คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘ทรัมป์’ จูงมือ ‘คิม’ รอรับ ‘โนเบลสันติภาพ’!?

FILE - (AP Photo/Evan Vucci, File)

จนกระทั่งถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครเกาะกุมเบาะแสได้แน่ชัดนักว่า ผลการประชุมสุดยอด “เมด อิน สิงคโปร์” เมื่อ12 มิถุนายนที่ผ่านมาจะคลี่คลายขยายตัวไปในทิศทางใด

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สิงคโปร์ซัมมิท สร้างความภาคภูมิให้กับ โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกันอย่างใหญ่หลวง

มากถึงขนาดทันทีที่ปะหน้ากับผู้สื่อข่าวของนิตยสารไทม์ ก็กรีดนิ้วถามไถ่ในทันทีว่า “นี่ต้องขึ้นปกสัปดาห์นี้อีกแล้วหรือเปล่า” ก่อนทำทีปรารภเป็นเชิงบ่นว่า ” หลายปกเหลือเกิน…”

ทุกคนในที่ประชุมแถลงข่าววันนั้นรู้ดีว่า การขึ้นปกไทม์เป็นเรื่องคลั่งไคล้ของ ทรัมป์ ขนาดไหน เห็นได้ชัดจากเมื่อครั้งยังไม่มีโอกาส ยังทำปกปลอมแขวนไว้บนผนังสนามกอล์ฟส่วนตัวด้วยซ้ำ

Advertisement

ถึงปกหลังสุดจะออกมาในเชิงประชดประเทียด ด้วยการทำภาพทรัมป์มองจิตกรรมที่เป็นภาพตัวเองในเครื่องทรงกษัตริย์ ก็ยังอดอวดโอ่ไม่ได้

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ดูเหมือนผู้สันทัดกรณีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เรื่อยไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านลดกำลังอาวุธและนิวเคลียร์ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนักจากซัมมิทหนนี้

เหตุผลสำคัญก็คือ ผลการเจรจาสุดยอดครั้งนี้แทบไม่มีอะไรแตกต่างจากครั้งก่อนๆ นี้

Advertisement

ไม่ว่าทรัมป์จะอวดอ้างว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม วิธีการที่ใช้ก็แทบเป็นวิธีการเดียวกันกับที่เคยใช้กันมา เสนอให้แลกโครงการอาวุธนิวเคลียร์กับผลประโยชน์ด้านการค้าและเศรษฐกิจ และหากไม่ยอมก็ใช้มาตรการแซงก์ชันกดดันจนเกิดผล

แม้นี่จะเป็นการพบกันในระดับผู้นำเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ใช่หนแรกที่มีการเจรจาระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือในระดับสูง

ครั้งแรกที่มีการเจรจากันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศก็คือ เมื่อครั้งที่ แมเดลีน อัลไบรท์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นเดินทางไปเจรจากับ คิม จอง อิล บิดาของคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน เมื่อปี 2000 กระแสในเวลานั้น สูงไม่ต่างกับในเวลานี้เท่าใดนัก

แน่นอน คิม จอง อึน ไม่ใช่ คิม ผู้เป็นพ่อ และ ทรัมป์ ก็ไม่ใช่ บิล คลินตัน นั่นคือความต่าง

คิม จอง อึน อาจต้องการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีเหนือจริงๆ และมากอย่างยิ่ง จนต้องการให้การแซงก์ชันยุติ เหมือนอย่างที่นักสังเกตการณ์บางคนเชื่อก็เป็นไปได้ แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วเศรษฐกิจเกาหลีเหนือจะขยายตัวสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆที่มีแซงก์ชั่นอยู่ก็ตาม

เช่นเดียวกัน ทรัมป์ ที่ได้ชื่อว่าแหวกทุกกฏ แหกทุกประเพณีทางการทูต เรื่อยไปจนถึงการโยน “แนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ” ของสหรัฐอเมริกาที่ยึดถือกันมานับตั้งแต่ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน ทิ้่งลงกองไฟ ก็อาจตัดสินใจ “เอาด้วย” กับ คิม จอง อึน

