โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: เหลียวหลังแลหน้า 55 ปีอาเซียน

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: เหลียวหลังแลหน้า 55 ปีอาเซียน

เนื่องในโอกาสที่ “อาเซียน” ก่อตั้งครบ 55 ปีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอาเซียน ได้จัดงานเสวนา ASEAN Day ภายใต้หัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 55 ปีอาเซียน” โดยได้เชิญวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.สาธิน สุนทรพันธ์ คณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมอภิปรายและร่วมกันทบทวนบทเรียนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่อนาคต

หากเปรียบเทียบอาเซียนเป็นคน ก็คงเป็นคนวัยกลางคนค่อนไปทางสูงอายุ แต่คำถามสำคัญก็คือ ผู้สูงอายุคนนี้จะเป็นคนที่สามารถเติบโตและก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงต่อไป หรือจะเป็นเพียงผู้สูงอายุที่ง่อนแง่น?

อาจารย์สาธิน กล่าวว่าอาเซียนเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์มาค่อนข้างเยอะ บนเส้นทางความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกออกเฉียงใต้ที่เริ่มต้นมาจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเฉพาะภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และความขัดแย้งภายในประเทศ นำมาสู่ความร่วมมือของ 5 ประเทศตั้งต้นนำโดยประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับภูมิภาค จนกลายมาเป็นอาเซียนที่มีรัฐสมาชิกกว่า 10 ประเทศในทุกวันนี้
ในปัจจุบันเราคงคุ้นเคยกับการประชุมอาเซียนในทุกๆ ปี แต่หากเราเหลียวหลังไปในอดีต จะพบกับบรรยากาศที่แตกต่าง คือความร่วมมือช่วงแรกๆ ของอาเซียนนั้นยังไม่เข้มข้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศแถบบ้านเรากำลังมุ่งสร้างชาติและพัฒนากิจการภายในของตน ดูได้จากการที่ประชุมสุดยอดของอาเซียนครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายหลังการก่อตั้งการรวมตัวนี้ถึง 9 ปี

แล้วอะไรทำให้อาเซียนที่คนยังไม่เชื่อมั่นในตอนนั้น อยู่ยาวจนถึงตอนนี้?

Advertisement

อาจารย์สาธินกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จ 3 ประการ ประการแรกคือการปรับตัวและตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี แม้ว่าความเข้มข้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วง 20 ปีแรกจะเบาบาง ส่งผลให้การดำเนินการอาจไม่เต็มที่ แต่เมื่อสถานการณ์สงครามเย็นมีความผ่อนคลายมากขึ้น เราก็เห็นอาเซียนที่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างเป็นลำดับ อย่างมีการเจรจากับประเทศภายนอกภูมิภาค เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น และการกำหนดให้มีการพบปะหารือของสมาชิกอาเซียนเป็นประจำทุกๆ ปีจนกลายเป็นธรรมเนียมของอาเซียนถึงทุกวันนี้

ปัจจัยความสำเร็จประการต่อมาคือ ประเด็นความร่วมมือที่หลากหลายครอบคลุม ดั่งยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน เป้าหมายของอาเซียนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โจทก์แรกเริ่ม อย่างการปราบปรามภัยคอมมิวนิสต์ได้หายไป และเกิดเป็นการขยายความร่วมมือให้รอบด้านตามความซับซ้อนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนี่คือคความแตกต่างจากความร่วมมืออื่นในภูมิภาคที่มักเป็นความร่วมมือเฉพาะด้าน
ปัจจัยความสำเร็จสุดท้าย คือ “วิถีอาเซียน” ที่เน้นความร่วมมือ การปรึกษาหารือ และฉันทามติ โดยที่รัฐสมาชิกกว่า 10 ประเทศที่ล้วนแตกต่าง ทั้งในเรื่องระบอบการปกครอง ภาษา และวัฒนธรรม สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จนพัฒนากลายเป็น “อาเซียน” ที่ได้รับความสนใจจากเวทีโลกตอนนี้ ดังที่ท่านทูตฐากูร พานิช เขียนกล่าวอ้างอิงมุมมองต่ออาเซียนของสิงคโปร์ “แรกเริ่มไร้แวว อนาคตสดใส”

แล้วในมิติเศรษฐกิจ อาเซียนมีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน?

Advertisement

ก่อนที่จะเข้าประเด็นหลัก อาจารย์อักษรศรีได้กล่าวถึง “เสน่ห์” ของอาเซียนที่ไม่ธรรมดา นั่นคือศักยภาพจาก 10 ประเทศมัดรวมกันที่สร้างอำนาจต่อรองขนาดใหญ่ การเป็นศูนย์รวมทั้งในเรื่องเศรษฐกิจที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่ จากประชากรกว่า 600 ล้านคน และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอันอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งมันได้ดึงดูดประเทศต่างๆ รวมถึง จีน ประเทศจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่เคยเป็นความหวาดกลัวและจุดเริ่มต้นความร่วมมืออาเซียน ให้มาเป็นพันธมติรหลักในปัจจุบัน จีนได้พลิกเกมความสัมพันธ์กับอาเซียนในปี 2000 เมื่อนายกรัฐมนตรีจูหรงจี้ของจีนทำ FTA กับอาเซียน หรือ “การรุกลงใต้” ของจีน ตามคำกล่าวของอาจารย์อักษรศรี หลังจากนั้น จีนให้ความสำคัญต่ออาเซียนมาโดยตลอดซึ่งนั่นทำให้ “จีนซับซ้อนซ่อนเงื่อน” ในเรื่องความสัมพันธ์และเป้าประสงค์ในพื้นที่

