ที่มา | นสพ.มติชน รายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ศุภวิชญ์ เจียรรุ่งแสง |
เผยแพร่ |
โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: นับถอยหลัง ‘กำแพงภาษีทรัมป์’ กระทบไทย สะเทือนโลก
ตามที่เรารู้กันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) แก่ทุกประเทศทั่วโลกในวันที่ 2 เมษายนนี้ แต่นั่นไม่ใช่ภาษีเดียวที่สหรัฐจะเรียกเก็บในสัปดาห์หน้า เมื่อล่าสุด ทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษี 25% แก่รถยนต์ที่นำเข้ามาในสหรัฐจากทุกประเทศทั่วโลกโดยมีผลในวันที่ 3 เมษายน ยิ่งจุดความกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของสงครามการค้าที่เปิดฉากโดยสหรัฐ และแต่ละประเทศหรือบริษัทมีการปรับตัวอย่างไร และมีโอกาสหรือไม่ที่ไทยจะรอดพ้นจากกำแพงภาษีของสหรัฐ
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศในห้องทำงานรูปไข่ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 26 มีนาคมว่า รถยนต์ทุกคันที่ผลิตนอกประเทศสหรัฐจะเจอกับภาษี 25% โดยในปีที่แล้ว สหรัฐนำเข้ารถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กเกือบ 8 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 244,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยคือ 8.28 ล้านล้านบาท และผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดเข้ามาในสหรัฐคือ เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ ทำเนียบขาวคาดการณ์ว่าภาษีดังกล่าวจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่นอกเหนือจากรถยนต์นำเข้าแล้ว ภาษี 25% ดังกล่าวยังรวมไปถึงชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีความสำคัญที่นำเข้ามาในสหรัฐอีกด้วย อาทิ เครื่องยนต์ เกียร์ ระบบขับเคลื่อน และส่วนประกอบของระบบไฟฟ้า แต่ภาษีชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในตอนนี้ แต่มีผลภายในไม่เกินวันที่ 3 พฤษภาคม
ทรัมป์ให้ความเห็นว่าการเรียกเก็บภาษี 25% แก่รถยนต์นำเข้านั้นจะเป็นนโยบายหลักของเขาในวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัย 2 นี้ เพราะจะช่วยให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ ย้ายฐานมาเปิดโรงงานผลิตในสหรัฐมากขึ้น นำไปสู่การจ้างงานมากขึ้นจากการฟื้นฟูฐานอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงยุติสิ่งที่ทรัมป์เรียกว่า “ห่วงโซ่อุปทานที่ไร้สาระ” ที่ชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์จะถูกผลิตในหลายแห่งทั่วทั้งสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก เช่นเดียวกับลดการขาดดุลการค้า แต่ข้อตกลงภาษีนำเข้าของสหรัฐนั้นจะมีการยกเว้นบางส่วนให้กับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ได้ปฏิบัติตามกฎของข้อตกลงการค้าสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA)
จริงอยู่ที่การเรียกเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าอาจทำให้บริษัทรถยนต์ต่างๆ มาเปิดโรงงานในสหรัฐ เพื่อเลี่ยงไม่ให้เจอกับกำแพงภาษี 25% แต่การเปิดโรงงานแห่งใหม่นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะบริษัทรถยนต์อาจใช้เวลาหลายปีในการออกแบบและสร้างโรงงานใหม่ให้แล้วเสร็จ นอกจากนั้น การเรียกเก็บภาษีรถนำเข้าจะทำให้ราคาเฉลี่ยของรถยนต์นำเข้าในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 12,500 ดอลลาร์ต่อคัน แมรี เลิฟลี่ นักวิจัยจากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน กล่าวว่า ภาษีเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนชนชั้นกลางและล่าง และในเมื่อขณะนี้ราคารถยนต์ป้ายแดงในสหรัฐพุ่งสูงถึงเฉลี่ยคันละ 49,000 ดอลลาร์ต่อคัน หรือ 1.6 ล้านบาท ชาวสหรัฐจำนวนไม่น้อยจะเลือกใช้รถคันเก่าตัวเองต่อไปนานขึ้น

