โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : ‘ไบเดน vs ทรัมป์ ภาค 2’ แมตช์ล้างตาเลือกตั้ง ที่อเมริกันไม่อยากดู?

AFP

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: ‘ไบเดน vs ทรัมป์ ภาค 2’ แมตช์ล้างตาเลือกตั้ง ที่อเมริกันไม่อยากดู?

เรื่องราวที่น่าจับตามากที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นความคืบหน้าในสนามการเมืองสหรัฐ ที่มีการเลือกตั้งขั้นต้นครั้งสำคัญที่เรียกกันว่า “ซุปเปอร์ ทิวส์เดย์” ซึ่งจัดขึ้นใน 15 รัฐ และ 1 ดินแดน คือเขตปกครองอเมริกันซามัว

การเลือกตั้งขั้นต้นนี้จัดว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าใครมีแนวโน้มจะเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต เพื่อไปสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ นี่จึงเป็นโอกาสที่เราจะขอสรุปศึก ซุปเปอร์ ทิวส์เดย์ และผู้สมัครแต่ละคนมีจุดอ่อนอะไรที่พวกเขาต้องระวัง หากยังหวังที่จะคว้าเก้าอี้ผู้นำสหรัฐมาครอง

คู่รีแมตช์ในฝัน? ‘ทรัมป์-ไบเดน’

Advertisement

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 รัฐได้เดินทางมาลงคะแนนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม เพื่อเลือกผู้สมัครของทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ซึ่งผลออกมา ให้ภาพชัดเจนขึ้นตามคาดว่าคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในการเลือกตั้งปีนี้คือ แมตช์ล้างตาระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน และ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต โดยไบเดนกวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย ได้รับเสียงสนับสนุนไปมากกว่า 80% ในหลายรัฐ และกวาดชัยชนะในทุกสนามยกเว้นเขตปกครองอเมริกันซามัวเพียงแห่งเดียว

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวสหรัฐได้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไป ซุปเปอร์ ทิวส์เดย์ ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม (รอยเตอร์)

ด้านทรัมป์เองก็กวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลายเหนือ นางนิกกี้ เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาและอดีตเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรสหรัฐประจำสหประชาชาติในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ผู้เป็นคู่แข่งเพียงคนเดียวของทรัมป์ที่ยังเหลืออยู่ ในการแย่งตำแหน่งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน ทรัมป์คว้าชัยชนะ 14 จาก 15 รัฐ โดยเขาพ่ายแพ้ให้แก่นางเฮลีย์เพียงสนามเดียว คือรัฐเวอร์มอนต์ ซึ่งต่อมา เฮลีย์ก็ได้ประกาศถอนตัวจากการชิงตำแหน่งตัวแทนรีพับลิกันไปในวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

ถึงแม้จะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้จะเป็นคู่ชิงระหว่างทรัมป์และไบเดน แต่ไบเดนยังต้องได้รับการรับรองในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในช่วงกลางเดือนสิงหาคม เพื่อให้ได้เสียงรับรอง 1,968 เสียง ตามข้อกำหนดที่จะทำให้เขาเป็นตัวแทนเดโมแครตอย่างเป็นทางการ ซึ่งตอนนี้ไบเดนได้เสียงรับรองไปแล้ว 1,561 เสียง ขณะที่ทรัมป์ได้เสียงรับรองไปแล้ว 1,044 และยังขาดเสียงรับรองอีกไม่ถึง 200 เสียง เพื่อให้ได้ 1,215 เสียงตามที่ต้องการเพื่อให้เขาเป็นตัวแทนรีพับลิกันไปสู้ศึกเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

