โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: ส่องสนามเลือกตั้งรัสเซีย ‘ปูติน’ ฉลุยกระชับอำนาจ

AP

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: ส่องสนามเลือกตั้งรัสเซีย ‘ปูติน’ ฉลุยกระชับอำนาจ

หากยังจำกันได้ รายงานโฟกัสโลกรอบสัปดาห์ฉบับที่แล้วจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าผู้ชนะจะเป็นใคร แต่รายงานโฟกัสโลกฉบับนี้จะข้ามมาดูการเลือกตั้งประเทศขั้วตรงข้ามของสหรัฐอย่าง “รัสเซีย” ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 15-17 มีนาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงเดาได้ว่าผู้ชนะคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก นายวลาดิมีร์ ปูติน ที่ครองอำนาจในรัสเซียมานาน 24 ปี และคาดว่าจะนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปจนถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียที่ทุกคนเดาผลได้แม้ยังไม่เริ่มเปิดหีบนี้เป็นอย่างไร และรัสเซียหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ภายใต้การนำของผู้นำคนเดิมอย่างปูติน?

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียจะมีขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ต่างจากปกติที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นเพียง 1 วัน นอกจากนั้นแล้วนี่ยังเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งแรกที่เปิดให้มีการลงคะแนนแบบออนไลน์ใน 27 ภูมิภาคของรัสเซียและแคว้นไครเมียที่รัสเซียยึดครองมาจากยูเครนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว รวมถึงยังมีการตั้งคูหาเลือกตั้งในแคว้นโดเนตสค์ ลูฮานสค์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน ที่ถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งจากยูเครนในการทำประชามติ ถึงแม้ว่ารัสเซียจะไม่ได้ยึดครองพื้นที่ของทั้ง 4 แคว้นทั้งหมดแบบ 100% ตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัสเซียมีจำนวนทั้งสิ้น 112.3 ล้านคน ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีรัสเซียในครั้งนี้ ได้แก่ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียวัย 71 ปี ที่ลงเลือกตั้งในนามอิสระ และหวังที่จะเป็นประธานาธิบดีรัสเซียต่อไปในสมัยที่ 5

ปูตินครองอำนาจในรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2000 ถือเป็นผู้นำรัสเซียที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่โจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการของสหภาพโซเวียต ผู้สมัครคนอื่นๆ ได้แก่ นายนิโคไล คาริโตนอฟ จากพรรคคอมมิวนิสต์ นายเลโอนิด สลุตสกี จากพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่มีจุดยืนชาตินิยม และ นายวลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ จากพรรคประชาชนใหม่ ถึงแม้ผู้สมัครจะมาจากหลากหลายพรรคการเมือง แต่ทุกคนมีหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทุกคนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลรัสเซียของปูติน รวมถึงการทำสงครามกับยูเครน

Advertisement
นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (รอยเตอร์)

นั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด เพราะทางการรัสเซียได้สกัดคู่แข่งคนอื่นๆ ของปูตินไว้หมดแล้ว เช่น นายบอริส นาเดซดิน นักการเมืองสายเสรีนิยมที่มีนโยบายยุติสงครามกับยูเครนซึ่งเรียกเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แต่ถูกห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้งหลังเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศว่าหลายลายเซ็นที่เขารวบรวมเพื่อลงสมัครเลือกตั้งนั้นไม่ถูกต้อง ขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านคนอื่นๆ ก็ไม่มีชื่ออยู่ในบัตรเลือกตั้งเช่นกัน เพราะหากพวกเขาไม่ถูกจำคุกก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดคือเสียชีวิต ดังเช่น นายอเล็กซี นาวัลนี ผู้นำฝ่ายค้านที่ถือเป็นศัตรูคนสำคัญของประธานาธิบดีปูตินที่เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาหลังถูกจำคุก 19 ปีในข้อหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง

ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในครั้งนี้จะไม่เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม หลายคนวิจารณ์การที่รัสเซียขยายเวลาในการเลือกตั้งจาก 1 วันเป็น 3 วัน รวมถึงเปิดให้มีการลงคะแนนออนไลน์ได้ เป็นการทำลายความโปร่งใสของการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ในปี 2021 บรรดาฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลรัสเซียบอกว่าการเลือกตั้งรัฐสภาแบบออนไลน์มีสัญญาณของการใช้กลวิธีที่มุ่งปรับแก้ผลการลงคะแนนของประชาชน เช่น มีการบังคับประชาชนให้ไปลงคะแนนหรือ “ยัดไส้” บัตรลงคะแนนในหีบเลือกตั้ง ส่วนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในปี 2018 หน่วยงานขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) บอกว่าปูตินชนะการเลือกตั้งแบบไม่มีคู่แข่งคนสำคัญเลย หลังในการเลือกตั้งดังกล่าว คู่แข่งคนสำคัญของปูตินอย่างนาวัลนีถูกห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้ง อีกทั้งยังเต็มไปด้วยการปกปิดเสียงวิจารณ์ นอกจากนั้นแล้วนับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากทำสงครามกับยูเครนในปี 2022 รัสเซียยังประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่เพื่อปราบปรามการประท้วงต่อต้านการทำสงครามยูเครนและวิจารณ์กองทัพ ทำให้การจับกุมนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่นักเคลื่อนไหวบอกว่าโทษจำคุกของรัสเซียยังยาวนานขึ้นอีกด้วยเมื่อเทียบกับก่อนปี 2022 ทั้งยังมีการปิดเว็บไซต์สำนักข่าวอิสระ ทำให้พวกเขาต้องย้ายสำนักงานไปต่างประเทศ

