คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เลดี้ ไดอานา เท็จหรือจริง จริงหรือเท็จ?

REUTER/File Photo

เดือนสิงหาคมเดียวกันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน “เจ้าหญิงไดอานา” เสียชีวิตลงสืบเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์ในอุโมงค์ลอด “ปงต์ เดอ ลัลมา” ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เป็นอุบัติเหตุรถยนต์ที่ครึกโครม และอื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

เจ้าหญิงไดอานาซึ่งหลังการหย่าร้างอย่างเป็นทางการกับ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ ทำให้ศักดิ์ฐานะในเวลานั้นเป็นเพียง “เลดี้ ไดอานา สเปนเซอร์” แต่ทุกคนที่รู้จักยังรักที่จะเรียกขานเธอว่า “เจ้าหญิง” เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา (ชาวอังกฤษยังคงอ้างอิงถึงไดอานา ว่าคือ “เจ้าฟ้าของปวงชน” มาจนถึงขณะนี้)

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เล่าลือกันอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้

Advertisement

20 ปีผ่านไป ทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา ว่าด้วย “ที่มา” ของความตายของ “เจ้าหญิง” ที่ว่า “ต้องมีอะไร” มากกว่าความประมาทเพราะ “มึนเมา” ของ อองรี ปอล ผู้ทำหน้าที่ขับรถและ/หรือ ความมุทะลุของ “ปาปาราซซี” อย่างแน่นอน ไม่เพียงไม่ยุติลงเท่านั้น แต่ยังเข้มข้นและแหลมคมมากยิ่งขึ้นอีกต่างหาก

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ อนิจกรรมของเลดี้ ไดอานา เป็นคดีหนึ่งที่มีการสอบสวน สืบสวนต่อเนื่องยาวนานและละเอียดยิบมากที่สุดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 2 ประเทศ ทั้งตำรวจฝรั่งเศส ที่รับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าของสถานที่เกิดเหตุ และการสอบสวนของตำรวจอังกฤษ ที่จำเป็นต้องทำ ทั้งเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับในกฎหมาย ที่ต้องชันสูตรและสอบสวนการตายภายนอกประเทศของผู้ถือสัญชาติอังกฤษทุกคน และเพราะต้องการไขคดีนี้ให้กระจ่างชัดที่สุดเพราะเป็นที่สนใจของสาธารณชนสูงสุด

บทสรุปของการสอบสวนสืบสวนยาวนานดังกล่าวก็คือ เลดี้ ไดอานา เสียชีวิตจากสาเหตุ “ผิดธรรมชาติ” (อันลอว์ฟุล เดธ) ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจาก “ความประมาท” ของ อองรี ปอล โชเฟอร์ลิมูซีนของไดอานา ซึ่งศาลอังกฤษได้รับฟังคำให้การของผู้เกี่ยวข้องว่า “ขับรถในขณะที่มีระดับแอลกอฮอล์อยู่ในระบบเลือดสูงเกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตถึง 5 เท่า”

Advertisement

ข้อมูลจากการสอบสวนยังระบุด้วยว่า ทั้งเจ้าหญิงเอง และอีกหนึ่งในผู้โดยสารคือ โดดี้ อัล ฟาเยด เพื่อนชายของเลดี้ ไดอานา “อาจมีชีวิตรอดจากอุบัติเหตุครั้งนั้น หากทั้งสองรัดเข็มขัดนิรภัย”

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือข้อสรุปที่ถือว่า “เป็นทางการที่สุด” และเป็นคำตอบ “สุดท้าย” ของเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว

แต่คำอธิบายอย่างเป็นทางการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ “นักทฤษฎีสมคบคิด” ที่ในกรณีนี้มีเป็น “กองทัพ” ยอมรับและสงบปากสงบคำแต่อย่างใด

คนเหล่านี้เชื่อเหมือนกันหมดว่า “สถาบันของอังกฤษ” คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังหรือ “จัดการ” ให้เกิดการเสียชีวิตดังกล่าว แล้วปกปิดกลบเกลื่อนการกระทำมิชอบของตน

“ทฤษฎีสมคบคิด” ย่อมเลือนหายไปได้ตราบเท่าที่บังเกิด “ข้อเท็จจริง” ที่ “น่าเชื่อถือ” มากกว่ามาหักล้าง

กรณีของเลดี้ ไดอานา มี “ข้อเท็จจริง” มากมายที่ลงเอยด้วยการทำให้หลายคนรู้สึกเลอะเลือนว่า อะไรเท็จ อะไรจริง กันแน่

และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดในกรณีนี้ยังคงยืนยงมานาน แม้เรื่องราวจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วก็ตามที

นักทฤษฎีสมคบคิดมักเริ่มต้นด้วย “มูลเหตุจูงใจ” ซึ่งน่าสนใจที่ว่า การเสียชีวิตของไดอานา ไม่ยากที่จะทำให้ผู้คนจินตนาการได้ว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดเป็นราชสำนักอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งจะสามารถเสกสมรสกับ “คนรักเดิม” อย่าง คามิลลา ปาร์เกอร์ โบลส์ และสถาปนาคนรักที่แท้จริงขึ้นเป็นมเหสีได้ หากไดอานายังคงมีชีวิตอยู่

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ก่อนหน้านั้น จดหมายเขียนด้วยลายมือฉบับหนึ่งของ เลดี้ ไดอานา ถูกนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะทั่วไป เนื้อหาระบุชัดเจนอย่างยิ่งว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ “วางแผนสังหาร” ตน

ความตอนหนึ่งในจดหมาย ปรากฏดังนี้

“ในวันเช่นนี้ของเดือนตุลาคม ฉันได้แต่นั่งอยู่กับโต๊ะ ถวิลหาใครสักคนมาสวมกอด ให้กำลังใจ ทำให้ฉันเข้มแข็งขึ้นมา และเชิดหน้าได้อีกครั้ง

“ห้วงเวลานี้ของชีวิต คือช่วงเวลาสุดแสนอันตราย สามีกำลังวางแผน ‘อุบัติเหตุ’ ให้เกิดกับรถของฉัน ทำให้เบรกไม่ทำงานแล้วทำให้เกิดบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะขึ้นมา”

บันทึกด้วยลายมือเขียนดังกล่าว ทำให้ถึงกับมีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ถึงขนาดว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ มีพระราชปรารภขึ้นในทันทีที่ทรงรับทราบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถของไดอานาว่า อาจมีใครสักคน “ทำให้เบรกเธอลื่น”!

กรณีดังกล่าวทำให้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี่เอง ตำรวจนครบาลอังกฤษยอมรับอย่างเป็นทางการว่า กำลัง “สอบสวนหลักฐานใหม่” ว่ามีเงื่อนงำของการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่อุบัติเหตุดังกล่าว

แต่ที่น่าเสียดายสำหรับนักทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายก็คือ ทางการตำรวจอังกฤษแถลงในเวลาต่อมา ย้ำว่า ข้ออ้างของอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษรายหนึ่งซึ่งระบุว่า หน่วยปฏิบัติการรบพิเศษ เอสเอเอส ของอังกฤษ “อยู่เบื้องหลังการตายของไดอานา” ระหว่างการพูดคุยกับภรรยาของตัวเอง นั้น

เมื่อสอบสวนเรียบร้อยแล้ว ก็ลงเอยว่า “ไม่มีอะไร!” ใหม่เหมือนเดิม

หนึ่งในคนที่ตั้งข้อกังขาต่อ “คำอธิบายอย่างเป็นทางการ” เอาไว้ และเรียกความสนใจได้มากที่สุดรายหนึ่งในกรณีนี้ ก็คือ จอน คอนเวย์ ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ

คอนเวย์หยิบเอา “คำให้การ” ของ “พยานปากสำคัญ” หลายๆ ปาก ที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏในการสอบสวนกรณีนี้ของทางการอังกฤษ มาร้อยเรียงขึ้นเป็นละครเวทีชื่อ “ทรูธ, ไลส์, ไดอานา”

หนึ่งในข้อเท็จจริงเหล่านี้ที่ถือกันว่าเป็นข้อเท็จจริง “พิเศษเหนือธรรมดาที่สุด” ที่เขาหยิบมาตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่กับทีมแพทย์ประจำรถฉุกเฉินในการรับมือกับอุบัติเหตุดังกล่าว

คอนเวย์ได้เนื้อความที่ถอดจากรายงานทางวิทยุของ นพ.ฌ็อง-มาร์ค มาร์ติโน แพทย์ประจำรถฉุกเฉินที่เดินทางมายังจุดเกิดอุบัติเหตุ แล้ววิทยุรายงานเหตุเข้ามายังศูนย์

นายแพทย์ผู้นี้รายงานทางวิทยุว่า “มีผู้เสียชีวิต 2 ราย” นั่นคือ โดดี้ และ อองรี ปอล เท่านั้นยังไม่พอ ยังรายงานเจาะจงลงไปด้วยว่า ไม่ปรากฏ “บาดแผลบาดเจ็บบริเวณหน้าอก” ของไดอานา

แต่ผลชันสูตรทางการแพทย์หลังการเสียชีวิตระบุในเวลาต่อมาว่า เลดี้ ไดอานา เสียชีวิต “จากบาดแผลบริเวณหน้าอก”!

