โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : เปิดชีวิต LGBTQ+ ทูตอังกฤษ ‘มาร์ค กูดดิ้ง’ คุยออกรส ‘สมรสเท่าเทียม’

นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: เปิดชีวิต LGBTQ+ ทูตอังกฤษ ‘มาร์ค กูดดิ้ง’ คุยออกรส ‘สมรสเท่าเทียม’

กฎหมายสมรสเท่าเทียม คือประเด็นที่มีการพูดคุยในสังคมไทยมานานหลายปีแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการถกเถียงเกี่ยวกับตัวกฎหมายนี้มากขึ้น เพราะหลายคนรวมถึงชาว LGBTQ+ ในไทยจำนวนมาก ได้จับตาไปที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 2-3 ในวันที่ 27 มีนาคม ขณะที่ในสัปดาห์เดียวกัน ประเทศอังกฤษได้ครบรอบ 10 ปีที่มีการจัดพิธีแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มีนาคม 2014 เนื่องในโอกาสพิเศษนี้ นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้เปิดทำเนียบทูตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สื่อมวลชนรวมถึง มติชน ได้สัมภาษณ์พิเศษพร้อมกับ ดร.คริสโตเฟอร์ แมคคอร์มิค คู่สมรสของเอกอัครราชทูตกูดดิ้ง ที่ถือเป็นการเปิดตัวต่อสื่อเป็นครั้งแรก เพื่อเจาะลึกเรื่องกฎหมายสมรสเพศเดียวกันของอังกฤษ โอกาสความเป็นไปได้ที่ไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชาติแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งเล่าชีวิตของการเป็นเอกอัครราชทูต LGBTQ+ ในไทย

  • อยากให้เล่าประสบการณ์ของอังกฤษในการมีกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน และกฎหมายนี้เปลี่ยนแปลงสังคมอังกฤษอย่างไรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นี่เป็นสัปดาห์ที่สำคัญมาก เพราะวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม ถือเป็นการครบรอบ 10 ปีที่สหราชอาณาจักรมีการจัดพิธีแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นครั้งแรก ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรมีความคืบหน้าอย่างมากในด้านสิทธิของชาว LGBTQ+ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการประกาศไม่ให้การรักร่วมเพศเป็นอาชญากรรมในช่วงทศวรรษที่ 1960 ไปจนถึงการปรับอายุขั้นต่ำของความยินยอมของกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันให้เท่ากับอายุของคนรักต่างเพศ ในทศวรรษที่ 1990 ฯลฯ เราเริ่มต้นโดยการมีกฎหมายคู่ชีวิต (civil union) ที่หมายถึงการครองคู่ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย คล้ายกับคู่ที่จดทะเบียนแต่งงาน ในปี 2005 ตามจริงแล้ว ผมกับคริสเป็นหนึ่งในคู่รักคู่แรกในอังกฤษที่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายคู่ชีวิต หลังจากที่กฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้แค่ 3 วัน แต่ต่อมาอังกฤษก็ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันที่ 17 กรกฎาคม 2013 และมีพิธีแต่งงานของคนเพศเดียวกันครั้งแรกในวันที่ 29 มีนาคม 2014 นี่คือผลของการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของชาว LGBTQ+ ที่มีมานานหลายปีจากทั้งบุคคลและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

Advertisement

ผมขอเล่าอีกว่าไม่นานก่อนที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะได้รับการผ่านให้เป็นกฎหมายในอังกฤษ โพลสำรวจความคิดเห็นส่วนใหญ่ในตอนนั้นชี้ว่าชาวอังกฤษส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนกฎหมายนี้ แต่ต่อมาเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ สังคมอังกฤษก็เปลี่ยนไป เห็นได้จากโพลสำรวจล่าสุดเมื่อปีที่แล้วที่บอกว่าชาวอังกฤษ 80% สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม นี่คือตัวอย่างของความพยายามของรัฐบาลและรัฐสภาอังกฤษในขณะนั้นที่ออกมาเป็นผู้นำในการมอบสิทธิความเท่าเทียมให้แก่ชาว LGBTQ+ และอังกฤษมีความภูมิใจที่จะเป็นผู้นำในด้านสิทธิ LGBTQ+ และต้องการที่จะเห็นสังคมชาว LGBTQ+ ในทั่วโลกได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

