เปิดใจ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ปธ.ที่ปรึกษาพม่าแก้ปัญหารัฐยะไข่

หมายเหตุ”มติชน” : นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย(เอพีอาร์ซี) ได้พูดคุยถึงที่มาที่ไปและแผนการทำงานในหน้าที่สำคัญในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อพิจารณาข้อแนะนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ว่าด้วยรัฐยะไข่ ที่นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าได้ตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำพม่า

ผมและคณะจากเอพีอาร์ซีได้พบกับนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้มีการพูดคุยกันถึงปัญหาในรัฐยะไข่ว่ามีอะไรที่เราจะช่วยให้เกิดสันติภาพได้ก็ยินดี พอต้นเดือนกันยายน นางซูจีได้ส่งนายอู ตอง ตุน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของท่านมาพบและเล่าให้ฟังว่าทางพม่าได้ตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติตามรายงานของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็นว่าด้วยการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่แล้ว โดยผู้ที่อยู่ในคณะทำงานคือคณะรัฐมนตรีของพม่า และแจ้งว่านางซูจีอยากตั้งคณะที่ปรึกษาต่างชาติที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในเรื่อสันติภาพขึ้นมาอีกคณะ เพื่อที่จะได้มีการแลกเปลี่ยนว่าประสบการณ์และความยากง่ายในการดำเนินการเพื่อสร้างสันติภาพของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร

เขาเชิญผมในฐานะส่วนตัวซึ่งผมก็ตอบรับ เพราะคิดว่าถ้างานของเราจะสามารถช่วยชีวิตคนได้แม้แต่คนเดียวก็ถือว่าทำบุญ ถ้าช่วยให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นำอันตรายมาสู่อาเซียน และคิดว่าถ้าสามารถนำเอาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันระดมความคิดก็น่าจะช่วยกันได้ แต่แน่นอนว่าคณะที่ปรึกษาจะต้องมีอิสระในการทำงานและการให้ความคิดเห็น
ทางพม่าเขาให้ความสำคัญมากในฐานะที่ผมเป็นคนไทย เพราะเขาพอใจที่กระทรวงการต่างประเทศไทยมีนโยบายที่เขาอกเข้าใจเขา เรามีความเป็นกลาง และช่วยเหลือเขาในเรื่องมนุษยธรรมเยอะ สองสัปดาห์ก่อนนายอู ตอง ตุน ก็ได้มาพบผมอีกครั้ง และนำหนังสือเชิญเป็นประธานคณะที่ปรึกษาชุดนี้มามอบให้ โดยเท่าที่ทราบผู้ที่อยู่ในคณะทำงานที่มีอยู่ราว 6-7 คน ยังมีผู้แทนจากแอฟริกาใต้ สหรัฐ ยุโรป และพม่าด้วย ทั้งนี้คณะทำงานมีกรอบเวลาในการทำงาน 1 ปี และสามารถต่ออายุออกไปได้อีก 1 ปี
นางซูจียังบอกด้วยว่าอยากจะพูดคุยกับผมก่อนที่จะมีการประชุมคณะที่ปรึกษาเกี่ยวกับขอบข่ายของงาน และวิธีการทำงานว่าจะเป็นอย่างไร โดยจะเชิญผมไปพบในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจึงจะมีการนัดประชุมคณะที่ปรึกาที่พม่า และจะจัดให้พบคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีที่ทางพม่าตั้งขึ้นรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำข้อมูลต่างๆ มาผสมผสานกันก่อนที่เราจะให้คำแนะนำกับทางพม่าต่อไป

ผมยังได้ไปพูดคุยกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เพิ่งกลับจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป(อาเซม) เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ บทบาทของไทยต่อกรณีรัฐยะไข่เป็นบทบาทที่ดีและถูกต้อง เราไม่ต้องการให้ปัญหารัฐยะไข่ส่งผลกระทบกระเทือนประเทศไทยและอาเซียน เพราะหากเรารับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ดีก็อาจทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นบ่อเกิดของลัทธิสุดโต่ง

Advertisement

เราอยู่ในฐานะที่ต้องช่วยนางซูจีอธิบายว่าสิ่งที่พม่าพยายามทำตามข้อเสนอของนายอันนัน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่พม่าและสังคมระหว่างประเทศยอมรับจะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร เราจะต้องช่วยอธิบายให้สังคมระหว่างประเทศเข้าใจแทนที่จะถามแต่ว่าทำไมไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะต้องเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาที่มาจากความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ ไม่อาจเสร็จได้ในชั่วข้ามคืน ดังนั้นหากจะช่วยก็ต้องเริ่มจากมีความเข้าใจเสียก่อน

อย่างที่หลายฝ่ายบอกว่าต้องให้สัญชาติกับคนทั้งหมดมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก กรณีของไทยกับเวียดนาม เราก็แก้ปัญหากันมาเป็นสิบๆ ปี เพราะมันต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบคัดกรองคน เท่าที่ทราบในส่วนของพม่า นางซูจีบอกว่าใครมีหลักฐานว่าเคยอยู่ในพม่าเขารับกลับหมด แต่กระบวนการคัดกรองต้องมี เพราะเขาก็ต้องทำตามกฎหมายเขา เพราะเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าที่ไหนว่าจะรับคนกลับไปทั้งหมด

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซมที่เพิ่งผ่านมา ทุกคนรู้สึกว่าไทยมีข้อมูล เข้าใจปัญหา และพร้อมจะช่วย สิ่งที่กระทรวงต่างประเทศของเราทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในการหารือกลุ่มย่อยของผู้ที่ได้รับเชิญจากทางพม่าต่อกรณีรัฐยะไข่ทุกคนก็ให้ความสนใจ ข้อสำคัญคือไทยอยู่ในจอเรดาห์ และเมื่อทราบว่ามีคณะที่ปรึกษาต่างประเทศที่มีคนไทยเข้ามาอยู่ด้วยเขาก็น่าจะสนใจ

Advertisement

๐หนักใจในประเด็นใดหรือไม่
มี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการนำเอาประเด็นตามคำแนะนำของนายอันนันทั้ง 30 ประเด็นมาจัดลำดับก่อนหลังจะทำอย่างไร เราจะเอาเรื่องการพัฒนามาพร้อมการเจรจาสันติภาพ หรือจะดำเนินการเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมาก่อนพิสูจน์สัญชาติ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญ ผมได้นัดพบกับนายอันนันที่สวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เพื่อหารือว่าสิ่งที่เขาเข้าไปศึกษาโดยใช้เวลาถึงปีหนึ่งเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องที่สองคือการวางยุทธศาสตร์ในการให้คำแนะนำถึงการอธิบายกับสังคมระหว่างประเทศอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยจะทำได้คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ ของเรา ทั้งประสบการณ์ในเรื่องการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะเรามีผู้อพยพอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะระดมสมองกันและช่วยนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้ผมหรือให้กับทางพม่าก็น่าจะเป็นประโยชน์กับการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image