คอลัมน์แกะรอยต่างแดน : เขตสงวนโฮซิล แห่งที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้มีมติในที่ประชุมที่เมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ ยกให้ เขตสงวน “โฮซิล” ในมณฑลชิงไห่ ประเทศจีน เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่

เขตสงวนโฮซิล ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ซึ่งคำว่า โฮซิล เป็นภาษามองโกเลีย แปลว่า “ผู้หญิงสาวสวย ภูเขาสีน้ำเงิน” ส่วนชื่อจีนของโฮซิลคือ “เค๋อเค่อซีหลี่ั้” โดยเขตสงวนโฮซิล เป็นที่อยู่ของสัตว์หลากหลายกว่า 200 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้กว่า 20 สายพันธุ์เป็นสัตว์ที่อยู่ในความคุ้มครองของรัฐบาล ซึ่งรวมทั้ง “กวางทิเบต” ด้วย และเขตสงวนโฮซิล ถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน โดยกินเนื้อที่ราว 45,000 ตารางกิโลเมตร และอยู่สูงเหนือพื้นดินกว่า 4,600 เมตร

เขตสงวนโฮซิลเคยตกอยู่ในภัยคุกคามอย่างหนักช่วงทศวรรษ 1980 หลังมีพวกพรานที่ออกล่ากวางทิเบต เพื่อนำหนังไปขาย กระทั่งปี 1996 รัฐบาลจีนจึงได้กำหนดให้โฮซิลเป็นเขตสงวนเพื่อปกป้องสัตว์ในพื้นที่และยกระดับเป็นเขตสงวนแห่งชาติในปี 1997 ถือเป็นมรดกโลกแห่งที่ 51 ของประเทศจีน

ปัจจุบัน สำนักงานของเขตสงวนแห่งชาติ โฮซิล ได้ว่าจ้างชาวบ้านกว่า 70 คน ที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวทิเบต ทำหน้าที่คอยตรวจตราภายในเขตสงวนแห่งนี้เพื่อคอยปกป้องคุ้มครองสัตว์ทั้งหลาย จนทำให้ละมั่งทิเบตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากความพยายามในการคุ้มครองอย่างเต็มที่ของเจ้าหน้าที่
และการได้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินี้ ก็จะเป็นการเปิดทางให้พื้นที่อันอุดมไปด้วยธรรมชาติแห่งนี้ ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ขณะที่บรรรดานักวิทยาศาสตร์ก็จะได้เข้าไปศึกษาค้นคว้ามากขึ้น

Advertisement

หากแต่ก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อชาวทิเบต ออกมาเตือนว่า การขึ้นบัญชีให้โฮซิลเป็นมรดกโลกนั้น อาจจะส่งผลต่อชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่อาจจะถูกทางการจีนบีบให้ออกจากที่ทำมาหากินในเขตสงวนแห่งนี้ หลังจากจีนได้ลงเงินไปนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อหาที่อยู่ใหม่ให้แก่บรรดาชาวทิเบตผู้เลี้ยงสัตว์อยู่ในเขตโฮซิล ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ที่แห่งนี้มานับร้อยๆปี

ที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของทางการจีนที่ต้องการกำจัดวัฒนธรรมทิเบตออกไปจากประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของประเทศจีน ได้ยืนยันต่อที่ประชุมยูเนสโกว่า จะไม่มีการบังคับให้ชาวทิเบตต้องโยกย้ายออกจากถิ่นฐานในเขตโฮซิลอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image