ที่มา | นสพ.มติชน รายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ศุภวิชญ์ เจียรรุ่งแสง |
เผยแพร่ |
โฟกัสโลกรอบสัปดาห์: โลกป่วน หลัง’ทรัมป์’เดิมพันใหญ่ อัดภาษีศุลกากรทุกประเทศ
และแล้ว แรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจของโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษก็เกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ประกาศเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% แก่ทุกประเทศทั่วโลก และเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (reciprocal tariffs) แก่หลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่พันธมิตรของสหรัฐอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไปจนถึงประเทศคู่แข่งอย่างจีน ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของทรัมป์ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกและสหรัฐเองเข้าสู่ภาวะถอดถอยได้ จุดไฟสงครามการค้าโลกให้ลุกโชนขึ้นอีกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เรารู้กันมาก่อนหน้านี้แล้วว่าทรัมป์ให้ความสำคัญกับการขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ และทรัมป์แสดงความชัดเจนว่าจะใช้ภาษีศุลกากรเป็นอาวุธสำคัญในการนำเม็ดเงินมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าประเทศ แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าทรัมป์จะใช้ภาษีเล่นงานทุกประเทศทั่วโลกในลักษณะเช่นนี้ ถึงขนาดที่แม้แต่อิสราเอลยังโดนด้วย
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศการเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% แก่ทุกประเทศ ซึ่งทรัมป์บอกว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ โดยภาษีศุลกากรพื้นฐานจะเริ่มมีผลในวันที่ 5 เมษายน ขณะที่ทรัมป์ยังประกาศเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทนแก่หลายประเทศทั่วโลก ซึ่งทำเนียบขาวสหรัฐระบุว่ามาจากการนำตัวเลขการขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ มาคำนวนจนเป็นตัวเลขภาษีศุลกากรต่างตอบแทนที่จะเพิ่มเข้ากับอัตราภาษีที่มีอยู่เดิมก่อนหน้า เพื่อเป็นการตอบโต้กับอัตราภาษีและอุปสรรคทางการค้าของประเทศอื่นๆ ที่มีต่อสินค้าสหรัฐ และสหรัฐถูกประเทศต่างๆ เอาเปรียบมานาน โดยภาษีศุลกากรต่างตอบแทนนี้จะเริ่มมีผลในวันที่ 9 เมษายน
หลังการประกาศภาษีของทรัมป์ ตลาดหุ้นทั่วโลกและของสหรัฐพากันร่วงลงอย่างหนักทั้งกระดาน หากดูตามตารางอัตราภาษีศุลกากรต่างตอบแทนที่สหรัฐจะคิดกับหลายประเทศนั้น พบว่าหลายประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐก็ไม่รอดพ้นจากการถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทน อาทิ สหภาพยุโรปที่ถูกเรียกเก็บภาษี 20% ญี่ปุ่น 24% เกาหลีใต้ 26% ไต้หวัน 32% และแม้แต่อิสราเอลที่ 17% ขณะที่ประเทศคู่แข่งของสหรัฐอย่างจีนจะเจอกับภาษีศุลกากรต่างตอบแทน 34% ซึ่งจะไปบวกกับภาษี 20% ที่สหรัฐเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ หมายความว่าสินค้าจีนจะเจอกับกำแพงภาษีของสหรัฐสูงถึง 54% แม้แต่ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กยังไม่รอดพ้นจากการถูกเรียกเก็บภาษีเช่นกัน โดยในภูมิภาคอาเซียนของเรา ประเทศที่ถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทนมากที่สุดคือกัมพูชาที่ 49% รองลงมาเป็นลาวที่ 48% ตามด้วยเวียดนามที่ 46% เมียนมาที่ 45% และไทยอยู่ที่ 37% ส่วนประเทศอาเซียนที่เจอกับภาษีศุลกากรต่างตอบแทนสหรัฐน้อยที่สุดคือ สิงคโปร์ ที่เพียง 10% แต่ภาษีศุลกากรต่างตอบแทนนี้ไม่ได้รวมถึงสินค้าบางชนิด อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป ทองแดง ยารักษาโรค ทองคำ พลังงาน และแร่ธาตุบางชนิดที่ไม่มีในสหรัฐ
