“แอคเมคส์ซัมมิท 8” ขับเคลื่อนสู่ความร่วมมือก้าวใหม่

หมายเหตุ”มติชน” – ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(แอคเมคส์) ครั้งที่ 8 ในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ “มติชน” พูดคุยกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว เป้าหมายและทิศทางใหม่ของแอคเมคส์ที่ไทยจะผลักดันในการประชุมครั้งสำคัญนี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย

๐เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงเดือนก็จะถึงเวลาที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำแอคเมคส์ ครั้งที่ 8 การเตรียมความพร้อมเป็นอย่างไร

ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งเป็นประธานประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดประชุมผู้นำแอคเมคส์ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ไทยจะเป็นผู้ริเริ่มความร่วมมือในกรอบแอคเมคส์ขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2546 แต่การประชุมผู้นำแอคเมคส์ ครั้งที่ 8 นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ไทยจะรับหน้าที่จัดประชุมผู้นำแอคเมคส์

นับตั้งแต่การหารือกันครั้งแรกที่เมืองพุกามของพม่า การพบกันของผู้นำในแต่ละครั้งมีเรื่องต่างๆ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งให้กำเนิดเส้นทางการเชื่อมโยงส่วนใหญ่ในภูมิภาค มีการสร้างถนนและสะพานต่างๆ มีความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การเกษตร การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น

Advertisement

ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา บริบทของภูมิภาคและสิ่งที่เกิดขึ้นกับภูมิภาคใกล้เคียงทำให้เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพราะเห็นว่าการพบกันในรูปแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับความร่วมมือของ 5 ประเทศสมาชิกแอคเมคส์ที่ถือว่าเป็นความร่วมมือที่มีความสำคัญ เพราะทั้ง 5 ประเทศคือ ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และไทย เป็นชาติที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และยังมีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ มากมาย

ความร่วมมือของทั้ง 5 ประเทศยังถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญภายใต้กรอบอาเซียน เราจึงเห็นว่าทั้งหมดควรต้องมองอนาคตร่วมกันให้ชัด จึงมีแนวคิดในการจัดทำ “แผนแม่บทของแอคเมคส์” ขึ้น เพื่อกำหนดประเด็นและขอบเขตของความร่วมมือระหว่างกันให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นั่นจึงเป็นที่มาของการกำหนดเสาหลักของความร่วมมือภายใต้แผนแม่บทแอคเมคส์ 3 เสา หรือ 3S ประกอบด้วย เริ่มจาก การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมซึ่งถือเป็นฮาร์ดแวร์ ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอลซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบัน และความเชื่อมโยงทางพลังงาน

Advertisement

ประการต่อมาคือ การสร้างความสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies) ซึ่งจะเน้นการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบที่ถือเป็นซอฟต์แวร์ มีการบูรณาการด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน และการระดมทุนเพื่อการพัฒนา

ประการสุดท้ายคือ การพัฒนาภูมิภาคให้มีความยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS) เพราะในโลกยุคปัจจุบันนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นหนึ่งในประเด็นที่สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ได้ชูให้เป็นประเด็นหลักสำหรับการประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี ซึ่งที่ประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ได้มีการประกาศ Smart Cities ในประเทศสมาชิกอาเซียนไปแล้ว

หลายคนถามว่าสมาร์ทซิตี้คืออะไร พูดให้ง่ายที่สุดก็คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พลังงาน การขนส่งมวลชน ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันแล้วจะทำให้บ้านเมืองยุคใหม่มีความแตกต่างจากเดิม แต่มีความรวดเร็วสะดวกสบายและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ใช่สิ่งฉาบฉวย แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย

แผนแม่บทของแอคเมคส์ดังกล่าวจะทำให้สมาชิกทั้ง 5 ประเทศรู้ว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย วิธีการ และการทำงานแบบเดิมๆ เพราะทิศทางและแนวโน้มในภูมิภาคมันมีอยู่แล้ว และยังเป็นที่รับรู้ว่าทิศทางดังกล่าวยังเกิดขึ้นนอกภูมิภาคด้วย สมาชิกแอคเมคส์ทั้ง 5 ประเทศจึงต้องหาทางเชื่อมโยงเพื่อให้สามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งจากภายในและภายนอกให้ดีขึ้น

การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเป็นจุดสำคัญ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการหารือของผู้นำในยุคแรกๆ และนำไปสู่นโยบายการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่เราเห็นกันในปัจจุบันที่เชื่อมโยงประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันได้ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงด้านดิจิตอลก็ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคต และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ สิ่ง ทั้งยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะดำรงคงอยู่ต่อไป

มันยังต้องมีการอัปเกรดกันอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เราพูดถึง 3G และ 4G หลายประเทศเข้าไปถึง 5G กันแล้ว เราต้องปรับตัวตามเพราะโลกในความเป็นจริง ความเร็วจะเป็นตัวชี้ขาดถึงความได้เปรียบ รวมถึงเป็นโอกาสสำหรับความสำเร็จ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าการสร้างความเชื่อมโยงจะเป็นตัวนำและเป็นทิศทางของทุกภูมิภาคทั่วโลกอยู่แล้ว

นอกจากนี้ผู้นำแอคเมคส์ยังจะให้การรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพ” ซึ่งเป็นเอกสารที่จะแสดงเจตนารมย์ของประเทศสมาชิกที่จะร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วน โดยใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและหลากหลาย เพื่อพัฒนาให้อนุภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางแห่งการเจริญเติบโต และส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวมต่อไป

นอกจากเอกสารสำคัญทั้ง 2 ฉบับที่ผู้นำจะให้การรับรองในการประชุมครั้งนี้แล้ว ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีก

เราตระหนักดีว่าหลายๆ เรื่องจำเป็นต้องใช้เงินในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จึงจะมีการตั้งกองทุนขึ้นเพื่อใช้ในการทำงาน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานในรายละเอียด แต่ได้มีการพูดคุยเบื้องต้นแล้ว ทุกคนเห็นด้วยว่าการมีกองทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเดินไปสู่เป้าหมายทำได้รวดเร็วขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญกำลังไปพูดคุยกันว่ากองทุนที่จะตั้งขึ้นนี้ควรเป็นกองทุนในลักษณะใด

นอกจากนี้ยังจะมีการเชิญประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั้งเป็นรายประเทศและกลุ่มประเทศที่มีความสนใจและมีศักยภาพในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของแอคเมคส์ให้มาทำงานร่วมกันในรูปแบบที่หลากหลาย แนวคิดดังกล่าวเกิดจากที่เราเห็นว่าโลกทุกวันนี้แคบลง มีการพึ่งพาอาศัยและเชื่อมโยงกับประเทศภายนอกมากขึ้น ขณะที่แอคเมคส์ก็เป็นประเทศที่ได้รับความสนใจและมีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ

แนวคิดและรูปแบบของการเชื่อมแอคเมคส์เข้ากับประเทศในภูมิภาคอื่นนี้ได้รับการตอบสนองแล้วจากหลายประเทศที่แสดงความสนใจ ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่เราจะคิดขยายความร่วมมือออกไป และยังจะช่วยให้การจัดตั้งกองทุนเพื่อการดำเนินงานในแอคเมคส์มีน้ำหนักมากขึ้นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน เรายังจะปรับปรุงวิธีการทำงานของแอคเมคส์ให้เป็นแบบเกาะติดโดยไม่ปล่อยให้มีช่องว่าง ในความร่วมมือแต่ละหัวข้อ จะต้องมีประเทศสมาชิกผู้เป็นเจ้าของ เป็นผู้ขับเคลื่อน และเป็นหัวหอกของเรื่อง โดยจะมีการแบ่งเรื่องกันให้ชัดเจน และยังจะมีการตั้งประเทศที่เป็นผู้ช่วยผลักดันและติดตามประเด็นควบคู่กัน

ในการประชุมผู้นำแอคเมคส์วันที่ 15 มิถุนายน ยังจะมีการเปิดเวทีซีอีโอฟอรั่มให้กับผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน รวมถึงผู้แทนในแวดวงต่างๆ จากชาติสมาชิกให้เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ โดยมีผู้นำบางประเทศได้แสดงความจำนงค์ที่จะอยู่ร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย

ส่วนในวันที่ 16 มิถุนายน หลังจบการประชุมแล้ว จะมีการจัด Interactive Lunch โดยให้ทั้ง 5 ประเทศเชิญนักธุรกิจชั้นนำประเทศละ 5 บริษัท มาร่วมทานข้าวกับผู้นำเพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และเพื่อเป็นบทส่งท้ายของการประชุมแอคเมคส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้เห็นว่าการประชุมผู้นำแอคเมคส์ ครั้งที่ 8 ที่ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจะเป็นเวทีที่ทำให้เกิดคุณค่าอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image