โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: เจาะสนามเลือกตั้งอินโดนีเซีย ชี้อนาคตแดนอิเหนา

FILE PHOTO AP

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: เจาะสนามเลือกตั้งอินโดนีเซีย ชี้อนาคตแดนอิเหนา

ปี 2024 คงเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการเลือกตั้งก็ว่าได้ เพราะนอกจากการเลือกตั้งไต้หวันที่เพิ่งผ่านไปแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน รวมถึงอินโดนีเซียที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากถึง 205 ล้านคนจะเข้าคูหาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้เพื่อเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ถือเป็นการเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก หลังจากที่ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ เนื่องจากเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบ 2 สมัยตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด

ในขณะที่การเลือกตั้งอินโดนีเซียกำลังเข้ามาใกล้ทุกที คงเป็นจังหวะดีที่เราจะมาเจาะลึกการเลือกตั้งอินโดนีเซีย หนึ่งในประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

ชาวอินโดนีเซียผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกจากจะต้องเลือกประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว พวกเขายังต้องเลือกผู้แทนฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอีกด้วยในการเลือกตั้งทั่วไป โดยนี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 3 คน แต่คนที่กำลังขึ้นนำในโพลสำรวจเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมคือ นายปราโบโว ซูเบียนโต วัย 72 ปี หัวหน้าพรรค Gerindra ซึ่งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน โดยเขามี นายกิบรัน รากาบูมิง รากา นายกเทศมนตรีเมืองซูราการ์ตา วัย 36 ปี ผู้เป็นบุตรชายคนโตของ ประธานาธิบดีวิโดโด ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

Advertisement

นี่ถือเป็นการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียครั้งที่ 3 ของ นายซูเบียนโต หลังจากที่เขาแพ้การเลือกตั้งปี 2014 และ 2019 ให้แก่นายวิโดโดทั้ง 2 ครั้ง นโยบายที่เขานำขึ้นมาเป็นจุดขายคือการที่เขาให้คำมั่นว่าจะนำเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาสู่อินโดนีเซีย รวมถึงสนับสนุนแผนพัฒนาการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเกาะบอร์เนียว ของวิโดโดต่อไป อีกทั้งมีนโยบายมอบอาหารกลางวันและนมให้เด็กชั้นประถมศึกษาไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปรับใช้การทำฟาร์มอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรุ่นใหม่ รวมถึงคงนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคนที่วิจารณ์นายซูเบียนโตได้ยกประเด็นที่เขาถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและทรมาณนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 และละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดปาปัวและติมอร์ตะวันออก แต่ซูเบียนโตปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และเพื่อเป็นการเรียกเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่หลังจากที่ข้อมูลบอกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่าครึ่งเป็นคนยุค Millennials หรือ Gen Z เขาได้ปรับภาพลักษณ์ของตัวเองให้น่ารักขึ้น มีการยิงมุขตลกหรือท่าเต้นของเขาที่เป็นที่ฮือฮาในติ๊กต็อก ต่างจากในอดีตที่เขาขึ้นชื่อว่าเป็นคนฉุนเฉียว และการที่เขาขึ้นนำโด่งในโพลสำรวจบ่งชี้ว่าการรีแบรนด์ตัวเองของเขาได้ผล นายรอส แทปเซล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียน กล่าวว่า “ชัดเจนว่าทีมงานของซูเบียนโตพยายามวางตัวของเขาให้มีท่าทีที่อ่อนลง เพื่อพยายามเรียกคะแนนเสียงของคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกใคร ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่เราจะเห็นภาพเขาในมุมที่มีความชาตินิยมและประชานิยม หรือสนับสนุนศาสนาอิสลาม”

หลายคนอาจมองว่าอีกแรงหนุนที่ทำให้นายซูเบียนโตขึ้นเป็นตัวเต็งที่จะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เป็นเพราะผู้สมัครรองประธานาธิบดีของเขาคือลูกชายคนโตของประธานาธิบดีวิโดโด ซึ่งตัวของวิโดโดถูกนักวิจารณ์กล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยการปรากฎตัวหาเสียงให้กับซูเบียนโต ขณะไปร่วมงานของรัฐบาลและมีการทานอาหารร่วมกัน อีกทั้งผู้สมัครเลือกตั้งคนอื่นๆ ยังอ้างว่าหน่วยงานรัฐพยายามขัดขวางการหาเสียงและทำลายป้ายหาเสียงเลือกตั้งอีกด้วย แต่วิโดโดได้ปริ้นท์เอกสารกฎหมายเลือกตั้งให้แก่ผู้สื่อข่าวพร้อมกับบอกว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซียสามารถเข้าร่วมการหาเสียงได้ และสามารถเลือกสนับสนุนผู้สมัครคนใดได้ เพียงแต่ห้ามใช้สถานที่ทางราชการเท่านั้น

