โลกกับความท้าทาย ของ “สังคมสูงอายุ”

ภาวะสังคมสูงอายุ เป็นเทรนด์สำคัญของโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการมีประชากรสูงอายุนั้นถือเป็น “ชัยชนะของการพัฒนา” ด้วยเหตุที่ว่า การมีอายุยืนยาวมากขึ้นถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของมนุษยชาติ

แต่เป็นความสำเร็จที่มีผลกระทบสูงมากต่อทุกๆ ด้านของสังคม จึงทำให้สภาวะดังกล่าวนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ ทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน

ข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุเอาไว้ว่าทั่วโลกมีผู้ฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปีกันมากถึงวินาทีละ 2 คน รวมแล้วแต่ละปี มีบุคคลอายุครบ 60 ปี มากถึง 58 ล้านคน

คิดเป็น 1 ใน 9 ของประชากรทั้งโลกในปี 2012 และจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งโลกในปี 2050

Advertisement

ยูเอ็นให้นิยามสังคมสูงอายุเอาไว้ 3 ระดับด้วยกัน ระดับแรก เป็นระดับการก้าวย่างเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยถือเอาการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ หรือ มีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ระดับที่ 2 คือระดับการเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ถือเกณฑ์โดยรวมที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

ระดับที่ 3 เป็นระดับสังคมสูงอายุเต็มที่ ภาษาอังกฤษ ใช้ว่า “ซุปเปอร์ เอจด์ โซไซตี” คือประเทศที่มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

Advertisement

ประเทศไทยจัดอยู่ในระดับที่กำลังเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงอายุ โดยธนาคารโลกระบุเอาไว้ว่า เมื่อปี 2016 ประชากรไทย 11 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 7.5 ล้านคน มีอายุ 65 ปีหรือมากกว่า เทียบกับเมื่อปี 1995 แล้วในขณะนั้น

ประชากรไทยมีอายุ 65 ปีหรือเกิน 65 ปีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ธนาคารโลกประเมินว่า ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุเต็มที่ คือจัดอยู่ในระดับสูงสุดภายในปี 2040 โดยคาดว่า ในปีดังกล่าวไทยจะมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปถึง 17 ล้านคน

คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

ไทยกับจีนถือเป็นสังคมที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ข้อมูลของยูเอ็นระบุว่า ทุกๆ 3 คนของประชากรวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มี 2 คนในจำนวนนั้นเป็นประชากรของประเทศกำลังพัฒนา และภายในปี 2050 สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 4 ใน 5 คน

แต่โดยรวมแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศสูงอายุเต็มที่มานานแล้ว ข้อมูลของยูเอ็น ณ ปี 2012 ระบุเอาไว้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่มีประชากรสูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์

แต่พอถึงปี 2050 คาดว่าจะมีประเทศอีกไม่น้อยกว่า 64 ประเทศทั่วโลก ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นเป็นอยู่ในเวลานี้ คือมีประชากรตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

ในรายงานการศึกษาของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 พบเช่นกันว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นหัวขบวนของสังคมสูงอายุ โดยคาดว่าจำนวนประชากรสูงอายุในภูมิภาคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,265 ล้านคน

ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบที่น่าสนใจของยูเอ็นระบุว่า เมื่อปี 1950 ประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลกมีอยู่ราว 205 ล้านคน ในปี 2012 เพิ่มเป็น 810 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 1,000 ล้านคนภายในปี 2022 นี้ พอถึงปี 2050 จำนวนประชากรโลกวัย 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่าตัวคือมากถึง 2,000 ล้านคน

ในปี 2050 นั้น ประชากรในแอฟริกา 10 เปอร์เซ็นต์จะเป็นประชากรสูงอายุ ในเอเชียและโอเชียเนีย สัดส่วนเท่ากันอยู่ที่ 24 เปอร์เซ็นต์ ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน 25 เปอร์เซ็นต์ ในอเมริกาเหนือ 27 เปอร์เซ็นต์ และในยุโรป สัดส่วนจะสูงถึง 34 เปอร์เซ็นต์

ในปีนั้นคาดว่าโลกจะมีประชากรอายุเกิน 100 ปีมากถึง 3.2 ล้านคน!

ภาวะสังคมสูงวัยส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับตัวบุคคล ครอบครัว สังคมในวงกว้างและส่งผลสะเทือนไปถึงประชาคมทั้งโลก ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ธนาคารโลกระบุเอาไว้ว่า ภายในปี 2040 ประชากรวัยทำงานของไทยจะลดลง 11 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 49 ล้านคนในปี 2016 เหลือเพียง 40.5 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกด้วยกัน รวมทั้งจีน

จำนวนแรงงานลดลง ตลาดแรงงานย่อมได้รับผลกระทบ ผลิตภาพย่อมลดลงตามไปด้วย

ตรงกันข้าม ค่าใช้จ่ายในหลายๆ ด้านกลับเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่งบประมาณเพื่อบำเหน็จบำนาญ การดูแลสุขภาพ ระบบการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบกลายเป็นภาระทางการเงินในระยะยาว

แต่ในขณะเดียวกัน หากประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการปัญหานี้ภายในประเทศ สถานการณ์เดียวกันนี้ก็เอื้อให้ไทยมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นศูนย์กลางในการให้บริการแก่ประชากรสูงวัย ที่เพิ่มขึ้นสูงมากทั่วทั้งภูมิภาค

นัยสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ไม่ว่าจะกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคมในด้านใด ต้องไม่ลืมรวมเอาประเด็นเรื่องสังคมสูงอายุเข้าไปอยู่ภายในนโยบายเหล่านั้นด้วย

