คอลัมน์ วิเทศวิถี: อาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 31

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 (อาเซียน ซัมมิท) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในโอกาสที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดยิ่ง หลังจากที่ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับปัญหากลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงพยายามที่จะยึดดินแดนเมืองมาราวีบนเกาะมินดาเนาเอาไว้ ซึ่งกว่าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยึดคืนพื้นที่กลับมาได้ก็ปาเข้าไปเกือบครึ่งปี

ความเข้มงวดกวดขันเป็นไปในระดับที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ของประเทศต่างๆ ยังเกือบจะเดินเข้าไปในสถานที่จัดประชุมไม่ได้ ผู้แทนบางคนออกมาทานอาหารกลางวันในพื้นที่ซึ่งเจ้าภาพจัดไว้ให้ในอีกจุดหนึ่งแต่ก็กลับเข้าไปในที่ประชุมอีกไม่ได้ หรือบางคนไปถึงที่ประชุมก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่จัดประชุม ขนาดผู้แทนประเทศยังตกระกำลำบากขนาดนี้ ผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวยิ่งไม่ต้องพูดถึง การจะเข้าไปทำข่าวหรือพบหน้าค่าตาผู้นำต่างๆ ยิ่งยากกว่าหลายเท่า เว้นแต่กรณีที่ผู้นำประเทศไหนจะออกมาแถลงข่าวที่ศูนย์ข่าวเท่านั้น

การประชุมอาเซียน ซัมมิท ครั้งที่ 31 ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดในช่วงปลายปีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ มีผู้นำมากมายเข้าร่วมในการประชุม ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่เดินทางมาร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนเป็นครั้งแรกหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านการเยือนของทรัมป์ที่เกิดขึ้นในกรุงมะนิลา และตามด้วยเหตุขัดข้องที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าที่ทรัมป์ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(อีเอเอส)ในนาทีสุดท้าย โดยส่งนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนนตรีต่างประเทศสหรัฐเข้าร่วมประชุมแทน ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับเจ้าภาพและน่าจะสร้างความไม่สบอารมณ์ให้กับผู้นำอาเซียนอื่นๆ ไม่มากก็น้อย เพราะทรัมป์ถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ไม่เข้าร่วมประชุมอีเอเอส ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการกระทำที่คล้ายกับด้อยค่าการประชุมอีเอเอสด้วย

แต่ที่โดดเด่นที่สุดหนีไม่พ้นนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่ได้รับความสนใจจากบรรดาสาวน้อยสาวใหญ่ทั่วฟิลิปปินส์ รวมถึงบรรดานักข่าวที่มาทำข่าวการประชุม ชนิดที่ว่าพอมาถ่ายรูปหมู่ร่วมกับผู้นำอื่นๆ แล้ว ทรูโดดูแปลกแยกและแตกต่างคล้ายกับเป็นดารามากกว่าผู้นำประเทศ ซ้ำตอนที่ทรูโดไปแถลงข่าวที่ศูนย์ข่าวยังมีแต่สาวน้อยสาวไม่น้อยไปเฝ้ารอดูจนแน่นห้อง เนื้อหาสาระไม่ต้องพูดถึง เพราะส่วนใหญ่ตั้งใจมาดูตัวเป็นๆ ของผู้นำแคนาดาเสียมากกว่า ทั้งที่จริงสิ่งที่ทรูโดแถลงหรือตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็เต็มไปด้วยสาระ ที่น่าสนใจที่สุดก็คือการที่แคนาดาประกาศตัวแสดงความสนใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเวทีอีเอเอส หลังจากที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนเป็นครั้งแรกในปีนี้ในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพคือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประธานอาเซียน

Advertisement

อีกหนึ่งผู้นำที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งหนีไม่พ้นนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า แต่เป็นความสนใจที่ย้อนแย้งกับสถานะที่ซูจีเคยได้รับเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังเพิ่งชนะการเลือกตั้งใหม่ๆ เพราะในปีนี้ความสนใจต่อซูจีเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาการอพยพไหลบ่าของชาวมุสลิมโรฮีนจาที่หนีภัยความรุนแรงในรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศ ซึ่งตัวเลขผู้ลี้ภัยโรฮีนจานับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ก็ทะลุ 600,000 รายไปแล้ว

แน่นอนว่ามือชั้นนี้ย่อมจะรู้ดีว่าประเด็นโรฮีนจากำลังเป็นเผือกร้อน ก่อนหน้าที่การประชุมอาเซียน ซัมมิท จะเริ่มขึ้น บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ช่วยคลายแรงกดดันต่อพม่าไประดับหนึ่งจากแถลงการณ์ของประธานอาเซียนว่าด้วยสถานการณ์ในรัฐยะไข่ที่ออกมาตั้งแต่เดือนกันยายน หลังการพบปะหารือกับของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ 72 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แม้ว่าผลการประชุมดังกล่าวดูจะกลายเป็นรอยร้าวของอาเซียนเมื่อมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์แสดงตนว่าไม่เกี่ยวข้องกับแถลงการณ์ของประธานอาเซียนดังกล่าว เพราะไม่พอใจที่ไม่มีการระบุุถึงชาวโรฮีนจาในเนื้อหาของแถลงการณ์ แต่พูดถึงแค่ในปริบทของสถานการณ์ในรัฐยะไข่เท่านั้น

