ย้อนมอง 2 ปี IPEF ความคืบหน้าที่น่าจับตามอง

นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามในความตกลง IPEF เสาที่ 2 ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ย้อนมอง 2 ปี IPEF ความคืบหน้าที่น่าจับตามอง

ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF ก็จะมีอายุครบ 2 ปี นับจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ประกาศเปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวระหว่างการเดินทางเยือนญี่ปุ่นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565
ในเวลานั้นมีคำถามมากมายเกี่ยวกับ IPEF ตั้งแต่ข้อสงสัยที่ว่ากรอบความร่วมมือดังกล่าวคืออะไร และความร่วมมือใหม่นี้จะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในเพิ่มพูนหรือส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า IPEF ไม่ใช่ความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA และไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการเปิดตลาดอยู่ด้วย

๐IPEF คืออะไร

ต้องบอกว่า IPEF คือความร่วมมือรูปแบบใหม่ที่สหรัฐริเริ่มขึ้นเพื่อขยายบทบาททางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือ TPP ในปี 2017 ทั้งที่ TPP เป็นข้อริเริ่มของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ถูกมองว่ามีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มบทบาทและน้ำหนักทางเศรษฐกิจของสหรัฐในภูมิภาค และเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีน แต่การถอนตัวจาก TPP ที่เป็นข้อเสนอของอดีตผู้นำสหรัฐเองก็ทำให้สหรัฐต้องตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้ากับภูมิภาคแปซิฟิก

ข้อเสนอของสหรัฐเกี่ยวกับ IPEF มีขึ้นหลังจากที่โลกได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกประสบปัญหาจากการที่บางประเทศโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นดั่งโรงงานผลิตที่สำคัญของโลกตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาดำเนินนโยบายคุมเข้มโควิดเป็นศูนย์ ข้อเสนอของสหรัฐที่จะลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนจึงมาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

Advertisement

หลายประเทศไม่ว่าจะสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และประเทศอื่นๆ ต่างต้องหันมาเพิ่มความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานของตนโดยไม่พึ่งพาเพียงแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องกระจายแหล่งผลิตให้มีความหลากหลาย การดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐและชาติตะวันตกเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด friend-shoring ในการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อกัน แต่แน่นอนว่าก็มาพร้อมกับการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงขึ้นทุกขณะด้วย

ปัจจุบัน IPEF มีสมาชิก 14 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ อินเดีย ฟิจิ และสมาชิกอาเซียนอีก 7 ประเทศคือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ซึ่งสมาชิกทั้งหมดมีประชากรราวร้อยละ 60 ของประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันราวร้อยละ 40 ของจีดีพีโลก

๐ความคืบหน้าของ IPEF

Advertisement

IPEF ผลักดันความร่วมมือภายใต้ 4 เสาหลัก ประกอบด้วย เสาที่ 1 การค้า (Trade) เสาที่ 2 ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เสาที่ 3 เศรษฐกิจสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Clean Economy) และ เสาที่ 4 เศรษฐกิจที่เที่ยงธรรม (Fair Economy) ในแต่ละเสาก็มีรายละเอียดมากมายที่จะทยอยหยิบยกมาเล่าให้ฟังกันต่อไป

กว่า 2 ปีของการเจรจาเพื่อจัดทำเอกสารความตกลงสำหรับเสาหลักทั้ง 4 ด้านของ IPEF มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดยเสาที่ 1 ในเรื่องการค้า ยังมีประเด็นติดค้างมากที่สุด มีบางเรื่องที่เจรจาจบแล้ว บางเรื่องก็มีความก้าวหน้า แต่บางเรื่องก็อาจไม่ก้าวหน้าเท่าใดนัก อย่างประเด็นในเรื่องแรงงานและสิ่งแวดลล้อม ซึ่งจะต้องมีการหารือกันต่อไปในปีนี้

ในเสาที่ 2 ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุด ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานไปแล้ว ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนปีก่อน ที่นครซานฟรานซิสโกของสหรัฐ ขณะนี้มีชาติสมาชิก 5 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว ซึ่งสำหรับทั้ง 5 ประเทศดังกล่าว ความตกลงในเสา 2 จะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศอื่นๆ ที่เหลือซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบัน รวมถึงประเทศไทย ในระหว่างนี้ทั้ง 5 ประเทศดังกล่าวก็จะแต่งตั้งผู้แทนเป็นองค์ประกอบในกลไกต่างๆ ให้แล้วเสร็จ และดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ รวมถึงจัดการแนวทางสำหรับการปฏิบัติงานต่างๆ ต่อไป ซึ่งได้มีการวางกรอบเวลาของกระบวนการทั้งหมดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ขณะที่ในส่วนของเสาที่ 3 และ 4 การสรุปสาระสำคัญของเจรจาก็จบไปแล้วเช่นกัน ขณะนี้อยู่ในกระบวนการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย โดยคาดว่าน่าจะลงนามได้การประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ที่จะจัดขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

