คอลัมน์ โกลบอล โฟกัส : “บิทคอยน์” ในโลกการเงิน

REUTERS/Dado Ruvic/File Photo

ตอนที่ผมเริ่มต้นเขียนเรื่องนี้ มูลค่าของ “บิทคอยน์” ทะยานพรวดขึ้นไปเป็น 1 บิทคอยน์ต่อ 17,000 ดอลลาร์ ก่อนที่จะตกลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ 1 ต่อ 16,800 ดอลลาร์ในวันรุ่งขึ้น

แต่นั่นไม่ใช่มูลค่าสูงสุดนะครับ ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น 1 บิทคอยน์เคยพุ่งขึ้นไปถึง 18,000 ดอลลาร์ เรียกว่ามีอยู่ในกำมือเพียงเหรียญเดียวก็เท่ากับครอบครองเงินเกินครึ่งล้าน

ค่าของบิทคอยน์ยิ่งสูงมากขึ้นเท่าใด สื่อก็ยิ่งพูดถึงกันมากเท่านั้น พร้อมๆ กับคนทั่วๆ ไป ก็ตั้งคำถามมากขึ้นตามลำดับว่า บิทคอยน์คืออะไร?

ผมเคยพยายามตอบคำถามนี้ของเพื่อนพ้องใกล้ชิดว่าบิทคอยน์คือ “เงินดิจิทัล” สกุลหนึ่งในจำนวนหลายสิบสกุล ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “คริปโตเคอร์เรนซี” เรียกเงินชนิดนี้ ความหมายก็ตรงไปตรงมานั่นแหละ คือ “เงินที่เข้ารหัส”

Advertisement

แต่พอถึงตอนนี้ ทั้งคนตอบและคนถามก็เงียบไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุที่ว่ามันต้องมีอะไรอีกมากมายกว่านั้นอยู่เบื้องหลังคำ “บิทคอยน์” ที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา

มีคำถามมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ ตั้งแต่คำถามง่ายๆ ที่ว่า บิทคอยน์ใช้ซื้อของได้ไหม? ซื้ออะไร จากไหน? เรื่อยไปจนถึงบิทคอยน์ถูกหรือผิดกฎหมาย มูลค่าของมันเกิดจากอะไร? และควรหรือไม่ควรลงทุนกับบิทคอยน์?

เอาเป็นว่าเราค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันก็แล้วกันครับ เริ่มตั้งแต่ที่มาของบิทคอยน์ มุมมองของรัฐบาลบางประเทศ และทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่มองบิทคอยน์เอาไว้เมื่อมันเข้ามาปรากฏอยู่ใโลกการเงินอย่างเต็มตัว เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น

Advertisement

แล้วสัปดาห์หน้าก็อาจหยิบยกคดีความใหญ่โตระดับนานาชาติที่เกี่ยวกับบิทคอยน์มาเล่าสู่กันฟังว่า ทำไมคน 24,000 คน ถึงได้เสียเงินรวมกันมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ไปในชั่วพริบตา

ตอนนี้ขอให้รับรู้กันก่อนว่า บิทคอยน์ถูกแวดวงนักลงทุนในตลาดเงินตลาดหุ้นยกให้เป็น “สินทรัพย์” ที่ร้อนแรงที่สุดของปี 2017 นี้ไปแล้ว

ด้วยเหตุที่ว่า ยังไม่ทันจบปีดี มูลค่าของบิทคอยน์เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 900 เปอร์เซ็นต์ครับ

“บิทคอยน์” ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2008 หลังวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ออกแบบโครงสร้างและวางแบบแผนการแลกเปลี่ยนกันไว้โดย ซาโตชิ นากาโมโตะ ในข้อเขียนที่ถูกเรียกกันว่า “สมุดปกขาว-ไวท์ เปเปอร์” ในชื่อ “บิทคอยน์: ระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกแบบเพียร์ทูเพียร์”

ซาโตชิ นากาโมโตะ นี้ จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นคนเพียงคนเดียว หรือเป็นกลุ่มคนที่มีความเห็นตรงกัน แต่เขาหรือเธอที่ใช้ชื่อนี้ เขียนเอาไว้ในรายงานฉบับนั้น ตำหนิติเตียนถึงบรรดาธนาคารและสถาบันการเงินในเวลานั้นว่า เป็นตัวการก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นอุปสรรคขึ้นมาโดยไม่จำเป็น จะโอนเงิน “เล็กๆ น้อยๆ” กันทีต้องผ่าน “ตัวกลาง” หลายต่อหลายขั้นตอนที่คิดค่าธรรมเนียมกันไปเป็นทอดๆ ลงเอยก็กลายเป็น “ความไม่สะดวกในทางปฏิบัติ” ขึ้นมา

