‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ มอง หลากเรื่องราวรอบเอเชีย อาเซียน-คาบสมุทรเกาหลี-หารือจีน-อินเดีย

ดอน ปรมัตถ์วินัย (แฟ้มภาพ)

หมายเหตุ “มติชน” – นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่การกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์ถึงพัฒนาการสำคัญในภูมิภาค อย่างการพบปะกันของผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ การหารือกันของผู้นำจีน-อินเดีย และการประชุมผู้นำอาเซียน สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่าปรากฎการณ์สำคัญที่โลกกำลังจับตามองเหล่านี้จะส่งผลดีต่อภูมิภาคเอเชียอย่างไร

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 ที่สิงคโปร์ หัวข้อหลักของการประชุมเหมาะกับยุคสมัยคือเน้นให้อาเซียนเข้มแข็งทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์4.0 ซึ่งการประชุมอาเซียนจะเป็นไปตามหัวข้อหลักนี้ตลอดทั้งปี โดยที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ได้รับรองเอกสาร 3 ฉบับ คือวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็งและมีนวัตกรรม แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ และเอกสารแนวทางเครือข่ายสมาร์ทซิตี้อาเซียน ซึ่งในส่วนของไทย 3 จังหวัดที่เข้าร่วมคือกรุงเทพ ชลบุรี และภูเก็ต

นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าด้วยพัฒนาการบนคาบสมุทรเกาหลี เป็นแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีเพื่อต้อนรับผลการประชุมระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยแสดงความหวังว่าจะเป็นการวางพื้นฐานให้กับความสำเร็จที่จะตามมาของการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐและผู้นำเกาหลีเหนือ

วันที่ 27 เมษายน เป็นวันสำคัญในแง่ความเคลื่อนไหวทางการทูตในภูมิภาคเอเชีย ไม่เพียงแต่จะมีการพบปะกันระหว่างสองผู้นำเกาหลี แต่ผู้นำจีน-อินเดียยังจะพบปะกันโดยตรงอีกด้วย ซึ่งสองประเทศนี้เป็นมิตรกันมานานแต่บางครั้งก็ถูกกระแสโลกนำเรื่องต่างๆ มาใส่จนถูกมองว่าไม่เป็นมิตรกันมากนัก ทั้งที่จริงแล้วมีหลายเรื่องที่จีนและอินดียทำงานในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ สามคือการประชุมอาเซียนซัมมิทที่สิงคโปร์ ซึ่งความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกัน

Advertisement

ในด้านภูมิภาคเชื่อว่ากระแสที่รวมๆ กันขณะนี้จะช่วยทำให้บรรยากาศ สถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคจะดีขึ้นเป็นลำดับ ยกตัวอย่างจีนกับญี่ปุ่นก็มีสิ่งที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นไม่น้อยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ขณะนี้ก็มีอินเดียกับจีน เรื่องคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงอาเซียนก็มีความคืบหน้าของตนเอง

สำหรับอาเซียน ยกตัวอย่างสถานกาณ์ในรัฐยะไข่ก็มีพัฒนการแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่คิดว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลายๆ ประเทศของอาเซียนก็มีส่วนคอยติดตาม ส่งเสริม เอาใจใส่ และให้กำลังใจ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ(อาฮาเซ็นเตอร์)ของอาเซียนก็พยายามที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พม่าในด้านมนุษยธรรมเพื่อให้มีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ดีเรื่องยะไข่มันไม่ได้มีแค่เรื่องมนุษยธรรม แต่ยังมีเรื่องการส่งกลับภูมิลำเนาซึ่งกำลังดำเนินอยู่ แม้อาจจะล่าช้าหน่อยแต่มีขบวนการที่เข้าไปจัดการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ไทยก็มีโครงการที่เข้าไปทำในรัฐยะไข่ร่วมกับญี่ปุ่น อาทิ เรื่องเกษตกรรมและเรื่องโรงสีข้าวขนาดเล็ก แล้วยังคิดเรื่องการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปช่วยให้เกิดความสามารถในการดำรงชีวิตของผู้ที่กลับมามีวีถีในการดำรงชีพที่ได้ผ่านการพิสูจน์จากชาวนาและเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ รวมไปถึงความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างไทย พม่า กับอีกที่หลายประเทศสนใจ อาทิ จีนที่อยากมาทำงานร่วมกับไทยและพม่าในรัฐยะไข่ ช่วงหนึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีก็แสดงความสนใจที่จะทำงานในลักษณะนี้เช่นกัน

Advertisement

ไม่จำเป็นว่าอาเซียนทั้งหมดจะต้องมาทำงานร่วมกัน ใครมีความพร้อมก็เข้าไป แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเจตนารมย์และความต้องการของพม่าว่าพร้อมจะรับความร่วมมือ รวมถึงความสนับสนุนจากผู้ที่สนใจเป็นรายประเทศโดยไม่พยายามขับเคลื่อนเร็วเกินไป