๐สิ่งที่น่าสนใจใน IPEF

หนึ่งในประเด็นที่ทำให้ IPEF น่าสนใจคือการที่ฝ่ายสหรัฐได้ดึงเอาภาคเอกชนของตนให้มาเข้าร่วมกับข้อริเริ่มนี้ ทั้งยังชวนกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิก IPEF สามารถจับคู่โครงการพัฒนาของตนเองเข้ากับเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐจะช่วยพัฒนาข้อเสนอเพื่อให้ดึงดูดภาคเอกชนสหรัฐ

นอกจากนี้ยังมีข้อริเริ่มอีกหลายอย่างเพื่อช่วยผลักดันให้ IPEF เกิดผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรม อย่างโครงการ Upskilling Initiatives ที่มีการดึงเอาภาคเอกชนสหรัฐ 14 บริษัท ประกอบด้วย Amazon Web Services, Apple, Cisco, Dell, Google, HP, IBM, Mastercard, Microsoft, Paypal, Salesforce, Visa, American Tower และ Edelman มาช่วยเสริมขีดความสามารถให้กับประเทศเศรษฐกิจใหม่หรือประเทศรายได้ปานกลางที่เป็นสมาชิก 8 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย โดยจะมีการฝึกอบรมด้านดิจิทัลสำหรับเด็กและสตรี 7 ล้านคนภายในปี 2565-2575

การจัดตั้งกองทุน IPEF Catalytic Capital Fund เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้เสาที่ 3 ด้านเศรษฐกิจสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยดึงดูดการร่วมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีเงินทุนระยะเริ่มต้น 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,080 ล้านบาท โดยในอนาคตจะมีการระดมทุนจากภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยสนับสนุนการลงทุนในโครงการต่างๆ ต่อไป

หรือข้อริเริ่ม Partnership for Global Infrastructure and Investment (PGI) IPEF Investment Accelerator ที่สหรัฐได้เสนอให้ระดมทุนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและมีมาตรฐานสูงในภูมิภาค

๐ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

สิ่งที่หลายๆ คนอาจสงสัยคือ เมื่อ IPEF ไม่ใช่ FTA อย่างที่เราคุ้นเคยกันมาก่อน แล้วจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วมกับความริเริ่มดังกล่าว และมันจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสใดๆ จากข้อกำหนดต่างๆ ที่มีอยู่ในนั้นหรือไม่?

อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากข้อมูลต่างๆ ข้างต้นที่แม้จะเป็นเพียงบางส่วนไม่ใช่รายละเอียดทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่า IPEF ย่อมต้องมีประโยชน์กับไทยอย่างแน่นอน เพราะ IPEF จะทำให้ไทยมีส่วนในการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบในภูมิภาค มีการยกระดับมาตรฐานด้านต่างๆ ในการดำเนินเศรษฐกิจของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานร่วมนี้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ไทยจะถูกกีดกันทางการค้า ทั้งยังเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยไปพร้อมๆ กัน

ขณะที่บริษัทของไทยก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการดึงดูดการลงทุนเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

จริงอยู่ที่ IPEF ไม่ใช่การเปิดตลาดเหมือน FTA แต่จะเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าและการลงทุนใหม่ๆ รวมถึงมีการกำหนดมาตรฐานในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน เมื่อเทียบกับการเจรจา FTA ซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ มากมายแล้วก็น่าจะทำให้คนทั่วไปรู้สึกคนเบาใจได้มากกว่า

รายละเอียดเพียงบางส่วนที่นำมาบอกเล่าให้ทราบกันก็พอจะทำให้มองห็นแล้วว่า ที่สุดแล้ว IPEF จะกลายเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะมีประโยชน์ต่อภูมิภาคและต่อไทย

เจตจำนงของสหรัฐที่เสนอ IPEF นอกจากจะลดทอนการพึ่งพาและอิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังเป็นความพยายามในการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจ IPEF ยังเป็นช่องทางในการขายเทคโนโลยีต่างๆ ของสหรัฐ และขยายการค้าการลงทุนของสหรัฐในภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการสร้างทางเลือกให้กับประเทศต่างๆ มากขึ้นตามไปด้วย

ที่สำคัญคือท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับมาตรฐานให้เข้ากับโลกเป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างต่อเนื่อง และท่ามกลางการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ หนึ่งในสิ่งที่ไทยต้องทำให้ได้คือการสร้างสมดุลในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างชาติมหาอำนาจต่างๆ การเข้าร่วมกับ IPEF ของไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสมดุลนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศว่า นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ จะนำคณะสภาส่งออกของประธานาธิบดี (PEC) เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคมนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการเยือนฟิลิปปินส์

ผู้ร่วมคณะดังกล่าวเป็นผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนจากองค์กร สถานศึกษา และบริษัทด้านต่าง ๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ยาและเวชภัณฑ์ สายการบิน พลังงาน ก่อสร้าง โดยระหว่างที่ไรมอนโดยอยู่ในไทยจะมีการจัดประชุมออนไลน์รัฐมนตรี IPEF ขึ้น ซึ่งจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ครั้งแรกของปีนี้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image