ไทยเปิดบ้านรับคณะงานสิทธิฯยูเอ็น ดูงานบรรษัทข้ามชาติ-องค์กรธุรกิจไทย

เมื่อวันที่ 26 มีนาคมถึง 4 เมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติ (Working Group on the issue of humanrights and transitional corporations and ohter business enterprises – WG on BHR) ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย โดยในช่วงเวลาเพียง 10 วัน คณะผู้แทนยูเอ็นได้พบหารือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งยังเดินทางไปลงพื้นที่ในจ.สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น และสมุทรสาคร

ขอนแก่น

นายดันเต เปสเช รองประธานของคณะทำงานฯ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) แถลงภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนไทยว่า ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรประชาสังคมต่างๆ และตัวแทนของกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจ เช่น แรงงานข้ามชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมระดับชุมชน ผู้พิการ ผู้ค้าบริการทางเพศ

เรายินดีกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ต้องการเป็นผู้นำในภูมิภาคในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และยินดีกับการที่รัฐบาลไทยเปิดกว้างให้คณะของเราได้มาพูดคุยถึงข้อท้าทายต่างๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ทำเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งการทำแผนดังกล่าวต้องมีความโปร่งใสและให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามเรามีข้อเสนอและข้อสังเกตเบื้องต้นถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลและภาคธุรกิจของไทยควรพัฒนาและปรับปรุงนโยบายและกลไกเพื่อที่จะหาบรรเทาและเยียวยาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน โดยสอดคล้องกับหลักการชี้แนะสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมโดยบริษัทและการลงทุนของไทยในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะทำงานฯ ที่จะมีข้อเสนอแนะหลักๆ นั้น จะนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนมิถุนายนปีหน้า

เชียงใหม่

ด้านนายเซอยา เดวา สมาชิกคณะทำงานฯ กล่าวว่า ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สหภาพแรงงาน และผู้แทนชุมชนในไทยที่วิพากษ์วิจารณ์การถูกภาคเอกชนละเมิดสิทธิมนุษยชนยังถูกข่มขู่คุกคาม ถูกภาคเอกชนใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อปิดปาก ถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติ หรือมีการบังคับใช้คำสั่งของคสช.ที่ห้ามจัดการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เราจึงขอให้หยุดการกระทำเหล่านี้ รวมถึงต้องมีการคุ้มครองภาคประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากคดีหมิ่นประมาททางแพ่งและอาญาที่บริษัทยื่นฟ้องเพื่อปิดปาก ทั้งนี้เราทราบว่ากระทรวงยุติธรรมของไทยกำลังพิจารณาปรัปปรุงบทบัญญัติในมาตรา 161/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อแก้ปัญหาการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากแบบนี้

Advertisement
สงขลา

นายเซอยา กล่าวอีกว่า จากการที่รัฐบาลไทยพยายามดำเนินการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้แนวทางดำเนินงานแบบเดียวกันต่อกรณีของแรงงานในธุรกิจอื่นๆ ด้วย เช่น การเกษตร พลังงาน การผลิต และการก่อสร้าง รวมถึงขอให้รัฐบาลส่งเสริมและอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่รัฐบาลไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 รวมถึงให้ความคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในไทย

สมุทรสาคร

นายเซอยาระบุด้วยว่า สังคมไทยยังตระหนักถึงเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศน้อย แม้ได้มีการออกพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้ว รัฐบาลจึงควรรณรงค์เรื่องนี้ และควรมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิของผู้ที่ทำงานให้บริการทางเพศ แม้อาชีพนี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกกฎหมายของไทยก็ตาม สำหรับการที่รัฐบาลจัดทำโครงการขนาดใหญ่ต้องมีการปรึกษาหารือและให้ข้อมูลครบถ้วนแก่ชาวบ้านในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงต้องมีการเยียวยาแก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลานั้น เราทราบว่ามีผู้คัดค้านถูกจับกุม 17 คน ซึ่งเราอยากให้ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวคนเหล่านี้ เพื่อสร้างความปรองดองและความเข้าใจที่ดีกับชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลการเยือนไทยของคณะทำงานฯว่า จากการที่ฝ่ายไทยจัดให้คณะทำงานได้มีการหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรประชาสังคมต่างๆ รวมถึงชาวบ้านชุมชนและลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ นั้น คณะทำงานประทับใจที่ไทยมีเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับสูงมาก เพราะคณะไม่เคยเห็นผู้นำประเทศไหนท่องแนวปฏิบัติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยิชนของยูเอ็น(ยูเอ็นจีพี)ได้ การหารือแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างหน่วยงานไทยและภาคเอกชนเปิดกว้างมาก ไทยไม่ได้บอกเฉพาะด้านดีด้านเดียวแต่บอกถึงความท้าทายของไทยต่อคณะทำงานด้วย

Advertisement
กาญจนา ภัทรโชค

ด้านอุตสาหกรรมภาคประมงไทย คณะทำงานชมว่าไทยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เห็นความพยายามของรัฐบาลไทยอย่างมาก คณะทำงานประทับใจและดูจะชื่นชมอุตสาหกรรมทูน่าของไทย อยากจะเชิญไทยไปร่วมงานบิซิเนส ฟอรั่ม ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ ปีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้ไปถ่ายทอดประสบการณ์ โดยในงานมีภาคธุรกิจมาร่วมงานราว 4,000-5,000 คน ทางคณะทำงานเห็นไทยเรามีโมเดล มีความตั้งใจ มีมาตรฐานจริยธรรม และสิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านการลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน” นางกาญจนากล่าว และว่า ส่วนหนึ่งในข้อเสนอแนะของคณะทำงานคือในประเด็นโสเภณี เพราะไทยไม่มีกฎหมายคุ้มครองอาชีพโสเภณี แต่ในทางปฏิบัติไทยมีบุคคลที่ทำอาชีพนี้อยู่ จึงเสนอว่าควรให้คนเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง

เมื่อถามคณะทำงานว่าจะมีการประเมินประเทศไทยโดยเทียบกับประเทศอื่นหรือไม่ นางกาญจนากล่าวว่า คณะทำงานจะไม่ทำแบบนั้นเพราะแต่ละประเทศมีบริบทและความท้าทายต่างกัน คณะทำงานชื่นชมที่ไทยเปิดกว้างทั้งที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งถือเป็นการเยือนไทยครั้งแรกของคณะทำงาน หลังจากเคยไปเยือนประเทศเปรู แคนาดา เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา

อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศย้ำว่า การเชิญคณะทำงานฯมาเยือนไทยไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แม้ในรัฐบาลประชาธิปไตยก็อาจไม่ได้เชิญ เพราะการจะเชิญต้องเตรียมรับฟังข้อคิดเห็น คำวิพากษ์วิจารณ์ จึงถือเป็นก้าวสำคัญ จากผลการเยือนถือว่าดีกว่าที่คาดหมาย

ทั้งนี้ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในเอเชียที่ได้รัฐบาลได้ริเริ่มจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขึ้น ซึ่งก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับร่างโครงสร้างแผนปฏิบัติการดังกล่าวของไทยด้วย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามผลและพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะทำงานต่อไป

การเปิดกว้างต้อนรับคณะทำงานฯ ดังกล่าวของไทยถือเป็นพัฒนาการที่ดีซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในทางบวก แม้ว่าการเยือนดังกล่าวอาจจะนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งข้อสังเกตใดๆ แต่หากมีความตั้งใจที่จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนแล้ว เราสามารถแปรข้อสังเกตที่สมเหตุสมผลไปสู่การปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในทุกมิติให้ดีขึ้นนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image