจะเป็นท่าบกของศูนย์กลางนี้ ส่วนไทยจะมีท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะทำให้ลาวและจีนมีทางออกสู่ทะเลได้ นับเป็นการเชื่อมโยงศูนย์กระจายสินค้า ธุรกิจผสมผสานได้ประโยชน์หมด

ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกในภาคพื้นทวีป และเป็นกึ่งกลางของอาเซียนทางบก ส่วนลาวก็เป็นตัวเชื่อมระหว่างอนุภูมิภาคอาเซียนกับจีน รถไฟลาว-จีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเชื่อมโยงธุรกิจและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

โลจิสติกในไทยมี 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ รถ เรือ ราง รถมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงเพราะเรามีถนนยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้และตะวันออกไปตะวันตก ส่วนระบบเรือมาท่าเรือคลองเตยและแหลมฉบัง ซึ่งที่แหลมฉบังกำลังขยาย อยากให้ผลักดันพัฒนาท่าเรือให้เป็นจุดถ่ายเทสินค้ากับจุดผ่านแดน และทำให้ลาวและพื้นที่มณฑลยูนนานของจีนมีทางออกสู่ทะเล สำหรับรถไฟลาว-จีน ซึ่งมีความยาว 1,035 กิโลเมตร ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 199,000 ล้านบาท รถไฟเน้นเรื่องการส่งสินค้าเป็นหลัก และการขนส่งด้วยรถไฟประหยัดเงินมากกว่า เช่น หากใช้รถยนต์ส่งจากแหลมฉบังไปคุนหมิงจะต้องใช้เงิน 113,820 บาทแต่ถ้าใช้รถไฟจะเหลือเพียง 92,654 บาท และยังรวดเร็วมากกว่า เช่นจากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น เดิมขับรถ 15 ชั่วโมงแต่เมื่อใช้รถไฟเหลือเพียง 4 ชั่วโมง

Advertisement

หากต้องการให้เกิดการขนส่งสินค้าที่ไร้รอยต่อ เราต้องพัฒนา 1.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างรถไฟรางคู่ขอนแก่น-หนองคายซึ่งจะช่วยพัฒนาภาคอีสาน และผลักดันให้สร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่ 2.การพัฒนาการเชื่อมโยงดรายพอร์ตท่านาแล้งกับสถานีเวียงจันทน์ใต้ 3.ที่ด่านบ่อฮานบ่อเต็นต้องตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เครื่องเอ็กเรย์ไม่ต้องยกสินค้าขึ้นลงไปมา

สำหรับเรื่องซอฟต์แวร์มีอยู่ 7 อย่าง 1.สนับสนุนการค้าชายแดนระหว่าง 3 ประเทศ 2.พัฒนาแหลมฉบังเป็นท่าเรือของภูมิภาคเพื่อรับและส่งสินค้า 3.จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับการค้าผ่านแดนและค้าข้ามแดนใน 3 ประเทศ 4.จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ (พีเอ็มโอ) เพื่อรวมการบริหารโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน 5.พัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบรางทางอิเล็กทรอนิก 6.พัฒนาการจัดเก็บเอกสารและการเงินอิเล็กทรอนิกเพื่อลดขั้นตอนเอกสาร 7.พัฒนาระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิเพื่อการส่งออกพืชผลทางการเกษตรและอาหารทะเลระหว่างประเทศ

นายจันทอน สิดทิไซ รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว ประธานบริษัทปิโตรเบลียม เทรดดิ้ง (พีทีแอลโฮลดิ้ง) จำกัดและประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลลาวคือจะเปลี่ยนจากแลนด์ล็อกเป็นแลนด์ลิงก์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม เช่นเส้นทางรถไฟลาว-จีนและลาว-เวียดนาม ไทยมีความสามารถทางโลจิสติกจึงเป็นฮับ ส่วนลาวเป็นลิงก์ หากร่วมมือกันจะเกิดประโยชน์ ไทยเป็นฐาน ลาวเป็นการเชื่อมโยง กลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้อยากร่วมมือกับไทยสร้างสถานีตู้สินค้าที่มีพิธีการศุลกากรทั้งสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก (ไอซีดี) ที่หนองคาย และอยากเชื่อมท่าแห้งในประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันจากลาวไปจีนไปคาซัคสถานเข้ายุโรป และอยากสร้างเขตการค้าชายแดนไทย-ลาว

