เบื้องลึก เบื้องหลัง ‘เอกสารลับปานามา’

เจอราร์ด ไรล์

ในทุกเรื่องที่มีการเปิดเผยออกมา ต้องมีเบื้องหลัง มีที่ไปที่มาเป็นของตัวเอง กรณี “ปานามา เปเปอร์ส” ก็เช่นเดียวกัน

น่าสนใจที่เรื่องใหญ่โตมหึมาชนิดที่สะเทือนแวดวงการเมืองและธุรกิจไปครึ่งค่อนโลกอย่างเช่นกรณีนี้ เริ่มต้นอย่างเล็กๆ เรียบง่าย ด้วยข้อความบรรทัดเดียว สั้นๆ ไปยังหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเยอร์มนี “ซูดดอยตช์ ไซตุง” เมื่อตอนปลายปี 2014

“สวัสดี นี่คือ จอห์น โด สนใจข้อมูลไหม?”

นั่นคือข้อความที่ “บุคคลนิรนาม” ส่งถึง “บาสเตียน โอแบร์มายเออร์” ผู้สื่อข่าววัย 38 ปีของ ซูดดอยตช์ ชื่อ “จอห์น โด” ที่บุคคลผู้นั้นใช้บ่งบอกอย่างชัดแจ้งถึงความต้องการปกปิดตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นความคุ้นเคยอย่างหนึ่งของบาสเตียน เขาไม่คิดอะไรมากตอบตกลงไปทันที…สนซิ

Advertisement

อีกสองสามข้อความที่ได้รับกลับมา เร้าความสนใจของบาสเตียนขึ้นแบบพรวดพราด

จอห์น โด ยินดีที่จะให้ “ข้อมูล” แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข

“ชีวิตฉันกำลังอยู่ในอันตราย เราจะพูดคุยกันผ่านโปรแกรมแชตด้วยไฟล์เข้ารหัสเท่านั้น ไม่มีการพบกัน-เด็ดขาด!”

Advertisement

บาสเตียนตอบตกลงเงื่อนไขที่ว่านั้น แต่เขามีข้อต่อรอง เพื่อความสะดวก จอห์น โด ต้องยินยอมพูดคุยและแชร์ข้อมูลที่ว่านี้กับเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องวัย 32 ปีของเขาอีกคน เฟรเดอริก โอแบร์ไมเออร์

ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี บุคคลนิรนามเริ่มต้นส่งแฟ้มข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบาสเตียนและเฟรเดอริก ผ่านทางช่องทางและรูปแบบที่ตกลงกันไว้ ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในรูปแบบของไฟล์ที่ผ่านการบีบอัด (ไฟล์ซิป) เพื่อให้สะดวกต่อการจัดส่งผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

ปีเศษผ่านไป บาสเตียนกับเฟรเดอริก ยอมรับว่าพวกเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า จอห์น โด ผู้นั้นเป็นใคร ไม่รู้กระทั่งว่า คนผู้นี้คือ เขาหรือเธอ หรือแม้กระทั่งความเป็นไปได้ที่ว่าอาจจะเป็นคน “หลายคน”

ที่ไม่รู้มากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ทำไม จอห์น โด ผู้นี้ถึง “เลือก” เขาเป็นผู้รับข้อมูลเหล่านี้

แน่นอน ทั้งคู่รู้อะไรอีกหลายๆ อย่างนอกเหนือจากความไม่รู้เหล่านั้น แต่จำเป็นต้องปกปิด เพื่อไม่ให้กระทบทั้งต่อตัวตนและความปลอดภัยของ จอห์น โด

“เราบอกไม่ได้ว่า เราใช้เวลาในการติดต่อพูดคุยกันกี่ครั้งหรือกินเวลานานมากน้อยแค่ไหน แน่นอน รวมทั้งเรื่องที่ว่าเรายังคงติดต่อกันอยู่หรือเปล่าด้วย” บาสเตียนบอกอย่างนั้น

“ผมบอกได้แต่ว่าเราคุยกันเยอะมาก ผ่านช่องทาง วิธีการหลายๆ อย่าง ทั้งหมดต้องเข้ารหัสโดยไม่มีข้อแม้ ผมยอมรับว่า บางวันผมคุยกับแหล่งข่าวมากกว่าคุยกับเมียเสียอีก”

แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่บอกได้แน่ๆ ก็คือ บุคคลผู้นี้ไม่เคยเอ่ยถึงหรือเรียกร้องเงินทองเป็นค่าตอบแทนการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้กับ ซูดดอยตช์ ไซตุง เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ครั้งหนึ่ง บาสเตียนเคยถามบุคคลนิรนามไปว่า ทำไมถึงทำอย่างนี้?

คำตอบที่ได้สั้นและเรียบง่ายอีกเหมือนเดิม แต่ทำให้ทั้งสองคนรู้สึกเหมือนต้องแบกทั้งโลกเอาไว้เพียงลำพัง

“ฉันอยากให้คุณรายงานเรื่องพวกนี้ อยากให้อาชญากรรมเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน”

เหตุผลที่ทำให้บาสเตียนกับเฟรเดอริกรู้สึกเหมือนถูกกดทับด้วยโลกแห่งความรับผิดชอบมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกก็คือ ข้อมูล มอสแสค ฟอนเซกา และประดา “ลูกค้า” ทั้งหลายที่พวกเขาได้รับมา ไม่ใช่ข้อมูลประเภทที่ “เผยแพร่ได้ทันที” หรือ “ทำความเข้าใจ” ได้ง่ายๆ ส่วนหนึ่งเป็นบันทึกของธนาคาร อีกส่วนหนึ่งเป็นอีเมล์ โต้ตอบ บางส่วนเป็นภาพถ่ายเอกสารของหน้าพาสปอร์ต ทั้งหมดเต็มไปด้วยตัวเลขและภาษากฎหมาย แฝงด้วยนัยและเจตนาที่บอกออกมาไม่ได้ในทันที

อุปมาง่ายๆ เหมือนเรากำลังมองและพยายามทำความเข้าใจกับฟิล์มเอกซเรย์ หรือจ้องหน้าจอเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ โดยที่ไม่มีหมอมายืนอธิบายอยู่ข้างๆ ยังไงยังงั้น

เหตุผลประการที่สอง ก็คือ เมื่อคลายการบีบอัดไฟล์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับเหล่านั้นออกมาแล้ว มันสวาปามเนื้อที่ฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของพวกเขาไปจนหมด ในที่สุดต้องจัดการแยกออกมาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก รวมข้อมูลทั้งหมดแล้วมากกว่า 2.6 เทราไบต์ (2,600 กิกะไบต์)

ข้อมูลเหล่านี้มหาศาลขนาดไหน? ขนาดที่สามารถบรรจุลงหน้าหนังสือเล่มโตๆ ได้ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นถึง 4 หมื่นเล่มครับ

พวกเขาจะจัดการกับเอกสารจำนวนไม่น้อยกว่า 11.5 ล้านหน้านี้ได้อย่างไร? ไม่มีปัญญาแน่นอน

หลังผ่านการหารือภายใน ซูดดอยตช์ไซตุง แล้ว บาสเตียนกับเฟรเดอริกก็หันไปขอคำปรึกษาจากเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) ในวอชิงตัน

ทำไมถึงเป็นไอซีไอเจ? องค์กรที่แม้จะเชี่ยวชาญและให้น้ำหนักการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนสูงยิ่ง แต่ก็มีนักข่าวประจำสำนักงานอยู่เพียง 4 คน ที่เหลืออีก 7 คนทำงานจากบ้าน

เหตุผลก็คือ ไอซีไอเจมีเครือข่ายผู้สื่อข่าวที่เป็นสมาชิกและเคยทำงานร่วมกันมาอยู่ในราว 65 ประเทศทั่วโลกราว 190 คน และมีผลงานในเชิงการจัดการกับข้อมูลที่รั่วไหลออกมาให้เป็นที่ประจักษ์อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณี “ออฟชอร์ลีคส์” (ร่วมกับวอชิงตันโพสต์ในปี 2013) หรือกรณี เอกสารลับรั่วไหลออกมาจาก เอชเอสบีซี และ ลักเซมเบิร์ก

คนที่ตอบรับคำขอของ ซูดดอยตช์ ก็คือ เจอราร์ด ไรล์ นักข่าวสืบสวนสอบสวนมือดีชาวไอริช-ออสเตรเลียน ที่เป็นผู้อำนวยการคนแรกที่ไม่ใช่อเมริกันของไอซีไอเจ

>เจอราร์ด ไรล์ บินตรงจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา มายังนครมิวนิก เยอรมนี เพื่อพบกับบาสเตียนและเฟรเดอริกและซูดดอยตช์ ไซตุง

เขาใช้เวลา 4 วันเต็มๆ ในการตรวจสอบเบื้องต้นคร่าวๆ ของข้อมูลเหล่านั้น

“ชัดมากๆ เรามีบางอย่างใหญ่โตอยู่ในมือ” เขาบอก แต่ยอมรับด้วยว่าลำพังไอซีไอเจก็จนปัญญาเหมือนกัน