การเปลี่ยนแปลงต่อมา คือ การที่ตอนนี้เรื่องของเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และความมั่นคง มันเกี่ยวโยงอย่างแยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นประเด็นความมั่นคงจึงมักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการจัดการด้านเศรษฐกิจ และเกี่ยวข้องกับอาเซียนอย่างยิ่งในประเด็นสงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างสองมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐ ขั้วอำนาจเก่า และจีน ขั้วอำนาจใหม่
การตอบโต้ดังกล่าว ทำให้มีการพูดถึง “กับดักของทูซิดิเดส” ที่มีแต่จะนำพาให้ประเทศที่ติดกับความหวาดระแวงและการตอบโต้ทางอำนาจอย่างไม่หยุดหย่อนไปสู่ปลายทางที่เรียกว่าสงคราม โดยอาจารย์อักษรศรีได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่สหรัฐและจีนจะปะทะกันใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน ทิเบต ซินเจียง และทะเลจีนใต้

ความเปราะบางทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับอาเซียน โดยเฉพาะในกรณีทะเลจีนใต้ เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แต่ประเด็นที่อาจารย์อักษรศรีย้ำคือ การเป็นแหล่งพลังงาน “น้ำแข็งเปลวไฟ” ที่ให้พลังงานได้สูงกว่าก๊าซธรรมชาติหลายเท่า จีนซุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใต้ทะเลลึกเพื่อเตรียมขุดนำพลังงานแห่งอนาคตนี้มาใช้ในปี 2030 “นี่คือสิ่งลึกซึ้งที่จีนมีความสัมพันธ์กับเราในอาเซียน” อาจารย์สะท้อนความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของจีนอีกครั้ง และยังมีประเด็นไต้หวันอีก ที่ถ้าหากมีการรวมประเทศขึ้นมาจริงๆ คงเป็นการพลิกผันทางภูมิภาคในระดับที่ไม่สามารถจินตนาการได้
แต่ถ้าถามว่าสหรัฐกลัวไหม ก็คงตอบว่าไม่ เห็นได้จากการที่สหรัฐมีนโยบายเชิงรุกที่มุ่งจัดการจีนในประเด็นเปราะบางข้างต้นกว่า 3 เรื่อง คือ ซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งสหรัฐเพิ่งเยือนไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งสหรัฐยังรวมกลุ่มประเทศพันธมิตรเพื่อสร้าง “พลังต้านจีน” ดังที่ปรากฎการคานอำนาจจีนในปัจจุบัน

ด้านอาเซียนในฐานะ “ประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” นั้น อาจารย์ปิติกล่าวว่า อาเซียนได้มีการปักเสาหลักทางเศรษฐกิจ การบริการ และความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้คน ตั้งแต่การทำเขตการค้าเสรีที่ทำให้ผู้คนในภูมิภาคสามารถ “กินของถูก ใช้ของดี” ไปจนถึงการเป็นเวทีที่สามารถดึงคู่ประเทศพิพาทมาพูดคุยกันได้

จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือความสามารถที่จะถอดบทเรียนจากปัญหาและพัฒนากลไกการดำเนินใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทาย ดังเช่นที่อาเซียนสามารถผ่านพ้นพิษเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และเสริมสร้างกลไกตรวจตราด้านการเงิน อย่าง สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3

ด้านความมั่นคงในชีวิต ไทยก็ได้ผลักดันให้มีการใส่เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนลงไปในกฎบัตรอาเซียน และใช้สิ่งที่คนมักมองว่าเป็นจุดอ่อนของอาเซียน อย่างหลักฉันทามติ ที่ทำให้ “อาเซียนวิ่งเร็วที่สุดเท่ากับประเทศที่วิ่งช้าที่สุด” ในการส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนของรัฐสมาชิก ยกระดับอาเซียนให้เชื่อมโยงกับหลักการสากล จนเกิดเป็นปฏิญญาอาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น

อาจารย์ปิติยังย้ำอีกว่าไทยจำเป็นต้องเล่นบทบาทนำในเวทีอาเซียน เพื่อดำรงไว้ซึ่งจุดยืนของผลประโยชน์แห่งชาติและเป้าหมายในการเป็นประเทศอำนาจปานกลาง รวมถึงสร้างอำนาจต่อรองให้กับประเทศ ดังที่อาจารย์กล่าว “อาเซียนก็คือดีเอ็นเอของไทย ไทยก็คือดีเอ็นเอของอาเซียน”

ท้ายที่สุดนี้ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนนั้นมีหลายประการ อาทิ สถานการณ์ในพม่า ภัยความมั่นคงไซเบอร์ ความมั่นคงทางอาหารเเละสาธารณสุข หากอาเซียนยังอยากที่จะเป็นคนแก่ที่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง ก็จะต้องใช้เสน่ห์ จุดแข็ง เเละบทเรียนในอดีตเพื่อรับมือความท้าทายเหล่านี้ ส่วนสิ่งที่ไทยควรจะทำ คือ การสร้างภาวะผู้นำในอาเซียนพร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อก่อให้เกิดอำนาจการต่อรองเเละดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ บนพื้นฐานของกฎกติกาอย่างหนักแน่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image