ในขณะที่ประชากรสูงอายุก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคม สังคมเองก็ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อตัวบุคคลสูงอายุ ต่อครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

ผู้สูงอายุในสังคมที่ไม่คำนึงถึงความสูงวัย จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อผู้สูงอายุหลากหลายประการด้วยกัน ตั้งแต่การถูกเลือกปฏิบัติ ปัญหาในการหางานทำ และปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ถูกล่วงละเมิด ขาดรายได้ขั้นต่ำและความมั่นคงทางสังคม เป็นต้น

ในประเทศหรือสังคมที่คำนึงถึงภาวะสังคมสูงอายุก็มักลืมเลือนข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งไป นั่นคือ ความหลากหลายของสังคมสูงอายุ แต่กลับ “สร้างมาตรฐานเดียว” ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ

ในงานวิจัยสำคัญของ 20 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจและสังคมของยูเอ็น ชื่อ “Ageing in the 21st Century: A Celebration and A Challenge” ชี้เอาไว้ว่า ประชากรสูงอายุมีความหลากหลายเช่นเดียวกันกับกลุ่มอายุอื่นๆ

มีความแตกต่างตั้งแต่เรื่องของอายุ เพศ ชาติพันธุ์ การศึกษา รายได้และสุขภาพ มีกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจน, กลุ่มผู้หญิง, ผู้ชาย, กลุ่มสูงอายุที่สุด, กลุ่มชนพื้นเมือง, กลุ่มผู้ไร้การศึกษา, กลุ่มผู้สูงอายุในเมือง, กลุ่มผู้สูงอายุในชนบท ซึ่งต่างมีความต้องการที่จำเป็น และมีความสนใจแตกต่างกันออกไป

นโยบายและโครงการทั้งหลายจึงจำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มด้วยเช่นกัน

ข้อมูลที่สำคัญอีกประการที่ได้จากการศึกษาวิจัยในรายงานชิ้นดังกล่าวก็คือ ยูเอ็นพบว่าผู้สูงอายุมีผลิตภาพ

และมีผลงานในระดับ “เหลือเชื่อ” ในหลายๆ ด้าน รวมทั้ง การดูแลการเลือกตั้ง, การออกเสียงเลือกตั้ง, อาสาสมัคร, การเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น

รายงานชิ้นนี้ไม่เพียงสนับสนุน “แผนปฏิบัติการมาดริด 2002” ที่เน้นไปที่การทำให้เรื่องผู้สูงอายุเป็นประเด็นหลักในงานด้านพัฒนา เพื่อให้มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีต่อเนื่องไปจนถึงวัยสูงอายุ สร้างความมั่นใจว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและเอื้ออำนวยต่อสังคมสูงอายุ และเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติ นโยบาย และการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุด้วย

ผู้สูงอายุต้องไม่ถูกมองเป็นเพียงผู้รับสวัสดิการ แต่เป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการพัฒนา และได้รับการเคารพสิทธิเต็มที่

การรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นภายในภาวะสังคมสูงอายุนั้น ต้องเริ่มต้นจากการตระหนักและยอมรับว่า ภาวะประชากรสูงอายุไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตั้งแต่รัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ชุมชน และครอบครัว ต้อง “เตรียมความพร้อม” ในการรับมือ ทำความเข้าใจ พร้อมๆ ไปกับการเสริมสร้างขีดความสามารถทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

พัฒนาการปฏิรูปทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่จำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนสังคมให้สอดคล้องกับโลกของผู้สูงอายุ

ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างหลักประกันว่า ผู้สูงอายุทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่อย่างภาคภูมิใจและมั่นคงได้

เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีรายได้อย่างน้อยก็ในขั้นต่ำได้โดยอาศัยฐานการคุ้มครองทางสังคมในระดับชาติ และการลงทุนทางสังคมอื่นๆ เพื่อยืดเวลาที่ผู้สูงอายุมีความเป็นอิสระ พึ่งตนเองได้ ออกไปให้ยาวนานที่สุด ป้องกันความยากจนในวัยชรา ซึ่งจะช่วยให้สามารถสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีมากขึ้น

งานวิจัยของยูเอ็นยังเสนอแนะให้พัฒนาวัฒนธรรมผู้สูงอายุขึ้น ให้มีสิทธิพื้นฐาน พร้อมกันนั้นก็เปลี่ยนทัศนคติร่วมของสังคมต่อความสูงอายุ และผู้สูงอายุ จากผู้ที่คอยรับการสงเคราะห์ มาเป็นสมาชิกที่ขยันขันแข็ง ช่วยเหลือสังคมได้ รัฐต้องมีมาตรการต่อต้านการเลือกปฏิบัติเนื่องจากอายุ และยอมรับผู้สูงอายุในฐานะพลเมืองที่มีอิสระ

การลงทุนเพื่อแก้ปัญหาสังคมสูงอายุนั้น ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ผู้สูงวัย แต่สามารถลงทุนตั้งแต่วัยหนุ่มสาวในปัจจุบัน ด้วยการส่งเสริมลักษณะนิสัยรักสุขภาพ สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงาน รวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพและการประกันสังคม ถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดในการปรับปรุงชีวิตคนรุ่นใหม่ให้สามารถรองรับความสูงอายุได้ในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเชื่อด้วยซ้ำไปว่า การลงทุนเพื่อสังคมสูงอายุ ที่เป็นรูปธรรม ก้าวหน้า และคุ้มค่านั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดด้วยซ้ำไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image