วิเทศวิถี: ไทยกับความช่วยเหลือเมียนมาด้านมนุษยธรรม

วิเทศวิถี: ไทยกับความช่วยเหลือเมียนมาด้านมนุษยธรรม

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญหลายเวทีที่ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปเข้าร่วมประชุมเริ่มตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรืออาเซียน รีทรีต ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ต่อด้วยการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum-IPMF) ครั้งที่ 3 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) (ASEAN-EU Ministerial Meeting-AEMM) ครั้งที่ 24 ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม

ถึงแม้จะเป็นการประชุมที่จัดขึ้นต่างทวีปและคนละมุมโลก แต่ประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีการพูดถึงกันอย่างมากยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือข้อริเริ่มระหว่างไทย-เมียนมา ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานที่จำเป็นให้กับประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหนักหนาที่สุดจากความขัดแย้งที่ดำเนินต่อเนื่องมานานหลายปี

ในอาเซียนรีทรีต ที่ถือการประชุมแรกรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกหลังจากที่สปป.ลาวเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียน ยังถือเป็นครั้งแรกที่เมียนมาได้ส่ง นางมาร์ลาร์ ถั่น ติเก ปลัดกระทรวงต่างประเทศเมียนมาเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง หลังจากที่อาเซียนได้ตั้งเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อห้ามไม่ให้ผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมามาเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีตั้งแต่ครั้งที่บรูไนเป็นประธานอาเซียนในปี 2564 ก็ถือเป็นการส่งสัญญานให้เห็นถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปของเมียนมาด้วย

Advertisement

การตอบรับข้อริเริ่มในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาตามข้อเสนอของนายปานปรีย์ ได้มีการหารือกับ นายตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา เมื่อมีโอกาสพบปะกันระหว่างการเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 8 ที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน ขณะที่ไทยได้แจ้งเรื่องและความตั้งใจให้กับชาติสมาชิกอาเซียนได้ทราบถึงพัฒนาการต่างๆ มาเป็นระยะ ทั้งผ่านทางจดหมายและการหารือทวิภาคีกับชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

กระทั่งได้หยิบยกขึ้นมาหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอีกครั้งในการประชุมอาเซียน รีทรีต ซึ่งก็ได้รับคำชมจากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าเป็นข้อริเริ่มที่ดีและเป็นประโยชน์ ทุกประเทศอาเซียนให้การสนับสนุนทั้งหมด แม้แต่ปลัดกระทรวงต่างประเทศเมียนมาที่เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม ก็ยังรับประกันว่าจะดูแลความปลอดภัยของขบวนรถขนส่งความช่วยเหลือที่จะเดินทางเข้าไปภายในประเทศเมียนมาให้ด้วย

ทั้งนี้ ข้อริเริ่มของไทยดังกล่าวจะเป็นการจัดตั้งจุดมนุษยธรรมระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นด้านมนุษยธรรมต่างๆ เข้าไปให้กับชาวเมียนมาที่ได้รับความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือพื้นฐานในการดำรงชีวิต ผ่านสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมา โดยมีศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนจะเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมดังกล่าวจะเป็นไปอย่างตรงเป้าหมาย

Advertisement

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามข้อเสนอของไทยในครั้งนี้ ไม่ใช่การตั้งศูนย์เพื่อรับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่หนีภัยสู้รบ อย่างที่ดูเหมือนจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นในบางภาคส่วน โดยการลงพื้นที่จังหวัดตากของนายปานปรีย์ในสัปดาห์นี้น่าจะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้่นอีกระดับว่าจะใช้ที่ใดเป็นจุดส่งมอบความช่วยเหลือดังกล่าว เพราะแน่นอนว่ายังมีรายละเอียดในการดำเนินการที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนอีกมากก่อนลงมือปฏิบัติ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนชาวเมียนมาให้ได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธุ์นี้อย่างที่ตั้งใจไว้

ข้อริเริ่มของไทยยังถือเป็นการช่วยสนับสนุนการดำเนินการของลาว ในฐานะประธานอาเซียนให้เกิดความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน ซึ่งตกอยู่ในภาวะชะงักงันมานาน จนทำให้อาเซียนตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกันว่า ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนให้มีพัฒนาการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในเมียนมาได้

นายปานปรีย์ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวของไทยมีจุดประสงค์ที่ต้องการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นประชาชนชาวเมียนมาเป็นสำคัญ แม้การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือสองฝ่ายระหว่างไทยกับเมียนมา แต่ยังเป็นการดำเนินการที่เสริมกับฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนในเรื่องเมียนมาด้วย และหวังว่า สิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและจะเป็นช่องทางให้ฝ่ายต่างๆ ที่ไม่เคยมีช่องทางในการพูดคุยกันในเมียนมาได้หันมาหารือกัน และอาจจะช่วยปูทางไปสู่การพูดคุยในเรื่องอื่นๆ ระหว่างกันต่อไปในอนาคต

 

ขณะที่ในการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรปที่เบลเยียม นายปานปรีย์กล่าวว่า ในส่วนของภูมิภาคอาเซียน ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงประเทศอื่นนอกจากเมียนมา โดยอียูและอาเซียนก็แสดงความเป็นห่วงว่าประเทศเมียนมาจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป ทุกคนมีความปรารถนาที่อยากให้เกิดความสงบเรียบร้อยในเมียนมา และนำพาประเทศกลับสู่การเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง
ขณะที่ไทยได้หยิบยกข้อเสนอเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ที่ได้รับการยอมรับและเห็นชอบจากการประชุมอาเซียนรีทรีตที่หลวงพระบางมาพูดคุยในทั้ง 2 เวที ซึ่งอียูก็เห็นด้วยกับแนวทางเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาที่ประเทศไทยได้นำเสนอด้วย

จริงอยู่ที่ไทยตั้งใจที่จะช่วยเหลือเมียนมาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านย่อมส่งผลกระทบกับไทยที่มีพรมแดนดินกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่การดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเมียนมาดังกล่าวก็ทำให้โลกหันมามองและฟังประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพราะปัญหาในเมียนมาก็เป็นสิ่งที่โลกกำลังจับตาดูด้วยความวิตกกังวล

หลังการปฏิวัติเมียนมาผ่านไป 3 ปี สิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมาเคยบอกว่าจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วก็ยังดูแทบจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่การสู้รบรุกลามขยายวงกว้าง รัฐบาลทหารสูญเสียการควบคุมพื้นที่ในเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นหลังปฏิบัติการ 1027 ของกลุ่มต่อต้านเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมปีก่อน แม้เมียนมาจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพรรคการเมืองเพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น แต่ไม่เกินจริงหากจะบอกว่ายังไม่มีใครจะบอกได้ว่า หนทางกลับสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาจะเริ่มขึ้นได้จริงเมื่อใด

กระนั้นก็ดี ในระหว่างที่ต้องรอให้ทุกฝ่ายในเมียนมาหันมาพูดคุยและหาทางแก้ไขปัญหาระหว่างกันด้วยกลไกที่พวกเขาเองยอมรับ สิ่งที่ไทยพยายามดำเนินการอยู่นี้ก็ยังพอจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมียนมาได้บ้างไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image