ที่มา | หนังสือพิมพ์ มติชน |
---|---|
ผู้เขียน | ศุภวิชญ์ เจียรรุ่งแสง |
เผยแพร่ |
โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: ‘ทรัมป์’ ทำหมัน USAID กระทบปชช.สะเทือนโลก
หนึ่งในสิ่งแรกหลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐทำในวันเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา คือลงนามคำสั่งระงับความช่วยเหลือต่างชาติเกือบทั้งหมดของสหรัฐเป็นเวลา 90 วัน และพุ่งเป้าปิดสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ หรือ USAID ที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่า USAID เป็นองค์กรที่ไร้ความสามารถและทุจริต
ขณะที่ทรัมป์หันไปมุ่งให้ความสำคัญกับปัญหาภายในประเทศสหรัฐ การทำให้พรมแดนสหรัฐมีความเข้มแข็งจากผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติด รวมถึงการทำสงครามการค้า แต่ความพยายามของทรัมป์ในการปิดโครงการ USAID ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
USAID เป็นองค์กรอิสระที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดย อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เพื่อต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยการมอบความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ USAID มีสำนักงานอยู่ในกว่า 60 ประเทศทั่วโลกซึ่งดูแลโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาทิ โครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ช่วยเหลือผู้ป่วยโรค HIV ในแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์และ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวสหรัฐผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ต้องการที่จะลดขนาดรัฐบาลสหรัฐ โดยทรัมป์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าสหรัฐใช้เงินไปกับประเทศต่างๆ มากเกินไปซึ่งสิ้นเปลืองภาษีชาวอเมริกัน ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์พูดก็มีมูลเพราะสหรัฐใช้งบประมาณไปกับการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศในปี 2023 มากถึง 68,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.3 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.35 ล้านล้านบาทเป็นงบปะมาณของ USAID หรือคิดเป็น 0.6% ของงบประมาณรัฐบาลต่อปีทั้งหมด ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาต่างชาติมากที่สุดในโลก
ทำเนียบขาวยังได้เปิดเผยรายชื่อโครงการของ USAID ที่มองว่าสิ้นเปลือง เช่น งบประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์ให้แก่กลุ่ม LGBTQ ในประเทศเซอร์เบีย งบประมาณ 2.5 ล้านดอลลาร์ให้แก่โครงการรถยนต์ไฟฟ้าในเวียดนาม และ 6 ล้านดอลลาร์ให้แก่ภาคการท่องเที่ยวของอียิปต์ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีคำสั่งให้ปิดสำนักงานในต่างประเทศทั้งหมดของ USAID รวมถึงสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ USAID จากเกือบทั้งหมดราว 10,000 คนทั่วโลกเหลือเพียงประมาณ 600 คนเท่านั้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหลายโครงการความช่วยเหลือจากสหรัฐที่มีความสำคัญในต่างประเทศกลับได้รับผลกระทบจากความพยายามของทรัมป์ในการปิดหน่วยงาน USAID เช่นกัน นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐของทรัมป์พิจารณาเรื่องการกลับมาให้งบสนับสนุนโครงการความช่วยเหลือต่างๆ จนกว่าจะหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับโครงการเหล่านี้ได้ เพราะการแช่แข็งงบประมาณด้านความช่วยเหลือของรัฐบาลทรัมป์กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสาธารณสุขโลก บริการต่างๆ เช่น การรักษาโรค HIV ได้รับผลกระทบแล้วใน 50 ประเทศ คลินิคต่างๆ ต้องปิดตัวและเจ้าหน้าที่การแพทย์ถูกสั่งพักงานจำนวนมาก ขณะที่โครงการเกี่ยวกับโรคโปลิโอ ฝีดาษวานร หรือ mpox และไข้หวัดนกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน นายเท็ดรอสกล่าวอีกว่าการตัดสินใจของทรัมป์เกี่ยวกับหน่วยงาน USAID ยังกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องปัญหาสาธารณสุขโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขโลกได้ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายและอาจเกิดความล่าช้าในการพัฒนาวัคซีนและการรักษาโรค
เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศคองโกในทวีปแอฟริกา เปิดเผยว่าแผนระงับความช่วยเหลือต่างชาติของสหรัฐได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโครงการด้านมนุษยธรรมในคองโก เพราะความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่คองโกได้รับนั้น 70% มาจากสหรัฐอเมริกา คองโกกำลังเผชิญกับการพลัดถิ่นของประชาชนจำนวนมากจากการปะทะกันระหว่างกองทัพคองโกและกลุ่มกบฏ M23 ที่ยิ่งทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมในประเทศเลวร้ายลง เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเล่าว่าที่คองโกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคและ mpox ขณะที่ความไม่สงบในประเทศยิ่งทำให้จำนวนประชากรที่ต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น การระงับความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐจึงยิ่งทำให้โครงการและหน่วยงานต่างๆ แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ยากขึ้น
อีกประเทศที่พึ่งพาความช่วยเหลือจาก USAID เป็นจำนวนมากคือ โซมาเลีย ที่งบประมาณของ USAID จำนวน 369 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 ถูกใช้ไปกับโครงการด้านสุขาภิบาลและโครงการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านโภชนาการ แต่หลังจากที่ทรัมป์สั่งระงับความช่วยเหลือต่างประเทศก็ทำให้ค่ายผู้พลัดถิ่นขนาดใหญ่ในโซมาเลียไม่สามารถช่วยเหลือเด็กที่ขาดสารอาหาร และไม่สามารถดูแลเรื่องการเงิน ยารักษาโรค และการคุ้มครองผู้หญิงที่เผชิญกับความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพได้ และกระทบกับการทำงานขององค์การนอกภาครัฐ (NGO) เกือบทั้งหมดในโซมาเลีย นโยบายเรื่อง USAID ของทรัมป์ยังกระทบต่อองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงไปทำงานเป็นมิจฉาชีพออนไลน์ หรือ ออนไลน์สแกม ในประเทศกัมพูชา ทำให้หน่วยงานดังกล่าวอาจต้องปล่อยตัวเหยื่อบางคนที่ได้รับการช่วยเหลือและหยุดรับเหยื่อคนอื่นๆ ให้เข้ามาอยู่ในการดูแลเนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน ที่นอกจากนั้นแล้วยังกระทบต่อโครงการต่างๆ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการป้องกันการค้ามนุษย์
มีนา เจียง ผู้ก่อตั้ง Humanity Research Consultancy ที่ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแหล่งมิจฉาชีพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่าผลกระทบจากการแช่แข็งงบประมาณของ USAID ได้ขยายวงไปมากกว่าแค่เรื่องการค้ามนุษย์ แต่ยังทำให้เครือข่ายอาชญากรมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำให้อาชญากรสามารถขยายปฏิบัติการของตัวเองออกไปได้กว้างขึ้น
แม้ว่ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐจะออกประกาศว่า โครงการช่วยเหลือชีวิตด้านมนุษยธรรมจะได้รับการยกเว้นจากคำสั่งระงับความช่วยเหลือต่างชาติ อาทิ โครงการช่วยเหลือเรื่องยารักษาโรค อาหาร ที่พักพิง และความช่วยเหลือที่จำเป็นจะได้รับการยกเว้น แต่โครงการเหล่านี้ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการสั่งพักงานและปลดพนักงานจำนวนมาก รวมถึงทำให้เกิดความสับสนว่าความช่วยเหลือใดบ้างที่ยังได้รับอนุญาตให้ดำเนินต่อไปเพราะเจ้าหน้าที่บางคนบอกว่าประกาศของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าการยกเว้นดังกล่าวจะครอบคลุมถึงค่าจ้างของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานหรือไม่
ด้านผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่านโยบายของทรัมป์ที่จะยุบองค์กร USAID อาจเหมือนเป็นการมอบของขวัญชิ้นงามให้กับประเทศจีนที่ทรัมป์มองว่าเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุด เพราะจีนจะเข้ามาแทนที่สหรัฐในการให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ และขยายอิทธิพลของตัวเองออกไปจากการเป็นพันธมิตรที่พึ่งพาได้ ต่างจากสหรัฐที่ดูเหมือนจะละทิ้งประเทศอื่นๆ อย่างไม่มีเยื่อใย ยิ่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและประเทศโลกใต้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
หากเรามองในมุมของทรัมป์และชาวอเมริกัน เราอาจเห็นด้วยกับความคิดของเขาว่า เรื่องอะไรต้องไปช่วยประเทศคนอื่นในขณะที่ประเทศตัวเองกำลังเต็มไปด้วยปัญหา แต่หากมองในมุมของประเทศอื่นๆ แล้วอาจรู้สึกถึงความถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวอย่างไม่ทันตั้งตัว คงต้องจับตาดูต่อไปว่าประเทศต่างๆ จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร และการเดิมพันครั้งใหญ่ของทรัมป์จะทำให้สหรัฐปลอดภัยขึ้น เข้มแข็งขึ้น และเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอย่างที่มุ่งหวังหรือไม่