นากาโมโตะบรรยายเอาไว้ว่า “บิทคอยน์” จะทำลายอุปสรรคที่ไม่จำเป็นเหล่านั้น โดยการใช้เครือข่ายระหว่างคนต่อคน ในการโอนเงิน (ดิจิทัล) โดยอาศัย “ตัวเลข” ที่สร้างขึ้นจากสมการซับซ้อนทางคณิตศาสตร์ที่ “ไม่สามารถเจาะผ่านได้” เพื่อเอาไว้ตรวจสอบเงินก้อนที่โอนกันดังกล่าว ตัดสถาบันการเงิน ธนาคารหรือตัวกลางทั้งหลายทิ้งไปพร้อมกับค่าธรรมเนียมที่ตัวกลางเหล่านั้นเรียกเก็บ

มีข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับไวท์ เปเปอร์ ดังกล่าวนี้ นั่นคือ นากาโมโตะไม่ได้ตั้งใจทำให้มันเป็น “เงิน” สกุลหนึ่งขึ้นมา อย่างที่สองก็คือ เจตนาของนากาโมโตะไม่ได้สร้างบิทคอยน์ขึ้นมาไว้ให้เก็งกำไรกันนะครับ ในรายงานนี้ระบุเจตนาเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นแนวความคิดทำนองเดียวกับ “ไมโครเปย์เมนต์” หรือการจ่ายเงินรายย่อยผ่านระบบดิจิทัล ที่เชื่อว่าอาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาเรียกว่า “เศรษฐกิจของอินเตอร์เน็ต” หรือไม่ก็ช่วยเหลือผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีช่องทางอื่นเท่านั้น

นากาโมโตะปล่อยทั้งตัวระบบและซอฟต์แวร์ออกมาเป็นโอเพ่นซอร์ซ ต่อด้วยการลงมือก่อตั้งเน็ตเวิร์ก “บิทคอยน์” เมื่อเดือนมกราคมปี 2009 พอถึงปี 2010 ก็หายตัวไป ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบิทคอยน์อีกเลย ทิ้งเน็ตเวิร์กนี้ไว้กับเกวิน แอนเดอร์เซน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้ง “บิทคอยน์ ฟาวเดชั่น52” ขึ้นมาเพื่อสืบทอดการทำงานของเครือข่ายบิทคอยน์ในเวลาต่อมา

บิทคอยน์เริ่มต้นเป็นที่รู้จักกันในแวดวงจำกัดมาก วนเวียนอยู่เฉพาะกับผู้ที่รู้เรื่องไอทีและคอมพิวเตอร์เป็นหลัก มูลค่าเมื่อตอนแรกเริ่ม 1 บิทคอยน์ (หรือ 1 บีทีซี) เทียบแล้วไม่ถึง 10 เซนต์ด้วยซ้ำไป ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนจำกัดอยู่แต่เฉพาะอะไรก็ตามที่จำกัดอยู่บนอินเตอร์เน็ต เช่น ซื้อหรือขายไอเท็มในเกม เป็นต้น

มูลค่าของบิทคอยน์ในเวลานั้นขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างบุคคลที่เป็นคนซื้อกับคนขายเป็นหลัก

ว่ากันว่าการซื้อขายสินค้าทั่วไปโดยใช้บิทคอยน์ ครั้งแรกเป็นการซื้อโดยทางอ้อม คือทำความตกลงกันแล้วฝ่ายหนึ่งไปซื้อพิซซ่า 2 ถาดมาแลกกับบิทคอยน์ 10,000 บีทีซี

ส่วนที่ยากต่อการทำความเข้าใจที่สุดก็คือส่วนที่เป็นเรื่องโครงสร้างของตัวบิทคอยน์และระบบการทำงานในเครือข่ายที่เป็นอัลกอริธึมอัตโนมัติที่เข้ารหัสทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต้องเข้าใจ เพราะโครงสร้างเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ “บิทคอยน์” มีทั้งข้อจำกัดและถูกนำมาใช้ไปเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของซาโตชิ นากาโมโตะ