Advertisement

การรีแมตช์ระหว่างทรัมป์ในวัย 77 ปี และไบเดนในวัย 81 ปี ถือเป็นการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐด้วยคู่ชิงหน้าเดิมครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1956 แต่กลับเป็นคู่ท้าชิงที่ชาวอเมริกันหลายคนไม่ต้องการเห็น เพราะผลสำรวจความเห็นระบุว่าทั้งคู่มีคะแนนความนิยมที่ต่ำ ภายหลังจากที่เฮลีย์ถอนตัวจากการลงแข่งขันเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันสู้ศึกเลือกตั้ง ทั้งทรัมป์และไบเดนต่างออกมาโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุนของเฮลีย์หันมาเทคะแนนเสียงให้ตัวเอง เพราะผู้เชี่ยวชาญมองว่าถึงแม้เฮลีย์จะมีผู้สนับสนุนไม่มากพอที่จะทำให้เธอชนะทรัมป์ในการเลือกตั้งขั้นต้นในสนามต่างๆ ได้ แต่พวกเขา ซึ่งเป็นฐานเสียงสายกลางที่มีการศึกษาสูงและอาศัยอยู่ในย่านชานเมือง มีความสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ไม่น้อยในอดีตเช่นเดียวกับครั้งนี้

ผู้สนับสนุนของเฮลีย์ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือผู้ที่ไม่เคยชื่นชอบทรัมป์เลย, ผู้สนับสนุนสายอิสระ และผู้ที่แค่ชื่นชอบรีพับลิกันเท่านั้น ซึ่งโอกาสที่ผู้สนับสนุนของเฮลีย์จะหันไปเทคะแนนให้ไบเดนก็มีอยู่ไม่น้อย แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็บอกเช่นเดียวกันว่าผู้สนับสนุนเฮลีย์ที่ไม่ชอบทรัมป์ก็มีโอกาสที่จะไม่เทคะแนนให้ไบเดนเช่นกัน เพราะการเมืองสหรัฐในทุกวันนี้มีการแบ่งเป็นฝ่ายมากขึ้น เหตุการณ์แบบนั้นก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง เช่นหลังจากที่นางฮิลลารี คลินตัน พ่ายแพ้ให้แก่นายบารัค โอบามาในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในปี 2008 ผู้สนับสนุนของนางคลินตันเกือบ 1 ใน 3 บอกว่าจะไปเทคะแนนให้นายจอห์น แมคเคน ผู้สมัครจากรีพับลิกันแทน แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง 82% ของคนที่บอกเช่นนั้น หวนกลับไปเลือกนายโอบามาแทนจนสามารถคว้าเก้าอี้ผู้นำสหรัฐมาครองได้สำเร็จ

จุดอ่อน ‘ทรัมป์-ไบเดน’ ข้อกฎหมายและอายุที่มากเกินไป?

ทั้งทรัมป์และไบเดนต่างมีจุดอ่อนใหญ่ของตัวเองให้อีกฝ่ายคอยเล่นงานอยู่เสมอ ใครเปิดจุดอ่อนมากกว่าก็ยิ่งมีโอกาสโดนหมัดน็อคได้ง่ายๆ ปัญหาใหญ่สุดที่ทรัมป์กำลังเผชิญคงหนีไม่พ้นเรื่องคดีความ โดยเขาต้องเจอกับการดำเนินคดีอาญา 4 คดี มากถึง 91 กระทง ซึ่งคดีใหญ่ที่สุดคือเรื่องที่เขาพยายามล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 ที่เขาพ่ายให้แก่ไบเดน ซึ่งทรัมป์อ้างว่าเขามีเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีจากการที่เคยเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ทรัมป์พอมีความหวังหลังศาลสูงสุดของสหรัฐรับคำร้องที่จะพิจารณาตัดสินว่าเขามีเอกสิทธิคุ้มครองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยศาลจะเริ่มพิจารณาคำร้องของทรัมป์ในวันที่ 25 เมษายนนี้ ซึ่งจะทำให้ทรัมป์อาจซื้อเวลาออกไปได้อีกจนถึงวันเลือกตั้ง

