‘จีน-มะกัน’ มุ่งไทย ภาพสะท้อนสัมพันธ์สดใส หรือหมากในเกมอำนาจ

‘จีน-มะกัน’ มุ่งไทย ภาพสะท้อนสัมพันธ์สดใส หรือหมากในเกมอำนาจ

สัปดาห์ที่ผ่านมาต้องบอกว่าประเทศไทยได้สร้างปรากฎการณ์สุดร้อนแรงทางด้านการต่างประเทศในรอบหลายปี เพราะเราได้เห็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในวันที่ 4-5 กรกฎาคม ตามด้วยการเยือนของนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ในวันที่ 9-10 กรกฎาคม เรียกได้ว่าในสัปดาห์เดียวรัฐมนตรีต่างประเทศของสองชาติมหาอำนาจลำดับต้นของโลกก็มาปรากฎตัวที่ไทยในเวลาไล่ๆ กัน

จริงอยู่ที่ห้วงเวลาแห่งการเยือนเช่นนี้เป็นเรื่องบังเอิญ ส่วนหนึ่งเพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจี20 ที่เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย เป็นธรรมดาที่เมื่อต้องเดินทางกันมาในภูมิภาคนี้ ก็ย่อมต้องมีกำหนดการเยือนประเทศอื่นๆ ข้างเคียงของรัฐมนตรีต่างประเทศแต่ละคนตามมาเพื่อให้คุ้มค่าในทริปเดียว

ในส่วนของนายหวัง อี้ ก่อนมาเยือนไทยก็ได้ไปเมียนมา เพื่อเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (เอ็มแอลซี) ครั้งที่ 7 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียนในแม่น้ำโขง 5 ชาติ ประกอบด้วยกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ลาว และไทย ซึ่งเมียนมาดูจะตีฆ้องร้องป่าวกับการประชุมนี้มาก ค่าที่ว่าเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกที่เมียนมาเป็นเจ้าภาพหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีก่อน เนื่องจากในปีนี้เมียนมามีสถานะเป็นประธานเอ็มแอลซีร่วมกับจีน ขณะที่ไทยจะรับไม้ต่อจากเมียนมาด้วยการเป็นประธานเอ็มแอลซีในปีหน้า

หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอ็มแอลซี นายหวัง อี้ ก็เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก ก่อนที่จะเดินสายไปในอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้เช่นกัน ในระหว่างการหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์และอยู่ในความสนใจของไทย ตั้งแต่การเร่งแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่จีนรับปากจะแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นประเด็นซึ่งสร้างความเสียหายให้กับคนไทย และสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของจีนด้วยเช่นกัน

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกประเด็นรถไฟเชื่อมจีน-ลาว-ไทย ซึ่งถือเป็นการสร้างระเบียงเศรษฐกิจที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาระหว่าง 3 ประเทศ ลงใต้ไปยังอีอีซี ขึ้นเหนือไปที่ระเบียงเศรษฐกิจของลาว เชื่อมต่อไปยังยูนนานในจีน และเชื่อมต่อไปยังยุโรป โดยมุ่งหวังให้ใช้โลจิสติกส์ผลักดันการค้า การลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางไซเบอร์ พูดถึงความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ถือเป็นการสานต่อการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองที่มณฑลอานฮุย เมื่อวันที่ 1 เมษายน ซึ่งนายดอนได้เดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญของนายหวัง อี้ เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านไทย-จีน ที่ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับการเยือนของนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐก็เป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่บลิงเกนขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าว และเป็นการเยือนที่ต้องเลื่อนออกไปจากเดิมในเดือนธันวาคมปีก่อน หลังนักข่าวร่วมคณะของนายบลิงเกนติดโควิด-19 ในครั้งนี้ถือโอกาสที่เสร็จสิ้นการประชุมที่บาหลี นายบลิงเกนจึงมุ่งหน้าต่อมายังไทย เพื่อสานต่อภารกิจการเยือนให้เกิดขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนกำหนดการบางอย่างเพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาของการเยือน

Advertisement

นอกจากการเข้าเยี่ยมคาราวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหารือกับนายดอนซึ่งถือเป็นกำหนดการภาคบังคับที่ขาดเสียมิได้ สิ่งที่ถือสาระสำคัญของการเยือนครั้งนี้อยู่ที่การลงนามในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ฉบับแรกคือแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐ (Thailand – United States Communique on Strategic Alliance and Partnership) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างกันที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เป็นการมองในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ให้มีพลวัตร โดยคำนึงถึงความท้าทาย โอกาสต่างๆ และการมองไปข้างหน้า ครอบคลุมความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ 10 ด้าน อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานทดแทน การจัดการกับความมั่นคงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ไปจนถึงความร่วมมือของภาคประชาชน

ส่วนฉบับที่ 2 คือบันทึกความเข้าใจในเรื่องซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่น (Memorandum of Understanding on Promoting Supply Chain Resilience) ที่เป็นความร่วมมือเพื่อการผลิตสินค้าในภาคธุรกิจที่ทั้งสองประเทศเห็นว่ามีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคง และยังเป็นประโยชน์ร่วมกันที่จะแก้ไขจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทาน ลดการหยุดชะงักในการผลิตและขนส่ง ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นข้อต่อหนึ่งในกระบวนการผลิตของสหรัฐ สร้างโอกาสสำหรับธุรกิจของไทยทั้งในด้านการลงทุน การนำเข้าและส่งออกตามมา และยังรวมถึงการช่วยเหลือในการพัฒนาขีดความสามารถของเอกชนไทยเพื่อขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอีกด้วย

ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายดอน บลิงเกนย้ำว่าความสัมพันธ์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐ-ไทยมีความแข็งแกร่ง เอกสาร 2 ฉบับที่ลงนามในวันนี้จะยิ่งทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างกันแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ภายใต้ข้อตกลงใหม่ดังกล่าวจะทำให้ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ

ขณะที่นายดอนย้ำว่า นี่คือการวางรากฐานไปสู่ความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐในอีก 190 ปีข้างหน้า หลังจากที่ในปี 2566 จะครบ 190 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันนั่นเอง

บรรยากาศในเยือนไทยของนายหวัง อี้ และนายบลิงเกนดูจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และมิตรภาพ แต่ทุกคนที่ติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศในห้วงเวลานี้ย่อมตระหนักดีว่า การแข่งขันกันเพื่อแพร่ขยายอิทธิพลของชาติมหาอำนาจในปัจจุบันเข้มข้นร้อนแรงเพียงใด สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้จากการเยือนไทยในสัปดาห์เดียวกันของรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 2 ชาติมหาอำนาจในโลกคือการสะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคนี้รวมถึงไทยได้รับความสนใจจากโลก ปรากฎการณ์นี้จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทย ที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทยในการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจท่ามกลางคลื่นลมอันโหมแรง

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นโยบายต่างประเทศของไทยยึดหลักแห่งความสมดุลและยึดประโยชน์ของไทยเป็นที่ตั้ง ถึงแม้จะถูกวิพากษ์ว่าลู่ตามลมหรือจะลู่ไปก่อนลมก็ไม่สำคัญเท่ากับที่เราต้องรักษาดุลยภาพนี้ไว้ให้ได้ แม้จะตระหนักดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตามที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image