  • อยากให้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของการเป็นเอกอัครราชทูตที่เป็นเกย์ในไทย ว่าแตกต่างกับประเทศอื่นหรือทูตคนอื่นอย่างไร

ชีวิตของผมในการเป็นเอกอัครราชทูตที่เป็นเกย์ในประเทศไทยไม่ได้ต่างจากชีวิตของเอกอัครราชทูตคนอื่นๆ เลย (หัวเราะ) ทุกวันผมจะทำงานเพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอังกฤษ ทำงานในเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยว แต่เรื่องต่อมาที่ผมอยากพูดถึงคือ รัฐบาลอังกฤษต้องการให้เราเป็นตัวแทนของพวกเขาในทั่วโลก และเราก็เป็นตัวแทนของสังคมอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่ามีคู่รัก LGBTQ+ หลายคู่ ดังนั้นเราจึงสนับสนุนเอกอัครราชทูตที่เป็น LGBTQ+ อย่างหนักแน่น นี่คืออังกฤษในปัจจุบัน เราเป็นสังคมที่มีความหลากหลายที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ผมคิดว่าผมมีความรับผิดชอบพิเศษในแง่ของการเป็นตัวแทนของชุมชนชาว LGBTQ+ ในอังกฤษและเป็นตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษอีกด้วย เราสนับสนุนกิจกรรมของชาว LGBTQ+ ทั่วโลก เราสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของสังคมที่มีความหลากหลายในทั่วโลก การทำธุรกิจของกลุ่มที่มีความหลากหลาย ส่วนตัวผมมีความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ดร.แมคคอร์มิค: ผมขอเล่าเสริมว่า ไม่ว่าเราจะไปประจำในประเทศใด เราก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นอยู่แล้ว มันไม่สำคัญเลยว่าเราสองคนจะเป็นอย่างไร ทุกคนปฏิบัติกับเราอย่างดี โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเรามีประสบการณ์ที่ดีระหว่างอยู่ที่นี่ ผมคิดว่าบางครั้งพวกเขามีความประหลาดใจอยู่บ้างเมื่อรู้ว่าเราสองคนเป็นคู่สมรสกัน เพราะไม่คุ้นชินกับการเห็นคนที่ดำรงตำแหน่งทางการทูตที่เป็น LGBTQ+ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะผมคิดว่ามันสำคัญที่การที่มีผู้แทนประเทศที่เป็นแบบเราก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอังกฤษยุคใหม่

Advertisement

  • เอกอัครราชทูตกูดดิ้งมีความเห็นอย่างไรถึงความคืบหน้าและโอกาสความเป็นไปได้ที่ไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

รัฐบาลอังกฤษมีความชัดเจนว่าเราสนับสนุนการสมรสเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก สิทธิ LGBTQ+ คือสิทธิของมนุษย์ และชุมชน LGBTQ+ ทั่วโลกกำลังต้องการความเท่าเทียม ดังนั้นเราเชื่อว่าการสมรสเท่าเทียมจะนำมาซึ่งสิ่งนั้นได้ เพราะมันจะเปิดทางให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิในเรื่องต่างๆ เช่น ภาษี สวัสดิการต่างๆ สินทรัพย์ หรือเรื่องการรักษาสุขภาพ สังคมที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกันคือ “สังคมที่แข็งแรง” และกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องนั้น ส่วนคำถามที่ว่าไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเร็วๆ นี้หรือไม่ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันในไทยมาหลายปีแล้ว แต่ตอนนี้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ของไทยสนับสนุนกฎหมายนี้อย่างชัดเจน คุณเศรษฐาก็เคยมาร่วมกิจกรรม Pride ที่สถานทูตอังกฤษและสหรัฐร่วมกันจัดด้วยปีที่แล้วก่อนที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และยิ่งตอนนี้สภาผู้แทนราษฎรของไทยก็สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงมีแรงสนับสนุนในไทยมากขึ้น ดังนั้นผมก็หวังว่ากฎหมายนี้จะเดินหน้าต่อไปได้

  • ทูตกูดดิ้งอยากเห็นอะไรในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และไทยจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดบ้างจากประสบการณ์ของอังกฤษที่มีกฎหมายดังกล่าวแล้ว

