มองรอบมุม

การเดินทางมาขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(เอชอาร์ซี) ครั้งที่ 37 ณ สำนักงานสหประชาชาติในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถือว่าเป็นวาระสำคัญอีกวาระหนึ่งในแง่การทูตพหุภาคีของไทย

แน่นอนว่าทุกครั้งที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทย คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงเพียงประเด็นปัญหาอันเป็นข้อขัดข้องด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับการที่ไทยมีรัฐบาลทหาร แต่น้อยคนจะคิดถึงพัฒนาการและการแสดงบทบาทของไทยในเวทีสหประชาชาติในอีกหลากมิติที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

แม้ว่าไทยมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เรายังสามารถแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันการผนวกประเด็นสิทธิมนุษยชนเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ.2030 ของสหประชาชาติ หรือการชูธงนำในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(ยูเอชซี)ร่วมกับอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยทำได้แม้ไทยจะไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ตามที ไม่เพียงแต่การให้การดูแลคนไทยเท่านั้น แต่ไทยยังให้การดูแลไปถึงแรงงานต่างด้าวและผู้โยกย้ายถิ่นฐานอีกด้วย

เป็นเรื่องจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยไม่ได้ไร้ข้อตำหนิหรืองดงามราวกับทางเดินอันโปรยด้วยกลีบกุหลาบ และยังมีบางประเด็นที่ทำให้คณะผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ณ นครเจนีวา ต้องคอยชี้แจงทำความเข้าใจอยู่เป็นระยะ แต่จะน้อยจะมากสิ่งที่หลายคนลืมคิดคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายจนสร้างความวิตกกังวลอย่างยิ่งให้กับนานาประเทศ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทยในอาเซียน

Advertisement

แม้ไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัยของยูเอ็น แต่ไทยก็ยังมีความสำคัญในฐานะประเทศที่มีความร่วมมือและทำงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชซีอาร์)อย่างใกล้ชิด เห็นได้จากบรรยากาศการหารือระหว่างนายดอนกับนายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระหว่างเข้าร่วมประชุมเอชอาร์ซีที่เป็นไปอย่างชื่นมื่น

เมื่อพูดถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่มาแรงแซงโค้งในแง่ของความวิตกกังวลของประชาคมระหว่างประเทศในปัจจุบันสำหรับภูมิภาคเอเชีย สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่าชิงธงนำมาเป็นอันดับหนึ่ง แทบทุกเวทีและทุกโอกาสที่เปิด ชาติตะวันตกและองค์การระหว่างประเทศภายใต้ยูเอ็นล้วนแล้วแต่แสดงวิตกกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าว และไม่แน่ใจกับพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าปัจจุบันพม่าจะพยายามแก้ปัญญาด้วยการลงนามในบันทึกช่วยจำกับบังกลาเทศเพื่อให้มีการเริ่มส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาไปยังรัฐยะไข่แล้วก็ตามที แต่ดูเหมือนว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีพัฒนาการคืบหน้าไปเท่าใดนัก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวยังทำให้นานาประเทศเห็นถึงความสำคัญของไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพม่าในทุกระดับ ในฐานะประเทศที่น่าจะสามารถเป็นตัวเชื่อมให้พม่าได้รับทราบถึงข้อวิตกกังวลอันแท้จริงของประชาคมโลก และในขณะเดียวกันไทยก็ยังแสดงบทบาทในฐานะผู้ช่วยอธิบายสถานการณ์ต่างๆ ให้กับพม่าในเวทีระหว่างประเทศไปด้วย

Advertisement

ยิ่งเมื่อนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย(เอพีอาร์ซี) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อพิจารณาข้อแนะนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็นว่าด้วยรัฐยะไข่ จากนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ก็ยิ่งขับเน้นให้เห็นภาพของประเทศไทยในฐานะผู้ที่มีข้อมูลและผู้ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลความวิตกกังวลต่างๆ ของนานาประเทศให้ฝ่ายพม่ารับทราบโดยตรงได้อีกทางหนึ่ง

ดังนั้นแม้ไทยยังอาจมีสถานการณ์ที่ทำให้ห่วงกังวลอยู่บ้าง อาทิ การส่งกลับผู้ที่ได้รับสถานะจากยูเอ็นเอชซีอาร์ไปยังประเทศต้นทาง เรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเวลาที่ชัดเจนในการเลือกตั้ง แต่เมื่อมองภาพรวมและนำทุกสิ่งทุกอย่างมาชั่งน้ำหนักกันก็จะเข้าใจได้ว่า จะอย่างไรนานาชาติก็จะไม่กดดันหรือมองว่าสถานการณ์ในไทยปัจจุบันเป็นปัญหาถึงขนาดที่รับไม่ได้หรือไม่อาจคบหาสมาคมได้อย่างแน่นอน

นี่ขนาดยังไม่ได้พูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากสงครามยาเสพติดตามนโยบายของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ และวิกฤติการณ์ทางการเมืองในซีเรียที่ยืดเยื้อยาวนานและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากก็น่าจะพอทำให้เห็นภาพว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในปัจจุบันยังถือว่า “รับได้” เว้นแต่จะมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นในวันข้างหน้าก็ค่อยมาว่ากันอีกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image