ยิ่งคนที่ต้องการเป็นเจ้าของ หรือต้องการเก็งกำไร ยิ่งต้องทำความเข้าใจมากขึ้นไปอีก

เครือข่ายบิทคอยน์เป็นเครือข่ายปิด จำกัดเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเข้าใช้งานเท่านั้น ภายในเซิร์ฟเวอร์ของเครือข่ายมี “พับลิค เลดเจอร์” หรือบัญชีผู้ใช้บิทคอยน์สำหรับบันทึกการโอนบิทคอยน์เข้าหรือออกไปยังเจ้าของบัญชีอื่นโดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลางที่เป็นที่ไว้วางใจกันของทั้ง 2 ฝ่าย เครือข่ายทั้งระบบได้รับการบริหารจัดการโดย “เน็ตเวิร์กโหนดส์” ซึ่งทำหน้าที่ทั้งจัดการระบบ ทั้งตรวจสอบยืนยันความเป็นเจ้าของ ติดต่อสื่อสารระหว่างเลดเจอร์ต่อเลดเจอร์ หรือแจ้งให้ทุกเลดเจอร์ในระบบรับรู้ข้อมูลใหม่โดยอัตโนมัติ

ข้อมูลของแต่ละบัญชีถูกจัดเก็บอยู่ในบล็อก (Block ไม่ใช่บล็อก Blog ของบรรดาบล็อกเกอร์นะครับ) อยู่ในรูปของข้อมูลเข้ารหัส ตั้งแต่ส่วนที่เป็นข้อมูลบ่งชี้ตัวผู้เป็นเจ้าของ เรื่อยไปจนถึงข้อมูลจำนวนบิทคอยน์ทั้งเก่าและใหม่ ยอดรวมทั้งหมดและข้อมูลการโอน แต่ละบล็อกสามารถสื่อสารซึ่งกันและกันและสื่อสารกับบล็อกอื่นๆ ได้ผ่านทางโหนดส์ เหมือนเป็นอิสระแต่ร้อยต่อกันเป็นลูกโซ่ เป็นที่มาของคำเรียกว่า “บล็อกเชน”

ภายในบล็อกเชนแต่ละบล็อกนี่เองที่จัดเก็บข้อมูลของบิทคอยน์เอาไว้ว่ามีอยู่เท่าใด ที่มาของบิทคอยน์ที่บรรจุอยู่ในบล็อกเหล่านี้มีอยู่ 2 แบบ ก็คือใช้เงินทั่วไปซื้อจากผู้ที่มีอยู่แล้วตามราคาแลกเปลี่ยน ผู้ขายจะทำหน้าที่โอนเป็นอินพุทเข้ามาในบล็อกของผู้ซื้อ หรือไม่เช่นนั้น เจ้าของบล็อกก็ต้องลงทุน “ขุด” บิทคอยน์เอง

ตัวบิทคอยน์ จริงๆ แล้วคือชุดตัวเลขชุดหนึ่งซึ่งผ่านการเข้ารหัสแบบแฮช ที่มีลักษณะจำเพาะของตัวเอง การขุด หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ไมนิ่ง” ก็คือการดำเนินกระบวนการให้ได้ตัวเลขเฉพาะดังกล่าวซึ่งจำเป็นต้องผ่านการรับรู้และรับรองจากบล็อกเชนทุกบล็อก ซึ่งจะอ้างอิงการยอมรับดังกล่าวจากชุดตัวเลขที่เรียกว่า “น็อนซ์” ซึ่งหมายถึงการจัดกลุ่มตัวเลข 1 2 3 4 เรื่อยไปจนถึง 0 ให้บรรลุถึง “ดิฟฟิคัลตี ทาร์เก็ท” ซึ่งนอกจากจะไม่ซ้ำกับใครแล้ว ยังต้องสมบูรณ์ ปรับเปลี่ยนอีกไม่ได้ เมื่อรายงานไปในเน็ตเวิร์กและได้รับการรับรองแล้วจึงจะได้รับรางวัลเป็นบิทคอยน์ และค่าธรรมเนียมในการโอน

กระบวนการทั้งหมดจึงกินเวลาและกินพลังงานการประมวลผลของคอมพิวเตอร์สูงมาก เพราะไมเนอร์ หรือผู้ขุด ต้อง (ใช้คอมพิวเตอร์) ทดลองชุดตัวเลขไปเรื่อยๆ

มีผู้คำนวณไว้ว่า ในระหว่างปี 2014-2015 ผู้ที่ขุดบิทคอยน์สำเร็จต้องทดลองชุดตัวเลขที่ว่านี้ระหว่าง 16 ล้านล้านล้านครั้ง ถึง 200 ล้านล้านล้านครั้ง ถึงจะประสบผลสำเร็จ!

นากาโมโตะตั้งเป้าสร้างมูลค่าให้กับบิทคอยน์ด้วยการจำกัดปริมาณของมันไว้ที่ 21 ล้านบิทคอยน์ ซึ่งคาดว่าจะบรรลุถึงปริมาณดังกล่าวภายในปี 2040 หลังจากนั้นจะไม่มีการสร้างบิทคอยน์ขึ้นมาใหม่อีก เพราะนากาโมโตะเชื่อว่าปริมาณเพียงเท่านั้นก็สามารถหมุนเวียนใช้เพียงพอได้แล้ว

เชื่อว่า แม้แต่คนคิดค้นอย่างนากาโมโตะเองก็คงคิดไม่ถึงว่า “บิทคอยน์” จะพัฒนาขึ้นมาจนอยู่ในสภาพอย่างทุกวันนี้

มูลค่าของบิทคอยน์ในช่วงแรกเริ่มเพิ่มขึ้นจากความนิยมของธุรกิจผิดกฎหมายและบรรดาพ่อค้ายาเสพติดต่างๆ ซึ่งอาศัยสิ่งที่กระบวนการทั้งหมดของบิทคอยน์ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลใดๆ และเป็นความลับทั้งหมด ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นลงวูบวาบอยู่ตลอดเวลา จนนักสังเกตการณ์บางคนถึงกับระบุว่า บิทคอยน์อยู่ในสภาพฟองสบู่ สลับกับการแตกโพละเป็นระยะๆ

ตัวอย่างเช่น เคยขึ้นไปถึง 1 บีทีซีต่อ 1,700 ดอลลาร์ในปี 2013 แล้วตกลงมาหลงเหลือเพียงราว 1 บีทีซีต่อ 770 ดอลลาร์ ในปี 2014

ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อใดเจ้าพ่อยาเสพติดรายไหนจะเทขายบิทคอยน์ออกมา อัตราแลกเปลี่ยนก็จะถล่มลงทันที

การซื้อขายสินค้าทั่วไปไม่เป็นที่นิยมกัน เหตุผลอย่างหนึ่งเป็นเพราะสุดท้ายแล้วบิทคอยน์ก็ไม่ได้ปลอดจากค่าธรรมเนียมจริงๆ แต่ผู้ซื้อและผู้ขายมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย และจะจ่ายมากหรือน้อยเท่าใด ในที่สุดก็ทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนพุ่งกระฉูด เพราะผู้โอนให้ความสำคัญต่อผู้ที่ให้ค่าธรรมเนียมสูงเป็นลำดับแรก ในขณะที่การโอนแต่ละครั้งต้องใช้ทรัพยากรของระบบ ระบบจึงจำกัดการโอนไว้ไม่เกิน 1 เมกะไบต์ ทำให้เกิดคอขวด และการโอนปริมาณน้อยที่เลือกที่จะไม่จ่ายค่าธรรมเนียมเป็นไปไม่ได้

บิทคอยน์กลับมาโด่งดังได้ในปี 2017 เพราะมันเปลี่ยนสภาพไป เปลี่ยนจาก “เงิน” ไปเป็น “สินทรัพย์” เหมือนหลักทรัพย์ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ที่สามารถเก็งกำไรหรือซื้อขายล่วงหน้ากันได้

สาวกบิทคอยน์บางคนเชื่อด้วยซ้ำไปว่า บิทคอยน์ก็จะเป็นเหมือน “ทองคำ” ที่ซื้อเก็บกันไว้นานเท่าไหร่ก็ไม่มีวันขาดทุน

แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหลายคนไม่เชื่อเช่นนั้น รวมทั้งคนอย่างโรเบิร์ต ชิลเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เมื่อปี 2013 ที่ได้รับรางวัลจากการศึกษาวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจฟองสบู่”

ชิลเลอร์พูดถึงบิทคอยน์เอาไว้ว่า เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจฟองสบู่ของยุคนี้

ถ้าใครยังคิดจะลงทุนบิทคอยน์อยู่อีก ผมก็ยกคำพูดของนักลงทุนชื่อก้องโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟต มาปิดท้ายไว้

บัฟเฟตบอกไว้เมื่อปี 2014 ว่า “บิทคอยน์เหรอ อย่าไปยุ่งกับมันเลย มันแค่มายา…”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image