2017 ปีแห่งความตึงเครียด ในเอเชียตะวันออก

REUTERS/File Photo

อุณหภูมิความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะนับจากการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ คิม จอง อึน ทายาทหนุ่มเลือดร้อนรุ่น 3 แห่งตระกูลคิม ผู้ปกครองเกาหลีเหนือ ยิ่งในช่วงปี 2560 บรรยากาศในภูมิภาคนี้ยิ่งตึงเครียดหนัก ถึงขั้นทำให้หลายคนมองข้ามช็อตไปถึง “สงคราม” ที่ร่ำๆ อาจปะทุได้ทุกเมื่อหากเกาหลีเหนือยังไม่เลิก “โชว์ของ” ด้วยการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์เขย่าขวัญชาวโลกให้หวาดผวาอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ นับเอาเฉพาะแค่ปี 2560 เกาหลีเหนือโชว์การยิงขีปนาวุธให้โลกได้ยลไปแล้ว 16 ครั้ง และอาวุธนิวเคลียร์อีก 1 ครั้ง

ที่เป็นไฮไลต์สำคัญ เริ่มจากการยิงขีปนาวุธ พุกกุกซง-2 ไปตกในทะเลญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่นับเป็นการทดสอบขีปนาวุธนำวิถีพิสัยกลางรุ่นใหม่ (มีพิสัยยิงโจมตีในรัศมี 1,000-3,000 กิโลเมตร) เป็นครั้งแรก เรื่อยมาถึงการยิงขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป หรือไอซีบีเอ็ม (มีพิสัยโจมตีในรัศมี 6,700-10,000 กิโลเมตร) เป็นครั้งแรก ชื่อ ฮวาซง-14 ที่ยังสามารถติดหัวรบขนาด 500 กิโลกรัมได้ด้วยในการโชว์ทดสอบเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ตรงพอดิบพอดีกับวันชาติสหรัฐ

28 กรกฎาคม เกาหลีเหนือทดสอบยิงไอซีบีเอ็มอีกครั้ง ทว่าครั้งนี้ขีปนาวุธเกิดระเบิดขึ้นขณะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ จนนักวิเคราะห์มองว่าเกาหลีเหนือยังจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและทดสอบแสนยานุภาพของอาวุธชนิดนี้อีกมากเพื่อประสิทธิผลที่แม่นยำ

(FILES) AFP PHOTO / Kim Won-Jin

ที่ทำเอาโลกตะลึงหนักคือการทดสอบ ระเบิดไฮโดรเจน (เอช-บอมบ์) ที่เป็นการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ของเกาหลีเหนือนับจากปี 2549 แต่ครั้งนี้จัดว่ามีอานุภาพรุนแรงสุด โดยปล่อยพลังงานได้สูงถึง 70-280 กิโลตัน หรือสร้างแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าแผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด อีกทั้งยังถูกพัฒนาให้เป็นหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก สามารถใช้ติดตั้งบนไอซีบีเอ็ม โจมตีเป้าหมายที่กำหนดได้อย่างทรงพลานุภาพ

Advertisement

ส่งท้ายด้วยความสำเร็จครั้งใหญ่ในการทดสอบยิงขีปนาวุธ ฮวาซง-15 ที่เกาหลีเหนือคุยโวว่ามีประสิทธิภาพสูง มีพิสัยโจมตีในรัศมีมากกว่า 13,000 กิโลเมตร และติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ โดยฮวาซง-15 มีฤทธิ์เดชมากพอที่จะโจมตีถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และดินแดนทั่วทั้งหมดของสหรัฐ ชาติปฏิปักษ์สำคัญ ความสำเร็จครั้งนี้ยังทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือประกาศศักดาของความเป็นชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ขึ้นในทันที

การกระทำท้าทายความมั่นคงโลกของเกาหลีเหนือทุกครั้งจะถูกตอบโต้ทันควันจากคู่พิพาทหลักในภูมิภาค นั่นคือสหรัฐ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ชาติเพื่อนบ้านที่ถูกคุกคามโดยตรง และจากประชาคมโลกโดยผ่านเวทีสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

หนึ่งในวิถีตอบโต้เกาหลีเหนือโดยตรงของสหรัฐ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น คือการทำสงครามจิตวิทยาด้วยการจัดซ้อมรบใหญ่ร่วมกันทั้งทางบก อากาศ และทางทะเล เป็นการขู่เตือนอีกฝ่ายให้หยุดยั้งการกระทำยั่วยุ นอกเหนือไปจากการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือโดยตรงและการทำสงครามน้ำลายเข้าใส่กัน