Advertisement

ผู้สมัครคนที่สองคือ นายกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าของจังหวัดชวากลาง วัย 55 ปี ตัวแทนจากพรรค Democratic Party of Struggle (พีดีไอ-พี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอินโดนีเซีย นายปราโนโวพยายามวางตัวเองให้เป็นคนติดดินและเป็นคนของประชาชน เขาชูนโยบายบนเวทีโต้วาทีว่าเขาจะดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาลประธานาธิบดีวิโดโดต่อไป และจะให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพโดยสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการป่วย และจะให้มีศูนย์การแพทย์อย่างน้อย 1 แห่งและเจ้าหน้าที่การแพทย์อย่างน้อย 1 คนในทุกๆ หมู่บ้าน ให้คำมั่นว่าจะสร้างงานใหม่จำนวน 17 ล้านตำแหน่ง ขยายสวัสดิการสังคมให้สามารถครอบคลุมได้ 15 ล้านครอบครัวเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 10 ล้านครอบครัว เพิ่มการทำงานของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่น เดินหน้าในเรื่องการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ต่อจากรัฐบาลวิโดโด และขยายการศึกษาขั้นสูงให้แก่ผู้ยากไร้

อย่างไรก็ตาม นายปราโนโวกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัด เพราะหลังจากที่วิโดโดหันไปช่วยนายซูเบียนโตหาเสียง ทำให้เขาต้องหาเสียงและมีท่าทีทางการเมืองแบบวิโดโดโดยที่ไม่มีวิโดโดคอยหนุนหลัง รวมถึงยังต้องเจอกับเสียงวิจารณ์เช่นกันระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าจังหวัดชวากลาง เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ที่ทำให้ชาวนาออกมาประท้วง

ผู้สมัครคนสุดท้ายที่มีคะแนนความนิยมสูสีกับนายปราโนโวคือ นายอานีส บาสเวดาน อดีตผู้ว่ากรุงจาการ์ตา วัย 54 ปี โดยเขามีจุดยืนที่ตรงข้ามกับวิโดโด เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ไม่รับปากว่าจะเดินหน้าโครงการย้ายเมืองหลวงของวิโดโดต่อไป หลังให้เหตุผลว่ายังมีประเด็นอื่นๆ ที่เร่งด่วนกว่าที่รัฐบาลควรพุ่งให้ความสนใจ และการลงทุนควรจะถูกกระจายออกไปยังบริเวณอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกว่านี้ นายบาสเวดานชูประเด็นเรื่องการกำจัดความไม่เท่าเทียมและไม่ยุติธรรม พร้อมบอกว่าตอนนี้มีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น เช่น คนที่อาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตาและนอกกรุงจาการ์ตา รวมถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน รวมถึงมีนโยบายอื่นๆ อาทิ เก็บภาษีความมั่งคั่งแก่ชาวอินโดนีเซียที่ร่ำรวยที่สุด 100 คนแรก เสนอสิ่งจูงใจให้แก่โครงการพลังงานทดแทน พัฒนาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และบทบาทของอินโดนีเซียในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งสร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัดจำนวน 2 ล้านหลัง และทบทวนหนี้สินของบริษัทรัฐวิสาหกิจและเดินหน้าเรื่องปรับโครงสร้างหนี้

ผู้สมัครทั้ง 3 คนมีหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง แต่บาสเวดานทำมากกว่านั้น คือการทำตามนักร้องวง k-pop และทำการไลฟ์สดขณะเดินทางบนรถยนต์ แจกโปสเตอร์และป้ายหาเสียง ขณะที่ผู้สนับสนุนของเขาได้ทุ่มเงินจ้างรถอาหาร หรือ food trucks ไปตามกิจกรรมหาเสียงอีกด้วย ถือเป็นการใช้อิทธิพลของ k-pop มาปรับใช้ในสนามการเมืองได้อย่างมีสีสัน

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเลือกตั้งของอินโดนีเซียกำหนดว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องมีคะแนนโหวตมากกว่า 50% จึงจะชนะการเลือกตั้ง แต่หากไม่มีใครได้คะแนนโหวตตามที่กำหนดไว้ จะมีการเลือกตั้งรอบที่ 2 ในเดือนมิถุนายน และผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงน้อยที่สุดจะถูกคัดออกจากการเลือกตั้งรอบตัดเชือก ผู้นำคนใหม่ของอินโดนีเซียคนต่อไปจะเป็นใคร และจะพาอินโดนีเซียไปในทิศทางใด สัปดาห์นี้รู้คำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image