ด้านผู้นำของหลายประเทศตั้งแต่แคนาดา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ออกมาโจมตีและแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการที่สหรัฐคิดภาษีรถยนต์นำเข้า ที่จะมีผลเพียง 1 วันหลังจากที่สหรัฐจะคิดภาษีศุลกากรแบบตอบโต้แก่ทุกประเทศทั่วโลกเพื่อลดการขาดดุลการค้า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์ชี้ให้เห็นว่าเขาไม่สนใจเสียงวิจารณ์จากทั้งในและนอกประเทศของการใช้กำแพงภาษีต่อสินค้าหลายรายการเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจเพื่อเรียกรายได้เข้าประเทศ รวมถึงใช้เป็นเครื่องต่อรองเพื่อบรรลุข้อตกลงกับประเทศอื่นๆได้ เช่นที่ทรัมป์กล่าวว่าเขาอาจลดภาษีให้กับประเทศจีนเพื่อแลกกับการบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการติ๊กต็อกในสหรัฐอเมริกา
นั่นทำให้หลายประเทศและบริษัทต้องปรับตัว อาทิ ฮุนได ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้ ได้ประกาศแผนสร้างโรงงานเหล็กมูลค่า 5.8 พันล้านดอลลาร์ในรัฐลุยเซียนา สะท้อนคำกล่าวของทรัมป์ว่านโยบายภาษีจะบีบให้บริษัทต่างๆ มาตั้งโรงงานในประเทศและกระตุ้นการจ้างงานได้ หนึ่งในประเทศที่เริ่มปรับตัวเพื่อให้รอดจากกำแพงภาษีสหรัฐคือ เวียดนาม ที่เตรียมลดภาษีศุลกากรแก่สินค้าสหรัฐหลายรายการ อาทิ แก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ลงจาก 5% หลือ 2% ส่วนรถยนต์สหรัฐจะถูกคิดภาษีลดลงจากระหว่าง 45-64% เหลือ 32% รวมถึงจะมีการลดภาษีน่องไก่ อัลมอนด์ แอปเปิล เชอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ที่นำเข้าจากสหรัฐเช่นกัน อธิบดีกรมศุลกากรของกระทรวงพาณิชย์เวียดนามกล่าวว่า การลดภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงดุลการค้ากับประเทศพันธมิตรทางการค้าของเวียดนาม และเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐที่พุ่งทะลุ 123,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 4.17 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว
ตัดกลับมาที่ประเทศไทยของเรา ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่าสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นมูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์ และมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐคิดเป็น 19,528 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 35,427.6 ล้านดอลลาร์ และไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐมา 5 ปีติดต่อกัน ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อการถูกสหรัฐขึ้นภาษี
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Prachachat Forum : NEXT MOVE Thailand 2025 ซึ่งจัดโดยประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ว่ากรอบการขึ้นภาษีของทรัมป์คือประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ถือเป็นประเทศที่เอาเปรียบสหรัฐ และมีคำสั่งให้เก็บภาษีต่างตอบแทนโดยคำนวนว่าประเทศคู่ค้าต่างๆ เก็บภาษีสหรัฐเท่าไรและควรเก็บภาษีตอบโต้เท่าไร ซึ่งเรื่องนี้มีความไม่แน่นอนสูง มีความน่าเป็นห่วงคือนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์เขียนบทความในเอกสารที่ใช้เป็น Agenda 2025 ว่าสหรัฐมีการจำลองไว้ก่อนแล้วว่าถ้าเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้กับไทยจะช่วยลดการขาดดุลการค้าเท่าไร ดังนั้น นายศุภวุฒิชี้ว่าไทยไม่รอดจากการขึ้นภาษีสหรัฐแน่นอน แต่คำถามคือทรัมป์จะเคาะอย่างไรซึ่งตนก็ไม่ทราบในเรื่องนี้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเคาะในเชิงที่จะเก็บภาษีไทยในระดับหนึ่งสำหรับทุกสินค้าและให้ไทยเข้ามาเจรจาว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งนาวาร์โรเหมือนอยากที่จะให้สหรัฐเก็บภาษีไทยมากขึ้นมากกว่าให้ไทยลดภาษีกับสหรั ฐเพราะจะได้เงินมากขึ้นมาลดการขาดดุลงบประมาณ
แม้ว่าสหรัฐกำลังนับถอยหลังสู่การขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้และภาษีรถนำเข้าในสัปดาห์หน้า แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข่าวคราวว่าประเทศไทยจะตอบสนองกับภาษีของสหรัฐอย่างไร หรือจะมีมาตรการอะไรเพื่อลดผลกระทบจากภาษีสหรัฐแม้ว่าเราจะคาดการณ์กันมาสักระยะแล้วว่าเราคงไม่รอดจากการถูกสหรัฐขึ้นภาษี คงต้องติดตามกันต่อไปว่าผลกระทบที่จะมีต่อไทยจะเป็นอย่างไร และสงครามการค้าครั้งประวัติศาสตร์นี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน