ยูเอ็น เสียใจไทยประหารชีวิต ขัดแย้งคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยให้ไว้

AFP PHOTO / Romeo GACAD

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน แสดงความเสียใจต่อกรณีที่ทางการไทยประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ หลงจิ นักโทษวัย 26 ปี โดยระบุว่า ยูเอ็น ไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตไม่ว่าจะกรณีใดๆก็ตาม ดังที่เลขาธิการสหประชาชาติย้ำในหลายวาระที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รายงานของโอเอชซีเอชอาร์ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ได้แถลงว่า นายธีรศักดิ์ วัย 26 ปี ถูกประหารด้วยการฉีดยาพิษ หลังถูกตัดสินประหารจากคดีทำร้ายร่างกายและแทงเหยื่อเสียชีวิต โดยในขณะที่เขียน เหตุผลในการดำเนินกระบวนการประหารชีวิตยังไม่ชัดเจน เมื่อคำนึงถึงว่าตลอด 9 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ได้ประหารชีวิตใครเลย พัฒนาการนี้จึงเป็นเรื่องนอกเหนือความคาดหมายหลังจากที่ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นความก้าวหน้าในวิธีการที่สอดคล้องกับประเทศต่างๆเป็นจำนวนมากที่ได้ยกเลิกโทษประชีวิตไปแล้ว

ซินเธีย เวลิโก ผู้แทนของโอเอชซีเอชอาร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า การนำโทษประหารกลับมาใช้อีกครั้งในประเทศไทย ถือว่าขัดแย้งกับคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเคยให้ไว้ ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยระหว่างการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ หรือ ยูพีอาร์ เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้แสดงพันธะว่าจะดำเนินมาตรการเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต ซึ่งถูกย้ำไว้ชัดเจนในแผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ของประเทศไทย

โอเอชซีเอชอาร์จึงได้แสดงความกังวลต่อไปว่า โทษประหารชีวิตครั้งนี้ ดำเนินไปโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า ทั้งๆที่ประชาชนโดยรวมควรได้รับการแจ้งให้รับทราบเพื่อการไต่สวนสาธารณะอย่างโปร่งใส และมีความรับผิดชอบตามกระบวนการประชาธิปไตย นอกเหนือจากนั้น ประชาคมนานาชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างการก้าวรุดหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ถือได้ว่าเป็นมีผลประโยชน์ในการตรวจสอบการเคารพและให้ความคุ้มครองต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ไม่ว่าที่ใด คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ได้สรุปเอาไว้ว่า ข้อมูลของทางการเกี่ยวกับการใช้โทษประหารเป็นประเด็นทางการกฎหมายที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณชน ดังนั้นจึงควรได้รับการรองรับให้มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ในมาตร 19 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งให้การรับประกันเสรีภาพในการแสดงออกและข้อมูลข่าวสาร

Advertisement

โอเอชซีเอชอาร์ ขอแสดงความกังวลต่อการถดถอยของการปฏิรูปโทษประหาร ของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประหารชีวิตเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน แสดงให้เห็นชัดเจนถึงรูปแบบที่น่ากังวลนี้

“เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดำเนินขั้นตอนต่างๆเพื่อระงับการใช้โทษประหารโดยทันที โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการก้าวไปสู่การยกเลิกโทษประหารโดยสมบูรณ์ต่อไป” เวลิโกกล่าวในแถลงการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image