คิม จอง อึน คนที่จู่ๆ ก็กลายเป็นผู้นำที่ “ยิ่งใหญ่” เต็มไปด้วย “พรสวรรค์” และมากด้วยอำนาจภายในประเทศ จนทรัมป์ถือเป็น “เกียรติ” ที่ได้นั่งเจรจาด้วยขึ้นมากระทันหัน

ทรัมป์ อาจไม่แยแสสนใจพันธมิตรทั้งหลาย ไม่สนใจดุลยภาพแห่งอำนาจในภูมิภาคที่อเมริกันเพียรสั่งสมมานาน เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองขึ้นมาก็ได้

แล้วก็ทำให้อีกคำถามมีความหมายขึ้นมา…หรือ ทรัมป์ กับ คิม คือเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ จากซัมมิทที่สิงคโปร์?

 

 

หลายคนแสดงความคิดเห็นออกมาในทำนองนั้น บางคนเชื่อเช่นนั้นก่อนหน้าสิงคโปร์ซัมมิทด้วยซ้ำไป รวมทั้งคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างเงียบๆ ในการเจรจาครั้งนี้อย่าง มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ

แต่ผู้เชี่ยวชาญรางวัลโนเบลสันติภาพหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัดเช่นนั้น
แอสเลอ สเวียน นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ โนเบลสันติภาพชาวสวีเดน เชื่อว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไป แต่ถ้าซัมมิทหนนี้นำไปสู่การขจัดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีจริงๆ ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้รางวัลกับคนทั้งคู่

“ในกรณีนั้นสถานการณ์คงพิลึกน่าดู แต่ก็ไม่ใช่ไม่เคยมี ที่ผ่านมามีคนที่เคยมีอดีตรุนแรงทีเดียวก็เคยได้รับรางวัลนี้มาแล้ว”

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน 18 คน ร่วมกันเสนอชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ รับรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2019 แล้ว เพื่อให้การยอมรับและเชิดชู “ความพยายามไม่หยุดหย่อนในอันที่จะนำสันติภาพมาสู่โลกของเรา” ของผู้นำสหรัฐ

เฮนริค เออร์ดาล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสันติภาพแห่งออสโล (ไพรโอ) ให้ความเห็นว่า เมื่อปี 2000 โนเบลเคยมอบรางวัลสันติภาพให้กับ “คิม แด จุง” ผู้นำเกาหลีใต้ในเวลานั้น ลงเอยด้วยการเป็นเพียงการ “พีอาร์” สันติภาพเท่านั้นเอง

“คราวนี้ผมคิดว่าเขาคงอาจรอเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญเสียก่อน”

เป็นความเห็นเดียวกันกับ แดน สมิธ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสันติภาพสต็อกโฮล์ม (เอสไอพีอาร์ไอ) ที่ไม่เพียงเชื่อว่า สิงคโปร์ซัมมิท เป็นเพียงแค่ “ก้าวแรก” ของกระบวนการที่ซับซ้อนและยาวนาน เท่านั้น ยังกังขาอย่างมากกับพฤติกรรมอื่นของทรัมป์

“การถอนตัวจากความตกลง(โลกร้อน)ปารีส ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของทั้งโลก กับการถอนตัวออกจากความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งจำเป็นยิ่งยวดต่อความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ได้เป็นผลดีต่อสันติภาพเอาเลย”

เออร์ดาล เชื่อว่าคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสันติภาพปีนี้คงปวดหัวไม่ใช่เล่น ถ้ามองจากพฤติกรรมโดยรวมอื่นๆของ ทรัมป์และคิม

แต่กระนั้นหลายต่อหลายคนที่เคยได้รับรางวัลนี้ก็เคยอยู่ในสภาพ “มือเปื้อนเลือดอยู่บ้าง” มาแล้วเช่นกัน ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ในเวลานี้คนที่จะถูกเลือก “ทำดีมากพอ” ต่อการล้างคราบเลือดในมือหรือไม่?