ส่วนคำถามที่ว่ารัสเซียหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร คาดการณ์ว่าปูตินจะใช้ชัยชนะของเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ประชาชนสนับสนุนการทำสงครามกับยูเครนอย่างท่วมท้น หลายคนยังมองว่าปูตินจะมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นและยกระดับการทำสงครามกับยูเครน บางส่วนมองว่าทางการรัสเซียอาจเรียกระดมกำลังพลสำรองอีกครั้ง อีกทั้งเครมลินอาจเพิ่มวาทกรรมว่ารัสเซียกำลังเผชิญกับการรุกรานจากชาติตะวันตก และมีโอกาสที่รัสเซียจะยกระดับการปราบปรามนักเคลื่อนไหวและนักวิจารณ์การทำสงครามของรัสเซีย นโยบายต่างประเทศของรัสเซียก็อาจแข็งกร้าวขึ้นเช่นกันในช่วงหลังการเลือกตั้ง รวมถึงอาจใช้ข้อมูลที่บิดเบือนและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเพิ่มรอยร้าวระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีน อินเดีย และประเทศโลกใต้จะมีทิศทางดีขึ้นต่อไป

Advertisement

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐได้เสนออีกแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ยังไม่มีสัญญาณว่าปูตินจะเริ่มวางผู้สืบทอดอำนาจคนต่อไปและคนใกล้ชิดของปูตินยังไม่ได้วางแผนอนาคตหากไม่มีผู้นำที่ชื่อปูติน แม้ว่าเขาจะมีอายุ 71 ปีและครองอำนาจในรัสเซียมานานถึง 24 ปีแล้วก็ตาม จริงอยู่ที่เรื่องนั้นยังไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนเพราะแม้ปูตินจะอายุ 71 ปีแต่สุขภาพเขาก็ยังดูแข็งแรงดี ถึงกระนั้นเรื่องผู้สืบทอดอำนาจต่อจากปูตินก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะระบบของรัสเซียในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของปูตินมีความเปราะบาง มีความเป็นชราธิปไตย หมายความว่ารัฐบาลรัสเซียปกครองโดยคนสูงอายุ จนมีคำถามว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับปูตินอย่างกระทันหัน ผู้นำรัสเซียคนต่อไปจะเป็นใคร

นายมิคาอิล มิซูสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย (รอยเตอร์)

แน่นอนว่ารัฐบาลรัสเซียมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับลำดับการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้แล้ว หากปูตินเสียชีวิตหรือไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกต่อไป ประธานรัฐบาลซึ่งขณะนี้เป็นของ นายมิคาอิล มิซูสติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียชั่วคราว แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้สังเกตการณ์มองว่ากลุ่มวงในของปูตินเป็นเหมือนโปลิตบูโรที่สามารถจัดการเรื่องหาผู้สืบทอดคนต่อไปได้ ในอดีตรัสเซียเคยมอบตำแหน่งผู้นำประเทศให้แก่คนอื่นนอกจากปูตินมาแล้ว เช่นในปี 2008 ที่ปูตินดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียมาครบ 2 สมัยและหลีกทางให้นายดมิทรี เมดเวเดฟ ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียแทนเขา แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่คุมอำนาจสูงสุดยังคงเป็นปูติน แม้เขาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ตาม และกลับขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2012 ผู้สังเกตการณ์การเมืองรัสเซียบางคนให้ความเห็นว่าผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำรัสเซียต่อจากปูตินอาจปรากฎให้เห็นในช่วงทศวรรษที่ 2030 และอาจเป็นคนที่คอยสร้างฐานเสียงสนับสนุนอย่างเงียบๆ เพื่อรอวันที่ปูตินจะประกาศวางมือ

แต่ไม่ว่าผู้สืบทอดของปูตินในตอนนั้นจะเป็นใคร การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในครั้งนี้ ผู้ชนะคงหนีไม่พ้นชายที่ชื่อ วลาดิมีร์ ปูติน อย่างไม่พลิกโผแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image