สำหรับเรื่องนี้ผมคิดว่ามี 2 ประเด็นที่สำคัญนะ อย่างแรกคือเรื่องกฎหมาย ตัวกฎหมายสมรสเท่าเทียมคือก้าวที่สำคัญในตัวของมันเอง และสมาชิกรัฐสภาของไทยจะต้องใช้เวลาในการร่างกฎหมายให้สมบูรณ์ ประการที่สองคือผมคิดว่าทั้งไทยและอังกฤษควรแบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละฝ่ายในด้านต่างๆ มากขึ้น เพราะการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมดไปทั้งหมด เช่น ในอังกฤษยังพบเห็นการเลือกปฏิบัติอยู่บ้าง และยังมีความท้าทายในเรื่องสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อชาว LGBTQ+ หรือการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เรื่องเหล่านี้ต้องการการยื่นมือช่วยเหลือจากทั้งรัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ผมไม่ได้บอกว่าอังกฤษมีแนวทางแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบในเรื่องเหล่านี้ แต่นี่คือความท้าทายที่ทุกคนกำลังเผชิญ ดังนั้น ผมคิดว่าไทยและอังกฤษควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเหล่านี้

สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกขององค์กรที่ชื่อ Equal Rights Coalition ซึ่งมีกว่า 40 ประเทศและองค์กรสิทธิของพลเมืองกว่า 100 แห่งร่วมเป็นสมาชิกด้วย Equal Rights Coalition ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในประเด็นเหล่านี้ ผมจึงหวังว่าวันหนึ่งไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับเราด้วย

  • อยากทราบความเห็นเกี่ยวกับสิทธิของชาว LGBTQ+ ในไทยขณะนี้

ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอยู่แล้วในเรื่องความเป็นสังคมที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกัน ไทยขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นประเทศที่ยอมรับชาว LGBTQ+ อย่างมากอยู่แล้ว ซึ่งอันที่จริงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงกับโฆษณาว่าไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่เปิดรับนักท่องเที่ยว LGBTQ+ อีกด้วย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าไทยมีชื่อเสียงที่ดีอยู่แล้วในเรื่องนี้ และสำหรับสังคมไทยแล้ว อันนี้พูดจากประสบการณ์ส่วนตัวของเรา เราไม่เคยเจอกับปัญหาอะไรเลยระหว่างอยู่ที่นี่ เราได้รับการต้อนรับและการยอมรับที่ดีจากหลายคนซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านจากรัฐบาลในด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสมรสเท่าเทียมหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นงานในด้านกฎหมาย รวมถึงยังมีความท้าทายที่ชาว LGBTQ+ ในไทยต้องเผชิญไม่ต่างจากในอังกฤษ เช่นการเลือกปฏิบัติหรือการกลั่นแกล้งหรือการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ปัญหาเช่นนี้ต้องใช้เวลาในการแก้ไข แต่ผมคิดว่าสำหรับเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ประเทศไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ก่อนที่จะปิดท้ายการสัมภาษณ์พิเศษ เอกอัครราชทูตกูดดิ้งยังให้ความเห็นถึงวิธีที่จะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ต่อชาว LGBTQ+ ในไทย ว่าการเห็นดาราที่เป็น LGBTQ+ บนจอโทรทัศน์ก็มีส่วนช่วย แต่ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ต้องทำให้แน่ใจว่าระบบการศึกษามีความตระหนักถึงวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง และรัฐบาลต้องสร้างความตระหนักรู้ภายในรัฐบาลอย่างทั่วถึง นอกจากนั้น การมีผู้แทนเช่น ทูตหรือส.ส. ที่เป็น LGBTQ+ ก็ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นการตระหนักรู้เช่นกัน

จนถึงตอนนี้ หลายคนคงทราบแล้วว่าสภาผู้แทนราษฎรของไทยได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หลังได้รับเสียงสนับสนุนในสภาอย่างท่วมท้น ท่ามกลางความยินดีของชาว LGBTQ+ ที่จะเห็นไทยเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม อย่างที่เอกอัครราชทูตกูดดิ้งกล่าว ว่าความท้าทายข้างหน้ายังคงมีอีกมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมคือ ก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขไม่ว่าวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางเพศจะเป็นอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image