“ผมว่า ทั้งทรัมป์ และ คิม ยังทำได้ไม่ดีพอที่จะได้รางวัลปีนี้”

 

 

ดร. เกียร์ ลุนเดสทาด ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นเลขาณุการคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล ระหว่างปี 1990 เรื่อยมาจนถึงปี 2014 เคยใช้คำอธิบายพฤติกรรมในอดีตของผู้ได้รับรางวัลบางคนเอาไว้น่าสนใจมากว่า
“โนเบล ไม่ใช่รางวัลสำหรับนักบุญ”

แต่ก็บอกกับเอเอฟพีในเวลานี้เช่นกันว่า แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องตีความตรรกะนี้จนสุดโต่งเหมือนกัน
ลุนเดสทาด ชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองคนมี “ตัวถ่วง” ติดตัวอยู่มหาศาลพอๆกัน

“คิม เป็นเผด็จการที่เลวร้ายที่สุดคนหนึ่งของโลก ส่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นตัวหลักในกระบวนการทึ้งทำลาย โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สหรัฐอเมริกาก่อตั้งมาตั้งแต่หลังปี 1945 ซึ่งเอื้อประโยชน์มหาศาลต่อทุกๆคน”

เออร์ดาล ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในกระบวนการทางการทูตของทรัมป์เองก็เป็น “พาราด็อกซ์” อยู่ในตัวเอง เขาเชื่อว่าถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่จะเป็นอุปสรรครุนแรงต่อทรัมป์ ก็น่าจะเป็นกรณีอิหร่าน

“ในเวลาเดียวกับที่เขาเลือกแนวทางสันติในคาบสมุทรเกาหลี กลับกระพือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และทำให้ทั้งภูมิภาคตกอยู่ในอันตราย”

ดร. ปีเตอร์ วอลเลนสทีน ศาสตราจารย์ชาวสวีเดน ที่มีความชำนาญพิเศษด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บอกสิ่งที่อยู่ในใจของหลายคนออกมาว่า หากจะพิจารณาให้รางวัลโนเบลสันติภาพต่อ คิม จอง อึนและ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ต้องเพิ่มเติมเอาคนอย่าง มุน แจ อิน เข้าไปด้วย

ภายใต้สภาวการณ์แวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างยิ่ง มุน แจ อิน กลับสร้างปรากฏการณ์สันติภาพให้เกิดขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อด้วยการริเริ่ม ทางการทูตครั้งสำคัญผ่านมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ พยองชาง

จากนั้น ในขณะที่ ทรัมป์ และ คิม ทำสงครามน้ำลายสาดใส่กันไม่ยั้ง ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีทวีขึ้นถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มุน แจ อิน ก็ยังสามารถใช้ช่องทางที่หลงเหลืออยู่น้อยนิด รังสรรค์ “ปันมุนจอม ซัมมิท” ขึ้นมาจนได้

เมื่อ สิงคโปร์ซัมมิท ส่อเค้าจะแท้งตั้งแต่ตอนแค่ตั้งเค้า เพราะลมปากของผู้คนที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการ ก็เป็นมุน แจ อิน อีกนั่นแหละที่ดึงทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง

อันที่จริง สาระสำคัญหลักของคำประกาศร่วมที่สิงคโปร์ ก็คือ การที่สหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ ประกาศรับรองแนวทางสันติภาพที่ มุน แจ อิน ทำขึ้นไว้ที่ปันมุนจอม
ลอลเลนสทีน ถึงกับบอกไว้เอาไว้ว่า

“จริงๆ แล้ว ผู้ที่เหมาะสมที่สุดและสมควรได้รับรางวัลนี้ในปีนี้มากที่สุด คือ มุน แจ อิน”

เพียงแต่ว่า การตัดสินใจเช่นนั้นเท่ากับเป็นการ “ตบหน้า” ประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image