แต่ เจอราร์ด ไรล์ มีไอเดีย ซึ่งเขาย้ำว่าต้อง “เดิมพัน” เอาระหว่างความสำเร็จกับล้มเหลว แต่ซูดดอยตช์เห็นพ้องด้วยว่าเป็นหนทางเดียวที่จะจัดการกับข้อมูลเหล่านี้

เจอราร์ด ไรล์ จัดการเปลี่ยนเรื่องที่ทุกคนเห็นเข้าก็อับจนให้กลายเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างผู้สื่อข่าวด้วยกันครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์งานข่าวสืบสวนสอบสวน

พวกเขาเรียกชื่อโครงการนี้เป็นการภายในตอนแรกว่า โปรเจ็กต์ โพรมีธีอุส

ตามชื่อของเทพผู้ขโมยไฟมามอบให้เป็นแสงสว่างและอำนวยประโยชน์แด่มวลมนุษยชาติ

โปรเจ็กต์ โพรมีธีอุส เริ่มต้นด้วยการได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบในเงื่อนไขจาก บีบีซี, เดอะ การ์เดียน, เครือข่ายสื่อสิ่งพิมพ์ แม็คแคลทชี (ในสหรัฐอเมริกา) กับฟิวชั่น สื่อออนไลน์และเคเบิลทีวีในสหรัฐอเมริกา แล้วค่อยๆ ขยายตัวออกไปตามความจำเป็น

ถึงที่สุดแล้ว มีผู้สื่อข่าวรวม 370 คน จากองค์กรสื่อ 107 องค์กรใน 76 ประเทศ ร่วมกันทำงานอยู่ในโครงการนี้ มีไมเคิล ฮัดสัน บรรณาธิการอาวุโสของไอซีไอเจทำหน้าที่บรรณาธิการ และ มารีนา วอล์คเกอร์ จากไอซีไอเจเช่นเดียวกัน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ

ฮัดสันบอกว่า การเลือกสื่อที่จะเข้าร่วมไม่ใช่เป็นการเลือกสุ่มๆ แต่เป้าหมายก็คือเลือกคนทำงานในพื้นที่ที่

รู้เรื่องราวเกี่ยวกับกรณีทำนองนี้ในท้องถิ่นของตนดีที่สุด เพื่อให้คนเหล่านี้ช่วยไขความกระจ่างที่ผู้สื่อข่าวจากภายนอกมองไม่เห็นออกมา

เพราะตระหนักดีว่า เรื่องใหญ่โตสำคัญๆ ในทุกวันนี้ไม่เพียงซับซ้อนแต่ยังโยงใยออกไปทั่วทั้งโลก จนยากที่การทำงานในแบบเดิมตามสไตล์ในทำนอง “วู้ดเวิร์ด-เบิร์นสตีน” แห่ง “วอเตอร์เกต” เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ทุกคนที่เข้าร่วมอยู่ในโครงการเข้าใจและยินดีทำความตกลงที่ตั้งไว้เป็นเงื่อนไขว่า ต้องแบ่งปันเงื่อนปมและทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น “ข่าว” ให้รับรู้ทั่วกันทั้งกลุ่ม ต้องไม่ตีพิมพ์เผยแพร่สิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไป ก่อนที่จะเผยแพร่ออกไปพร้อมๆ กันในวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา (ตรงกับวันที่ 4 เมษายน ตามเวลาในไทย)

งานของคนข่าวหลายร้อยคนเริ่มจากการระดมกันช่วยกันจำแนก ทำดัชนีเอกสาร และสร้างฐานข้อมูลรวมเพื่อใช้ในการสืบค้น พวกเขาสร้างเครือข่ายติดต่อเป็นการภายในที่มีระบบป้องกันเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กเฉพาะขึ้น เพื่อตรวจสอบ

พูดคุย ซักถามข้อมูลซึ่งกันและกัน ผู้สื่อข่าวอังกฤษพบเอกสารที่เป็นภาษาฝรั่งเศส ก็สามารถตรวจสอบความหมายและอื่นๆ จากผู้สื่อข่าวฝรั่งเศส จากเลอมงได้เป็นต้น

นิโคลัส เนฮามาส จาก ไมอามี เฮรัลด์ บอกว่าหลายๆ อย่างที่เคยเป็นเพียงเงื่อนงำต้องสงสัยว่ากำลังเกิดขึ้นในไมอามีที่อยู่ในหัวของเขา กลายเป็นความกระจ่างชัดขึ้นมา เมื่อได้ถกผ่านแชตรูมเฉพาะกับผู้สื่อข่าวจากบราซิล อิตาลี และอาร์เจนตินา ผ่านโปรเจ็กต์นี้