ข้อเท็จจริงแปลกๆ อีกอย่าง ก็คือ รถฉุกเฉินดังกล่าวเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุเมื่อเวลา 00.40 น. ใช้เวลานานถึง 17 นาที หลังจากที่มีโทรศัพท์แจ้งเหตุครั้งแรก!

ถ้านั่นยังไม่แปลกพอ ก็มีอีกหลายอย่างที่ทำให้ชวนคิด แรกสุด เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จึงสามารถนำตัว เลดี้ ไดอานา ออกมาจากรถคันที่เกิดอุบัติเหตุชนเข้ากับเสาค้ำยันอุโมงค์ได้

เป็นไปได้อีกเหมือนกันที่ว่า สภาพของรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น แต่คอนเวย์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ทำให้หลายคนอึ้งว่า แล้วทำไม “รถฉุกเฉิน” ถึงต้อง “หยุดรถกลางทาง” เป็นเวลานานหลายนาที ขณะเดินทางจากจุดเกิดเหตุสู่โรงพยาบาล?

หรือทั้งหมดนั่นคือความพยายามเพื่อไม่ให้ เลดี้ ไดอานา ได้รับการรักษาเยียวยาได้ทันท่วงที?

หมอมาร์ติโน นั้นถูกเรียกตัวเข้ามาให้ปากคำในระหว่างการสอบสวนสืบสวนของทางการอังกฤษ เมื่อถูกตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เขาจงใจถ่วงเวลาไปถึงโรงพยาบาลให้เนิ่นช้าเข้าไว้เพื่อให้ เลดี้ ไดอานา เป็นอันตราย? นายแพทย์ผู้นี้ยอมรับว่าหยุดรถฉุกเฉินจริง แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอย่างที่คิดกัน

เขาบอกว่ารถพยาบาลฉุกเฉินจำเป็นต้องหยุด เมื่อความดันเลือดของไดอานา จู่ๆ ก็ลดวูบลงอย่างเฉียบพลัน

“เราจำเป็นต้องหาให้พบว่าอะไรทำให้ความดันลดลงวูบเดียวมากขนาดนั้น เรากลัวว่าอาการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลันขึ้นมา การช่วยให้คนไข้ในสภาวะอาการดังกล่าวคืนสติขณะที่รถพยาบาลกำลังวิ่งนั้น ทำได้ยากมาก”

รถพยาบาลฉุกเฉินเดินทางมาถึงโรงพยาบาลเมื่อเวลา 02.06 น. และแม้ว่าทีมแพทย์ของโรงพยาบาลจะพยายามอย่างถึงที่สุด เลดี้ ไดอานา ก็เสียชีวิตลงในอีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา

คอนเวย์รวมทั้งคนอื่นๆ อีกหลายคน อาทิ โนเอล บอทแธม ผู้เขียนหนังสือ “กรณีฆาตกรรมเจ้าหญิงไดอานา” แย้งว่า ธรรมเนียมปฏิบัติ “ปกติ” ทั่วไปของรถฉุกเฉินหรือรถพยาบาลก็คือ ไปถึงโรงพยาบาล “โดยเร็วที่สุด” แทนที่จะใช้เวลา “รักษาอาการ” ของผู้ป่วยอยู่ด้านหลังรถ

แม้หลังจากเสียชีวิตแล้ว ก็ยังมีคนตั้งข้อสังเกตถึงสิ่งแปลกๆ ไม่ปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นกับ เลดี้ ไดอานา

คริสโตเฟอร์ แอนเดอร์เซน ระบุเอาไว้ในหนังสือชื่อ “เดอะ เดย์ ไดอานา ดายด์” อ้างว่า “มีการค้นตัว เลดี้ ไดอานา เพื่อดูว่ามีอัญมณีที่เป็นของหลวงอยู่หรือไม่ ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระราชินี” หากมี พระองค์มีพระประสงค์ให้จัดส่งคืนราชสำนักโดยทันที

แอนเดอร์เซนตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ชื่อผู้ป่วยที่ปรากฏอยู่บนชาร์ตของไดอานา ไม่ได้ชื่อ “ไดอานา” แต่กลับใช้ชื่อ “แพทริเซีย”

ทำไม?