อย่างไรก็ดีซูจีได้สยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเร่งขอบคุณความช่วยเหลือและเข้าใจถึงความปรารถนาดีของอาเซียนที่แสดงความวิตกกังวลในประเด็นดังกล่าว พร้อมกับแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับอาเซียนในการแก้ไขปัญหาต่อไป ขณะที่ในส่วนของการเจรจากับบังกลาเทศเพื่อส่งกลับผู้ลี้ภัยนั้น ซูจีระบุว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ระหว่างกัน ซึ่งหากลงนามได้ก็จะสามารถส่งกลับผู้ลี้ภัยได้ภายใน 3 สัปดาห์หลังจากนั้น

Advertisement

ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นท่าทีผ่อนคลายและเป็นไปในทางบวก ซึ่งช่วยลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกับพม่าไปได้มากพอสมควร แน่นอนว่าเป็นการลดแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นต่ออาเซียนด้วย เพราะกรณีปัญหาชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ถือเป็นความท้าทายสำหรับพม่าและอาเซียนว่าจะสามารถรับมือและแก้ไขปัญหาที่่ได้รับความสนใจจากโลก และเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ได้อย่างไร

ผู้นำอาเซียนยังแสดงความวิตกกังวลต่อการขยายตัวของแนวคิดสุดโต่ง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมาราวีรวมถึงในรัฐยะไข่ ว่ากำลังเป็นจุดเปราะบางที่อาจส่งผลกระทบต่อการแพร่ขยายแนวคิดเช่นนี้ได้หากไม่บริหารจัดการให้ดี ในระยะยาวต้องมีความร่วมมือด้านข่าวกรองและข้อมูลด้านความมั่นคงต่อไปเพื่อให้การจัดการกับปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างเป็นระบบมากขึ้น

อีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องพูดถึงและถือเป็นความสำเร็จในการประชุมครั้งนี้คือการที่ผู้นำอาเซียนและจีนได้ประกาศเริ่มต้นการเจรจาเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี)อย่างเป็นทางการ หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ให้การรับรองแนวทางประมวลการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(เฟรมเวิร์คออฟซีโอซี)ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเด็นทะเลจีนใต้ได้กลายเป็นจุดสนใจในการประชุมอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าการที่มีการประกาศว่าจะเริ่มต้นการเจรจาเพื่อจัดทำซีโอซีซึ่งแว่วมาว่าจะเริ่มต้นเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ถือเป็นข่าวดีที่หลายฝ่ายรอคอย แม้หลายคนจะมองว่าที่สุดแล้วอาจเป็นเพียงขั้นตอนการซื้อเวลาเพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศของจีน แต่ถึงกระนั้นก็เชื่อว่าการที่อาเซียนและจีนสามารถตกลงกันได้ในหลักการของเฟรมเวิร์คออฟซีโอซีก็ต้องถือเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี ซึ่งจะช่วยให้มีความก้าวหน้าในการผลักดันให้มีกฎกติกาสำหรับการใช้พื้นที่ในทะเลจีนใต้ร่วมกัน แม้จะเป็นการยากที่จะกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนของการเจรจาก็ตามที

เรื่องที่น่าสนใจเพราะถูกจับตามองแต่ดูเหมือนจะยังไปไม่ถึงไหนก็คือการจัดทำความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค(อาร์เซป) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก่อนหน้านี้หลังจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาพพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) ต้องประสบปัญหาชะงักงันหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐได้ประกาศถอนตัวไม่ร่วมสังฆกรรม ทำให้อาร์เซปกลายเป็นความหวังอันโดดเด่นขึ้นมาว่าอาร์เซปจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่โดดเด่นและน่าสนใจแทนที่

อย่างไรก็ดีจนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าเป้าหมายของการบรรลุข้อตกลงในการเจรจาอาร์เซปก็ยังคงไม่มีความชัดเจนมากขึ้น และยังไม่สามารถบอกได้เช่นกันว่าการเจรจาจะบรรลุข้อตกลงได้ภายในปีไหน เพราะต้องยอมรับว่าการเจรจาในกรอบใหญ่เช่นนี้ มันต้องมีทั้งคนได้และคนเสีย แต่ที่จะให้บางประเทศยอมถอยและยอมเสียโดยที่ไม่ได้อะไรตอบแทนคงไม่มีใครยอมเป็นแน่ หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เชื่อว่าอาร์เซปก็ไม่น่าจะเกิดได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image