น.ส.วัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกไทย ระบุว่า ถ้ามีเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างที่เสนอจะทำให้เกิดไหลอย่างอิสระของสินค้าและเงิน และระหว่างรอรถไฟเชื่อมโยงระหว่างโคราชไปหนองคาย 3 ปี เราควรทำดิจิทัลฟรีโซนขึ้นที่เวียงจันทน์-หนองคายโมเดล และสามารถสร้างกฎระเบียบให้ค้าขายเป็นเงินบาท และขอเสนอให้เปิดการค้าชายแดนอีสานที่หนองคาย 24 ชั่วโมง เชื่อมกับลาวตลอดแนวชายแดน

สถานการณ์การลงทุนของไทยในลาว

นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนไทยในลาวว่า ไทยมีการลงทุนในลาวเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน ส่วนใหญ่เป็นการการเกษตร กสิกรรม ธุรกิจบริการและพลังงาน เช่นเขื่อนผลิตไฟฟ้า แต่เมื่อเกิดโควิด การลงทุนของไทยก็ลดลง โดยเฉพาะธุรกิจการบริการ เช่นที่หลวงพระบาง จากเดิมมีอยู่ 100 กว่าราย ลดลงเหลือเพียง 30-40 รายในช่วงโควิด อีกหนึ่งตัวอย่างคือภาคเอสเอ็มอีบริเวณชายแดนซึ่งลดลงไปมาก

หลังโควิดมีหลายธุรกิจที่พร้อมเข้าไปลงทุน และนโยบายของลาวก็เปิดกว้างด้านการเกษตรและกสิกรรม ไทยก็สนใจไปลงทุน ขาดแต่เพียงการส่งเสริมหรือการร่วมมือจากทางภาครัฐของลาว ส่วนจีนต้องการสินค้าด้านการเกษตรและกสิกรรมมากที่สุด โดยเฉพาะจีนทางใต้ และเมื่อส่งสินค้าไปจีน ไทยต้องผ่านลาว ฉะนั้นไทยและลาวสามารถร่วมมือกันเพื่อส่งสินค้าไปขายที่จีนได้ ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุน เพราะหลังจากโควิด มีหลายธุรกิจปิดไป นักธุรกิจอาจหาลู่ทางได้

นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงค์) ระบุว่า ในส่วนของสินเชื่อที่ให้ 2 ใน 3 ลงทุนในลาว ส่วนใหญ่เป็นด้านพลังงาน ขณะนี้เริ่มเห็นโครงการใหม่ๆ ขนาดใหญ่ ขึ้นมาตามเส้นทางรถไฟ เช่น นิคมอุตสาหกรรมและศูนย์กระจายสินค้า ในอนาคตนอกจากโครงการด้านพลังงาน ธุรกิจที่ลิงค์กับรถไฟฟ้าลาว-จีนจะเป็นไฮไลท์

นายอุตะแก้ว แก้วดวงสิน อธิบดีกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการวางแผนและการลงทุน สปป.ลาว ในปี 1988 ไทยก็เริ่มเข้าไปลงทุนในลาวแล้ว ส่วนใหญ่เป็นด้านกสิกรรม ก่อนจะมีภาคการบริการเข้ามา ปัญหาของลาวคือพื้นฐานโครงสร้างที่ยุ่งยาก ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และมีต้นทุนในการผลิตสูง

ส่วนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจปี 2021-2025 มีการส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวทางรถไฟ นอกจากนี้ลาวยังได้ปรับปรุงสนามบินหลวงพระบางเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว ส่วนเส้นทางด่วนR3A เพื่อไปเชื่อมกับเส้นทางรถไฟน่าจะได้สร้างในเร็วๆนี้

สำหรับความกังวลจากภาคธุรกิจของไทย นายจตุรงค์ระบุว่า ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ปัจจัยจากทางไทย คือ 1.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการลงทุนในต่างประเทศยาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี 2.ขาดข้อมูลที่เชื่อมโยงเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ส่วนปัจจัยทางลาว ได้แก่ 1.กังวลว่าสินค้าอุปโภคบริโภคไทยอาจจะขายในลาวไม่ได้ เพราะลาวมีนโยบายพึ่งพาตนเองมากขึ้น ปัจจุบันสภาธุรกิจไทยลาวได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในการทำโครงการต่างๆ เช่น พี่จูงน้อง เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเข้ามารับฟังข้อมูลด้านการลงทุนจากผู้มีประสบการณ์

ด้านนายอิทธิพลกล่าวว่า นโยบายแลนด์ลิงค์ทำให้ลาวมีศักยภาพในการส่งออก ลาวมีพลังงานสะอาดกว่าไทย เอ็กซิมแบงค์ยังให้เงินสนับสนุนในการการลงทุนในลาวอยู่ แต่ที่ให้ยาก เพราะความเสี่ยงทางการเมือง

โอกาสของการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ลาวที่เกิดขึ้นพร้อมกับเส้นทางรถไฟเชื่อมลาว-จีน ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคยุคหลังโควิดให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image