ทฤษฎีสมคบคิดบางทฤษฎีก็เป็นเรื่องของ “ความเชื่อส่วนบุคคล” ล้วนๆ ไม่มีคำให้การหรือข้อเท็จจริงใดรองรับ เช่นกรณีของ โมฮัมเหม็ด อัลฟาเยด อดีตเจ้าของห้างดัง แฮร์ร็อด ที่เชื่อว่า “เอ็มไอ 6” หน่วยสืบราชการลับของอังกฤษคือ ผู้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุน่าเศร้าขึ้น ด้วยเหตุผลเพียงว่า “อองรี ปอล” มีส่วนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยอารักขาลับของฝรั่งเศส

และอ้างด้วยว่า สาเหตุสำคัญก็คือ เจ้าหญิงไดอานา ตั้งครรภ์อ่อนๆ ลูกในครรภ์คือลูกของ โดดี้ บุตรชายของตน

ส่วนผู้ออกคำสั่ง คือ เจ้าฟ้าชายฟิลิป พระสวามี ด้วยเหตุผลพิลึกๆ ตามความเชื่อของ อัลฟาเยด นั่นคือ ดยุคแห่งเอดินบะระ ทรงมีเชื้อสายเยอรมันและมีทัศนคติแบบนาซี?

แต่บางกรณีก็ถึงกับทำให้หลายคนเลิกคิ้วด้วยความเหลือเชื่อ เช่นกรณีของ “เฟียตอูโน” สีขาวรถของปาปาราซซี ที่เกิดเฉี่ยวขึ้นเล็กน้อยกับรถของไดอานา ก่อนเกิดเหตุ

ผู้ขับรถคันดังกล่าวในวันดังกล่าวคือ เจมส์ แอนแดนสัน ช่างภาพที่เฝ้าตามเลดี้ ไดอานา ทุกฝีก้าวตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อนหน้าวันเกิดเหตุ

ปัญหาก็คือ แอนแดนสัน ตายแล้ว!

ในปี 2007 มีผู้พบศพของแอนแดนสัน ในสภาพถูกไฟไหม้อยู่ในซากรถคันหนึ่งในเขตชนบทของฝรั่งเศส เพื่อให้ทุกอย่างดูลึกลับมากขึ้นไปอีก พนักงานดับเพลิงในที่เกิดเหตุเพลิงไหม้รถคันดังกล่าว อ้างเอาไว้ว่า “ผมเห็นเขาในระยะประชิด ผมเชื่อสนิทใจว่าเขามีแผลถูกยิงที่ศีรษะ สองนัด!”

มีข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นคือ ภายในอุโมงค์ ปองต์ เดอ ลัลมา มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่ 16 ตัว

ว่ากันว่า ไม่มีกล้องตัวไหนจับภาพอุบัติเหตุได้เลย เหตุผลก็คือ กล้องเสีย หรือไม่ก็หันไปในทิศทางอื่น!

มีคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ไม่ได้เกิดขึ้นกับแอนแดนสันเพียงรายเดียว ก่อนหน้านี้ก็ให้บังเอิญที่ แบร์รี แมนนาคี อดีตนายตำรวจอารักขา ที่เคยถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ “ไม่ปกติ” กับเลดี้ ไดอานา และถูกไล่ออกจากหน้าที่ด้วยเหตุดังกล่าว ก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน

คนอื่นที่หลงเหลืออยู่ในอุบัติเหตุครั้งนั้นอ้างว่า จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ เลดี้ ไดอานา เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในเทปบันทึกภาพวิดีโอครั้งหนึ่งว่า อุบัติเหตุของแมนนาคี ถูก “จัดฉาก” ให้เกิดขึ้น

ในรถของ เลดี้ ไดอานา มีผู้รอดชีวิตเช่นเดียวกัน นั่นคือ เทรเวอร์ รีส โจนส์ องครักษ์อีกราย

จนถึงขณะนี้ รีส โจนส์ ยังคงอ้างว่า “ไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคืนนั้น” หลงเหลืออยู่ในหัวตนเลย

และปล่อยให้ทฤษฎีสมคบคิดยังคงอยู่ต่อเนื่องต่อไปแม้ในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image