“ผมพบบางอย่างแล้วก็สงสัยว่ามันจะเป็นเรื่องผิดๆ โพสต์เข้าไปในกลุ่มแชต อีกไม่ถึงชั่วโมงก็มีคำตอบกลับจากเพื่อนอาร์เจนไตน์ทำนองว่า เฮ้ย ไอ้หมอนี่เคยถูกจับข้อหาคอร์รัปชั่นนี่หว่า…อะไรทำนองนั้น”

อลิซ เบรนแนน โปรดิวเซอร์รายการข่าวสืบสวนสอบสวนของฟิวชั่น จำเป็นต้องเดินทางไปปักหลักทำข่าวมอสแสค ฟอนเซกา (ซึ่งถูกทางการปานามาสอบสวนก่อนหน้าเกิดกรณีปานามา เปเปอร์ส) ถึงปานามาเมื่อเดือนที่แล้ว บอกว่าคันปากยุบยิบอยู่ที่นั่น เพราะข้อมูลจากโปรเจ็กต์ที่ไหลเวียนอยู่ในหัวแต่ออกปากบอกกับใครไม่ได้

เควิน ฮอลล์ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจในเครือแม็คแคลทชี

บอกความรู้สึกรวมๆ เอาไว้ว่า ในที่สุดแล้วความรู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนร่วมคณะผจญภัยออกสำรวจโลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครไปถึง เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวทุกคนที่ร่วมอยู่ในกระบวนการเปิดโปงครั้งนี้

แต่นั่นไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายไปเสียทั้งหมด ฮอลลี วัตต์ ผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนของเดอะ การ์เดียนบอกว่า ข้อมูลมันมากเสียจนบางทีละสายตาออกมาถึงกับตาลาย มองทุกอย่างเหลืองพร่าไปหมด

“คุณจะค้นอะไรสักอย่างก็แบบว่า ใส่สิ่งที่ต้องการค้นเข้าไป แล้วทิ้งคอมพิวเตอร์ไว้นิ่งๆ ตรงมุมห้องอย่างนั้น 3 วันเต็มๆ ผ่านไปถึงได้ผลการสืบค้นออกมา”

นั่นทำให้การทำงานดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไป เดือนแล้วเดือนเล่า ถึงขนาดครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนๆ ของวัตต์ โทรศัพท์มาหาเธอกันให้วุ่น ถามว่าเป็นอะไรไปหรือเปล่าไม่เห็นมีชื่อเขียนอะไรลงในหนังสือพิมพ์มานานหลายเดือนแล้ว

มารีนา วอล์คเกอร์ ผู้จัดการโครงการ บอกว่า นอกจากต้องรักษาสัญญาตามที่ตกลงกันไว้แล้ว ผู้สื่อข่าวทุกคนในโครงการยังต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างเคร่งครัด

“เราบอกทุกคนว่า ถ้าไม่อยู่ด้วย อย่าเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้เด็ดขาด ห้ามไปเปิดในร้านกาแฟที่มีไวไฟสาธารณะด้วย” แม้แต่โทรศัพท์หาย ยังต้องแจ้งให้ทางกลุ่มรับทราบ เธอว่า

ไม่ได้มีแค่วอล์คเกอร์เท่านั้นที่วิตก เจอราร์ด ไรล์ ก็กังวลกับความล้มเหลวของโครงการนี้เหลือหลาย

เขายอมรับว่า ในการประชุมนักข่าวหลายร้อยคนในโครงการนี้เป็นครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งที่มิวนิก เพื่อนำเสนอโครงการและเรียกร้องความเป็น “ทีมเวิร์ก” และ “การรักษาความลับสุดยอด” จากทุกคน เขากลัวแทบตายว่าทุกอย่างจะลงเอยเป็นความล้มเหลว

แต่ถึงวันนี้ เฟรเดอริก โอแบร์ไมเออร์ สามารถพูดได้เต็มปากว่า ปานามา เปเปอร์ส พิสูจน์ให้เห็นได้แล้วว่านักข่าวทำงานเป็นกลุ่มใหญ่มหึมาได้ และดีกว่าทำตามลำพังแน่นอน

เวลานี้คบไฟที่ชื่อ ปานามา เปเปอร์ส กำลังโชนแสงสว่างจ้าเข้าไปในซอกมุมที่มืดมิดที่สุดของโลกนี้มากขึ้นและมากขึ้นทุกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image