ถ้อยแถลง ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ ในเวทียูเอ็นจีเอ ครั้งที่ 72

ดอน ปรมัตถ์วินัย (แฟ้มภาพ)

หมายเหตุ’มติชน’ – สรุปสาระสำคัญถ้อยแถลงของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในเวทีสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ(ยูเอ็นจีเอ) ครั้งที่ 72 ณ สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 22 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐ

ประเทศไทยเห็นพ้องกับเลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น โดยยูเอ็นควรเน้นการปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

เป็นที่น่าพอใจที่การประชุม ยูเอ็นจีเอในปีนี้ ผู้นำต่างให้ความสำคัญกับประชาชน เพราะการอยู่รอดและความรุ่งเรืองของประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงควรให้ความสำคัญกับประชาชน

ในส่วนของประเทศไทย เราให้ความสำคัญกับประชาชนมาเป็นเวลานาน โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงให้ฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ เพราะประชาชนเป็นผู้ที่รู้สถานการณ์และความต้องการของตนเองมากที่สุด แนวทางการพัฒนาจึงต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทที่แตกต่างกัน

Advertisement

ทั้งนี้ พระองค์ทรงวางรากฐานของการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางผ่านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นการพัฒนาตนเองและศักยภาพของทุกคนในการกำหนดอนาคตของตนเองและสามารถดำรงอยู่กับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล เมื่อบุคคลสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของตนเองแล้ว ประเทศก็จะดำรงอยู่ได้อย่างดี

การให้ความสำคัญกับประชาชน รัฐบาลมุ่งให้ประชาชนและประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยอยู่บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยนโยบายระดับชาติของไทย ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ล้วนให้ความสำคัญกับประชาชน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของมนุษย์ โดยมุ่งสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งต้องอาศัยสติปัญญาของมนุษย์มากเสียยิ่งกว่าเทคโนโลยีขั้นสูง ไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาชีวิตมนุษย์

Advertisement

ตัวอย่างการดำเนินการของไทยที่ให้ความสำคัญกับประชาชน อาทิ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยประชาชนร้อยละ 99.87 ได้ประโยชน์ และช่วยป้องกันความยากจนในกว่าหนึ่งแสนครัวเรือน ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นประธานของกลุ่มนโยบายการต่างประเทศและสุขภาพโลก (Foreign Policy and Global Health Initiative) จะได้นำเสนอร่างข้อมติเพื่อกำหนดวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลกและหวังจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก ขณะที่ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 โดยเมื่อปี 2559 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย และประเทศที่สองในโลกที่สามารถกำจัดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้

ขณะนี้โลกมีความท้าทายร่วมกัน อาทิ แนวคิดสุดโต่ง การก่อการร้าย ความขัดแย้ง การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ภัยคุกคามจากนิวเคลียร์เป็นประเด็นที่น่าห่วงกังวลมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ไทยได้ลงนามและมอบสัตยาบันสารของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาดังกล่าว และหวังว่าประเทศอื่นๆ จะดำเนินการเช่นเดียวกันเพื่อเป็นการส่งสัญญาณของความห่วงใยถึงรุ่นลูกหลาน

ไทยร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี จากการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โดยไทยสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหาทางออกโดยสันติ และปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ไทยยังห่วงกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งทั่วโลก ไทยไม่สามารถเพิกเฉยต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ได้ แต่ก็เข้าใจถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน เพราะต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาระยะยาวทั้งในด้านการเมือง ตลอดจนสังคมและเศรษฐกิจ โดยการธำรงรักษาสันติภาพและการพัฒนาต้องมาควบคู่กัน

ถือเป็นความจำเป็นในการสร้างสังคมที่มีส่วนร่วมโดยให้ทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งต้องพึ่งเสียงและความคิดเห็นของประชาชนต้องได้รับการรับฟัง ทั้งนี้ ต้องส่งเสริมและเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของกลุ่มเปราะบางในสังคม อาทิ คนยากจน สตรี เด็ก คนพิการ ที่ได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายและได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

ทั้งนี้ไทยขอฝากประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น เพื่อขับเคลื่อนยูเอ็น

ประการแรก ความสำคัญของระบบพหุภาคี โดยเฉพาะยูเอ็นยังคงเป็นเวทีที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยสหประชาชาติต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินการเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์และความคาดหวังในปัจจุบัน โดยสิ่งที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง อาทิ โครงการการพัฒนา ความช่วยเหลือทางการเงินและด้านเทคนิค การปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ

เรายังมีความคาดหวังต่อการดำเนินการของยูเอ็น อาทิ การสร้างผลในพื้นที่อย่างแท้จริง การระบุประเด็นความท้าทายที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การปรับการทำงานที่สามารถตอบสนองและมีความยืดหยุ่น ตลอดจนการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า และเน้นการป้องกันมากกว่าแก้ไขปัญหาในภายหลัง นอกจากนี้ ไทยหวังว่าจะได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ UN Development system ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovative resource mobilization) และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วน โดยหุ้นส่วนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และชุมชนนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประการที่สอง ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่แตกต่างกันของทุกคน โดยเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ชุมชน โดยสร้างวัฒนธรรมของการเป็นหุ้นส่วนที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพซึ่งกันและกัน ประเทศไทยเห็นคุณค่าของจุดแข็งที่แตกต่างของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเห็นประโยชน์ของการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ โดยไทยได้ริเริ่มหุ้นส่วนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) เพื่อแบ่งปันการประยุกต์ใช้เอสอีพีในการขับเคลื่อนเอสดีจี ซึ่งการเปิดสำนักงาน UN Office for the South-South Cooperation for Asia and the Pacific ในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความร่วมมือใต้ – ใต้ ของไทย

ประการที่สาม การให้ความสำคัญกับประชาชน ซึ่งไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะการดำเนินการกับปัจจัยภายนอก หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับทัศนคติ โดยเฉพาะในหมู่เด็กและเยาวชน โดยต้องรับฟังเสียงของเยาวชนและทำให้เด็กเติบโตมาเป็นพลเมืองของโลกที่มีทัศนคติที่กว้างไกล (global mindset) ทั้งนี้ ทุกคนเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยบทบาทของรัฐบาลคือการสนับสนุนประชาชน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ให้ แบ่งปันและเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image