Advertisement

เวทียูเอ็นเป็นอีกช่องทางสำคัญที่เปิดทางให้คู่พิพาทหลักของเกาหลีเหนือและประชาคมโลกได้ดำเนินความพยายามที่จะโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือหยุดการกระทำยั่วยุ กลับสู่โต๊ะเจรจา และดำรงอยู่ร่วมกันโดยสันติ โดยยึดมาตรการทางการทูตเป็นสำคัญ แต่ก็ดำเนินควบคู่ไปกับการลงดาบคว่ำบาตรเพื่อเพิ่มความกดดันเกาหลีเหนือให้มากขึ้นเมื่ออีกฝ่ายยังไม่หยุดการกระทำคุกคาม โดยเฉพาะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มุ่งตัดแหล่งรายได้ที่เป็นท่อน้ำหล่อเลี้ยงของโครงการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ

เฉพาะในปีนี้ยูเอ็นได้ออกมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อเกาหลีเหนือไปแล้ว 3 รอบ สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ลงมติเป็นเอกฉันท์โดยปราศจากเสียงคัดค้านจากจีนและรัสเซีย ชาติพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญของเกาหลีเหนือ ที่รับรองมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ที่หลักใหญ่พุ่งเป้าตัดการนำเข้าน้ำมันของเกาหลีเหนือถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็โดนเกาหลีเหนือสวนทันควันว่า การลงดาบดังกล่าวเท่ากับเป็นการ “ประกาศสงคราม” กับเกาหลีเหนือ

คำถามว่า “สงครามกับเกาหลีเหนือจะเกิดขึ้นจริงหรือ?” และเราจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดนั้นได้หรือไม่

แน่นอนว่าคำตอบอยู่ที่ตัวแสดงหลักบนคาบสมุทรเกาหลีเป็นสำคัญ ถ้าคิดแบบโลกสวย ทุกฝ่ายก็จะต้องถอยคนละก้าว ด้วยการหยุดการกระทำยั่วยุ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบอาวุธหรือการซ้อมรบที่จะทำให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าตนเองมีสิทธิอันชอบธรรมในการลุกขึ้นมาปกป้องอธิปไตยของตน และหันหน้าลงนั่งโต๊ะเจรจากันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาพิพาทขัดแย้งที่มีอยู่

แต่ ณ เวลานี้ พูดได้เต็มปากเลยว่าเรายังมองไม่เห็นภาพนี้

จีน ในฐานะเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีเหนือ ถูกตั้งความหวังจากประชาคมโลกว่าจะสามารถใช้อิทธิพลที่มีอยู่ช่วยเกลี้ยกล่อมให้ผู้นำเกาหลีเหนือยอมกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อดับวิกฤตตึงเครียดได้ แต่ในอดีตที่ผ่านมาเรามักจะเห็นจีนสงวนท่าทีหรือออกโรงปกป้องเกาหลีเหนือเสียมากกว่าในยามที่ยูเอ็นเอสซีจะลงมติประณามหรือคว่ำบาตรใดๆ ต่อเกาหลีเหนือ แต่หลังจากที่เกาหลีเหนือภายใต้บังเหียนคิม จอง อึน ทำการทดสอบอาวุธเป็นว่าเล่น เราเริ่มเห็นจีนแสดงปฏิกิริยาที่แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือมากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดวัดได้จากการที่จีนยกมือหนุนมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือชุดใหม่ของยูเอ็นเอสซี

นักวิเคราะห์มองว่า เหตุที่จีนมีท่าทีเปลี่ยนไปเป็นแข็งกร้าวมากขึ้นกับเกาหลีเหนือ ไม่ได้เป็นเพราะถูกกดดันจากผู้นำสหรัฐหรือนานาชาติที่ไล่บี้จีนให้จัดการเกาหลีเหนือ แต่เป็นเพราะจีนเองก็หวั่นใจในการกระทำของเกาหลีเหนือที่เป็นภัยคุกคามต่อจีนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง ที่อาจย้อนศรมาทำร้ายจีนได้ทุกเมื่อ

ปัญหาเกาหลีเหนือจึงยังเปรียบเสมือนเป็น “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมปะทุจุดไฟสงครามขึ้น ที่ไม่ใช่สงครามธรรมดา แต่เป็นสงครามนิวเคลียร์!!

