คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว

AFP PHOTO / Robyn Beck

กว่าที่จะไปถึงความสำเร็จ มันก็ต้องมีล้มลุกคลุกคลาน ล้มเหลวกันบ้างตามประสา โดยเฉพาะบรรดาสินค้าชื่อดังทั้งหลาย ที่ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาดกันบ้าง
แต่คงไม่ค่อยมีใครได้รู้ได้เห็น หรือจำกันได้ เพราะไม่มีใครอยากออกมาตอกย้ำถึงความล้มเหลว

หากแต่สำหรับ นายแพทย์ซามูเอล เวสต์ นักจิตวิทยาและนักคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่าปกปิด

จึงกลายเป็นที่มาของ “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” หรือมิวเซียม ออฟ เฟเลียร์

พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวนี้ เริ่มต้นจัดขึ้นครั้งแรกที่เมืองเฮลซิงบอร์ก ประเทศสวีเดน ที่ได้รวบรวมเอาสิ่งประดิษฐ์ราว 100 ชิ้นจากช่วงศตวรรษที่ 17 จนถึงปัจจุบัน มาจัดแสดงเอาไว้ เกิดขึ้นมาโดยนายแพทย์ซามูเอล เวสต์ นักจิตวิทยาและนักคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ที่เห็นว่า ในอุตสาหกรรมต่างๆมีผลงานราว 80-90 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบความล้มเหลว และมักจะไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผยให้ใครรับรู้

Advertisement

จึงอยากรวบรวมความล้มเหลวเหล่านี้เอาไว้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ และมีการเวียนจัดแสดงไปในหลายเมืองในหลายประเทศจนถึงทุกวันนี้

นายแพทย์ซามูเอล เวสต์ ( AFP PHOTO / Robyn Beck)

ตอนนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวนี้ ก็มีการจัดแสดงชั่วคราวอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ เอพลัสดี อาร์คิเทคเจอร์แอนด์ดีไซน์มิวเซียม ในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่มีสิ่งของที่ถือเป็นความล้มเหลวของบริษัทต่างๆกว่าร้อยชิ้นมาเก็บเอาไว้ให้ผู้คนได้เรียนรู้กัน

อย่างเช่น “คอลเกต ลาซานญ่า” ผลิตภัณฑ์แห่งความล้มเหลวของ คอลเกต ผู้ผลิตสินค้าสำหรับฟันทั้งหลาย แต่อยากจะรุกตลาดอาหารในช่วงทศวรรษ 1980 แล้วก็ประสบความล้มเหลว

Advertisement

หรือจะเป็น ขนมโอรีโอ ที่ออกมาหลายรสชาติ และหลายรสชาตินั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ ที่ได้รวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์นี้แล้ว ส่วนขนมมันฝรั่งที่ใครหลายคนชื่นชอบ อย่างพริงเกิลส์ ก็มีรสชาติที่เคยล้มเหลว คือ พริงเกิล ปลอดไขมัน

AFP PHOTO / Robyn Beck

นอกจากนี้ ก็ยังมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มากมาย ที่ประสบความล้มเหลว อย่าง เกมเศรษฐีทรัมป์ หนังสือทรัมป์ น้ำดื่มทรัมป์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทรัมป์ เป็นต้น

AFP PHOTO / Robyn Beck

เวสต์ไม่เคยมีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ เพราะบริษัทเหล่านั้นคงไม่ได้อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับความล้มเหลวที่เคยเกิดขึ้นเหล่านี้ หากแต่ในทุกๆสัปดาห์ เวสต์จะได้รับสิ่งของบริจาคจากนักสะสมทั้งหลาย เพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

ตอนนี้ สิ่งของที่จัดแสดง เป็นของที่ได้รับจากการบริจาคถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และอีก 60 เปอร์เซ็นต์เป็นของเวสต์เอง

“ในสังคม เราถูกครอบงำด้วยความสำเร็จ แล้วประเมินค่าความล้มเหลวเอาไว้ต่ำ ผมเริ่มทำพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวจากความคับข้องใจ มันถึงเวลาแล้วที่คนเราต้องยอมรับความล้มเหลว แล้วเรียนรู้จากมัน” เวสต์กล่าวให้ได้คิดกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image