แต่อีกมุมของเวทีประลองคือ ประธานาธิบดีไบเดน ที่มีจุดอ่อนใหญ่ให้เล่นงานคือ เรื่องอายุ โดยขณะนี้ไบเดนมีอายุ 81 ปีแล้ว และเขาจะมีอายุมากถึง 86 ปี หากเขาหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 หากเขาชนะการเลือกตั้งในปีนี้

โพลสำรวจความคิดเห็นของสำนักข่าวเอพีที่ทำร่วมกับ NORC Center for Public Affairs Research ระบุว่า ชาวอเมริกันวัยทำงานที่ตอบแบบสอบถามกว่า 6 ใน 10 (63%) ไม่เชื่อว่าไบเดนจะมีสมรรถภาพดีพอที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ไบเดนจะย้อนอายุตัวเองให้กลับมาหนุ่มอีกครั้งไม่ได้ แต่เขาจะต้องทำให้ผู้สนับสนุนของตัวเองและเฮลีย์ที่กำลังลังเลเชื่อว่าเขายังฟิตพอที่จะเป็นผู้นำประเทศต่อไปอีก 4 ปี แม้ว่าทรัมป์จะมีอายุน้อยกว่าไบเดน 4 ปีก็ตาม และถึงแม้อัตราการว่างงานของสหรัฐจะต่ำ ตลาดหุ้นสหรัฐยังคึกคัก และอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลง แต่โพลสำรวจของเอพีบอกว่ามีชาวอเมริกันวัยทำงานเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่บอกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐดีขึ้นกว่าช่วงก่อนที่เขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ รวมถึงชาวอเมริกันหลายคนไม่พอใจการรับมือของรัฐบาลสหรัฐในประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันหลายคนก็กังวลเกี่ยวกับอายุของทรัมป์ไม่ต่างจากไบเดน ผู้ตอบแบบสอบถาม 57% บอกว่าทรัมป์ไม่มีสมรรถภาพดีพอจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐเช่นกัน

โพลสำรวจของ Morning Consult เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ระบุว่า ชาวอเมริกัน 19% ไม่อยากลงคะแนนให้กับทั้งทรัมป์และไบเดน ถึงขนาดที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่าพวกเขาอาจยอมอยู่บ้านและไม่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเลยด้วยซ้ำ เพราะนี่คือแมตช์ที่ไม่มีใครอยากดู ตามความเห็นของนายเควิน แมดเดน นักยุทธศาสตร์ของพรรครีพับลิกัน ในเมื่อสัดส่วนของผู้ที่ไม่ต้องการเลือกทรัมป์และไบเดนมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทั้งสองคนอาจเจอกับปัญหาใหญ่ที่เรียกว่า “ผู้สมัครเลือกตั้งคนที่ 3” หรือ ผู้สมัครอิสระ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าผู้สมัครคนดังกล่าวอาจเป็น นายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ผู้เป็นหลานชายของนายจอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 35 จากพรรคเดโมแครตที่ถูกลอบสังหารในปี 1963

นายคีธ นาฮิเกียน ผู้ให้คำปรึกษาทางการเมืองที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐ กล่าวว่า “โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ จะสร้างปัญหาให้แก่ทรัมป์และไบเดน เพราะทำให้เหล่าโหวตเตอร์มีตัวเลือกมากขึ้นหากไม่ต้องการที่จะลงคะแนนให้ทั้งสอง ขึ้นอยู่กับว่าทั้งทรัมป์และไบเดนจะรักษาฐานเสียงของตัวเองไว้ได้มากแค่ไหน”

การรีแมตช์ระหว่างทรัมป์และไบเดนยังอยู่ห่างไปอีก 8 เดือนข้างหน้า และผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยว่าตอนนี้ยังเร็วไปที่จะตัดสินว่าชาวอเมริกันสายกลางจะเลือกใคร “คำตอบที่แท้จริงในทุกคำถามคือการเลือกตั้งนี้จะสูสีมากๆ และเราไม่รู้เลยว่าใครจะชนะ” นายแมดเดนกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image