“ทะเลจีนใต้” ภูมิภาคที่เป็นเส้นทางสัญจรทางทะเลที่สำคัญและรุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมายอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นหนึ่งในพื้นที่ขัดแย้งที่มีความเปราะบางมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เหตุจากมีหลายชาติเป็นคู่พิพาทอ้างสิทธิอธิปไตยของตนเองเหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้แห่งนี้ โดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล หนึ่งคือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ที่งัดข้อกับจีน มหาอำนาจที่ประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ถือครองในพื้นที่นี้เกือบจะทั้งหมดภายใต้แผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ที่จีนยึดถืออยู่ฝ่ายเดียว ส่วนสหรัฐเองก็กล่าวอ้างถึงสิทธิในการเดินเรือในภูมิภาคนี้อย่างเสรี

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ทวีความตึงเครียดมากขึ้น หลังจากจีนเดินกลยุทธ์เชิงรุกที่ไม่เพียงบุกเบิก ถมดิน ขยาย และสร้างเกาะเทียมขึ้นในทะเลจีน แต่ยังมีการสร้างฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศ ส่งกำลังทหารไปประจำการและติดตั้งยุทโธปกรณ์ต่างๆ บนเกาะที่จีนปรับปรุงพัฒนาขึ้น สร้างความไม่พอใจและการประท้วงประณามจากชาติคู่พิพาท ถึงขั้นที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี เบนิกโน อาคีโน ยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (พีซีเอ) ถึงการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวของจีน กระทั่งกลางปี 2559 ศาลอนุญาโตตุลาการฯมีคำพิพากษาว่า จีนไม่มีหลักฐานทางกฎหมายที่จะอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์เหนือทรัพยากรในพื้นที่เส้นประ 9 เส้นตามแผนที่ที่จีนกล่าวอ้าง แม้คำตัดสินนี้ของศาลอนุญาโตตุลาการฯจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่คำตัดสินที่ถือเป็นชัยชนะสำคัญของฟิลิปปินส์ก็เป็นผลดีต่อคู่กรณีอื่นๆ ของจีนด้วย

เพราะอย่างน้อยก็เท่ากับว่ามีสถาบันหลักที่เป็นที่เชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศได้ปฏิเสธการกล่าวอ้างสิทธิอธิปไตยในพื้นที่ทะเลจีนใต้ทั้งหมดของจีน

ทว่าบรรยากาศความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ในช่วงปีนี้จะดูผ่อนคลายความตึงเครียดลง หลังปฏิกิริยาท่าทีของฟิลิปปินส์ที่เปลี่ยนไปจากการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลของ นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแดนตากาล็อก ที่ดำเนินนโยบายหันเข้าหาจีนมากขึ้น แต่กลับถอยห่างออกจากสหรัฐ ชาติพันธมิตรสำคัญที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ส่วนเวียดนามที่ออกตัวชนกับจีนมากขึ้นในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ก็ดูจะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับจีน โดยเฉพาะหลังการมาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผู้นำทั้งสองชาติได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันแสดงความเห็นพ้องที่จะแก้ไขข้อพิพาทแตกต่างเรื่องทะเลจีนใต้ด้วยสันติวิธี ขณะเดียวกับที่จีนเองดูจะพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนเองให้ดีขึ้น ให้ดูเป็น “มหาอำนาจในภูมิภาคที่มีความรับผิดชอบ” ไม่ใช่ “ผู้รุกราน” ในสายตาของใครๆ

แถลงการณ์ร่วมที่เป็นผลผลิตของที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาที่จัดขึ้นที่ฟิลิปปินส์เมื่อเดือนก่อน ยังอาจเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อีกอย่างให้เห็นว่าบรรยากาศความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ดูผ่อนเบาลง เนื่องจากผู้นำอาเซียนและจีนได้ประกาศที่จะเริ่มต้น การเจรจาเพื่อจัดทำ แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct) หรือ ซีโอซี อย่างเป็นทางการ

ถือเป็นข่าวดีของหลายฝ่ายที่รอคอยกันมานาน และอยากเห็นการจัดระเบียบปฏิบัติที่ได้รับความเห็นพ้องยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อจะได้ป้องกันเหตุพิพาทขัดแย้งที่อาจบานปลายขยายวงสู่การปะทะรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต

แม้จะมีนักวิเคราะห์บางคนมองว่า นี่อาจเป็นเพียงแค่เกมซื้อเวลาและลดแรงกดดันจากนานาชาติของจีนก็เป็นได้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image