การเรียกเก็บภาษีศุลกากรใหม่แก่ทุกประเทศทั่วโลกนั้นสะท้อนถึงความเป็น America First หรือ อเมริกาต้องมาก่อน ของทรัมป์อย่างชัดเจน เพราะนอกจากเม็ดเงินที่จะได้จากการเก็บภาษีแล้ว ทรัมป์คาดหวังว่าภาษีเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทต่างๆ มาเปิดโรงงานผลิตในสหรัฐมากขึ้น กระตุ้นกำลังการผลิตภายในประเทศ ทำให้สหรัฐพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การคิดภาษีเพิ่มจำนวนมากนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและทำให้ค่าครองชีพของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้นครัวเรือนละหลายพันดอลลาร์เพราะภาระของภาษีเหล่านี้จะตกไปแก่ผู้บริโภคชาวอเมริกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ขัดแย้งกับการหาเสียงของทรัมป์เมื่อปีที่แล้วที่ให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ
เคน ร็อกกอฟฟ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่าโอกาสที่สหรัฐจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายหลังการประกาศภาษีดังกล่าว โดยร็อกกอฟฟ์กล่าวว่า ทรัมป์ได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่ระบบการค้าโลก และจะเกิดผลกระทบตามมาอีกมากจากการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้ามาในสหรัฐในระดับที่สูงเช่นนี้ ด้าน Olu Sonola หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจสหรัฐของ Fitch Ratings อัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยที่สหรัฐเรียกเก็บจะเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 2024 ขึ้นไปเป็นประมาณ 22% และหลายประเทศอาจเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แม้แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนยังแสดงความกังวลกับนโยบายภาษีของทรัมป์ นายสตีเฟ่น มีแรน หัวหน้าสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ของทรัมป์กล่าวว่า ภาษีศุลกากรของทรัมป์จะเป็นผลดีกับสหรัฐในระยะยาว แต่จะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อชาวอเมริกันอย่างแน่นอน
จากที่เราเห็นกันมา ทรัมป์มักใช้ไม้แข็งกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยอมเข้ามาเจรจากับสหรัฐแต่โดยดี เมื่อสหรัฐคิดภาษีศุลกากรต่างตอบแทนเช่นนี้ ทำให้ชาติอื่นๆ ต้องเลือกว่าจะตอบโต้กลับสหรัฐหรือยอมเข้ามาเจรจา นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ให้ความเห็นว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐถือเป็นการโจมตีเศรษฐกิจโลก และทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้เตรียมการสำหรับตอบโต้สหรัฐแล้วหากการเจรจากับสหรัฐล้มเหลว ด้าน นายมาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้ประกาศมาตรการตอบโต้ด้วยการคิดภาษี 25% แก่รถยนต์ทุกคันที่นำเข้ามาในสหรัฐที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงการค้าแคนาดา-สหรัฐ-เม็กซิโกเพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้ กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้แสดงจุดยืนคัดค้านภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของสหรัฐและประกาศว่าจะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของจีนต่อไป ส่วน นายฮัน ด็อกซู รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้สั่งการให้มีมาตรการสนับสนุนเร่งด่วนให้กับธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ ยานยนต์
ส่วนนายกรัฐมนตรี แอนโทนี แอลบาเนซี ของออสเตรเลียกล่าวว่าการที่สหรัฐเก็บภาษี 10% แก่ออสเตรเลียนั้นไม่ใช่การกระทำของเพื่อน และชาวอเมริกันเองที่จะเป็นคนที่ต้องจ่ายภาษีเหล่านี้ แต่ออสเตรเลียจะไม่ขึ้นภาษีตอบโต้กลับสหรัฐเพราะจะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ประธานาธิบดี คลอเดีย เชนบอม ของเม็กซิโกกล่าวว่าจะไม่ขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐแต่จะมีมาตรการต่างๆ อย่างครอบคลุมต่อไป
นี่เป็นช่วงเวลาครั้งประวัติศาสตร์สำหรับการค้าโลกและเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งหากเขาทำสำเร็จจะยิ่งเสริมอำนาจให้กับสหรัฐอเมริกาและสร้างความมั่งคั่ง เม็ดเงินจำนวนมากมาสู่ประเทศ แต่หากเขาล้มเหลว ประวัติศาสตร์จะจารึกเขาลงในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขา
เวลาเท่านั้นที่จะตอบได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์คืออัจฉริยะหรือคนบ้า!