AFP PHOTO / Korea Summit Press Pool

-มองการหารือระหว่างสองผู้นำเกาหลีอย่างไร

ทั่วโลกจับตามองเรื่องดังกล่าว ข้อสำคัญคือการที่สามารถพูดจากันได้ซึ่งนำความหวังมาให้กับทุกฝ่าย การพบกันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากและทำให้มองต่อไปข้างหน้าว่าการพูดคุยระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับประธานาธิบดีสหรัฐจะสามารถบรรลุเป้าหมาย ก้าวข้ามอุปสรรคที่มีการมองกันไว้อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ มันจะทำอย่างไร มีสิ่งไหนที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

บางคนมองไปถึงว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลี บ้างก็มองว่าเป้าหมายสุดท้ายเป็นไปได้ไหมว่าจะเป็นการรวมชาติแบบเยอรมนี ซึ่งน่าจะตอบสนองความต้องการของเกาหลีทั้งสองฝ่ายไม่มากก็น้อย แม้มุมมองอาจแตกต่างกันระหว่างเหนือกับใต้แต่สุดท้ายก็น่าจะเป็นจุดนั้น อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งจะกี่ปีก็มีการคาดคะแนกันไป แต่ระหว่างนี้ไปจนถึงตอนนั้นต้องมีหลายๆ เรื่องที่จะต้องคลี่คลายและพัฒนาไปจนถึงจุดที่ทุกฝ่ายมีความรู้สึกว่าถึงเวลาที่จะเกิดปรากฎการณ์ใหม่ขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเยอรมนี ดังนั้นอะไรที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อีก ขอให้มีเงื่อนไขที่ลงตัวได้

เรายังพูดกันว่าที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ถือได้ว่ามีความเคลื่อนไหวทางการทูตที่มีพลวัตรสูงที่สุดในโลก ปกติจะเกิดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ปลายปีในเดือนพฤศจิกายนก็จะมีผู้นำต่างๆ มา เพราะประเทศที่มีเข้าร่วมถือเป็นประเทศชั้นนำของโลกทั้งสิ้น มีกิจกรรมทางการทูตเกิดขึ้นอย่างคับคั่ง

สิ่งที่้เกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายนก็มีพื้นฐานที่ทำให้เกิดขึ้น ถ้ามองด้วยทัศนคติในทางบวก ก็น่าจะมองได้ว่าภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย แม้แต่กรณีทะเลจีนใต้ซึ่งถือว่ามีปัญหาที่พูดกันมาหลายปี ในที่สุดจะกลายเป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เช่นกัน หากทุกฝ่ายค่อยๆ พูดจากัน ใช้เวลารวมตัวกันให้ได้ในแง่การเจรจา ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันเพื่อเริ่มต้นจัดทำแนวปฎิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี)อย่างเป็นทางการหลังจากได้อาณัติจากผู้นำอาเซียนเมื่อปีที่ผ่านมา

-ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกับไทยในแง่ใดบ้าง

เรียกว่าทั้งโลกก็ได้ที่จะได้อานิสงค์จากสัญญานที่ดีที่ออกมาจากคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่มีความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีตลอดหลายปีที่ผ่านมา แล้วจู่ๆ บรรยากาศก็ดีขึ้น มีการพบปะพูดจากกัน แสดงถึงโอกาสที่จะมีการปรับเปลี่ยนสภาวะการณ์ของภูมิภาคในเชิงบวก ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับคาบสมุทรเกาหลี ภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคเอเชียรวมไปถึงของโลกด้วย เพราะเมื่อลดความตึงเครียดก็ย่อมจะเกิดสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแทน ประเทศไทยก็ย่อมจะได้อานิสงค์จากสิ่งเหล่านี้ เมื่อเกิดความสงบสุข วิถีชีวิตของคน และความมั่นใจในหลายๆ เรื่องก็จะเกิดขึ้นตามมา การค้าการลงทุนก็จะคับคั่ง

AFP PHOTO

และไม่ใช่เฉพาะคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้น เรายังพูดถึงการพบปะกันระหว่างผู้นำจีน-อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก 2 ประเทศ ภาพของการหันหน้ามาพูดคุยกัน มีความร่วมมือที่สร้างสรรค์กัน คลี่คลายหรือบรรเทาปัญหาที่เคยมีอยู่ระหว่างกัน จะไม่ทำให้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่น่ารักที่สุดได้อย่างไร เพราะมันจะมีความสงบ ให้ความมั่นใจกับนานาประเทศ ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่ปลอดจากปัญหา จะชักนำให้ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกจับตามอง ให้ความมั่นใจ และมาลงทุนในภูมิภาค ในประเทศต่างๆ ในอาเซียน และในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ของไทย เพราะความมั่นใจมันเกิดขึ้น บรรยากาศดีขึ้น ความตึงเครียดไม่มี ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน และพยายามส่งเสริมความร่วมมือต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image