คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: คดีประวัติศาสตร์ที่มาเลเซีย

REUTERS/Edgar Su

คดีคอร์รัปชั่น ยักยอก ฉ้อฉล และใช้อำนาจไปในทางที่ผิด อันเนื่องมาจากกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐ ที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าของ ซึ่งมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “วัน มาเลเซีย เดเวลล็อปเมนท์ เบอร์ฮัด” แต่รู้จักทั่วกันในชื่อสั้นๆ ว่า “1เอ็มดีบี” มีองค์ประกอบทุกอย่างของ “คดีประวัติศาสตร์” ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคตของมาเลเซีย

ตั้งแต่เรื่องของผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาที่เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ฝ่ายหนึ่งคือคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดของมาเลเซีย อีกฝ่ายหนึ่งคือลูกหลานตระกูลการเมืองระดับ “หัวกะทิ” ที่มีส่วนสำคัญในการสถาปนามาเลเซียที่เป็นเอกราช มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ เรื่อยมาจนถึงผลกระทบทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่คดีนี้มีต่ออนาคตของชาติ และการต่อสู้ขับเคี่ยวในทางกฎหมาย ที่มีชื่อเสียง เกียรติยศ และอนาคตทางการเมืองทั้งชีวิตเป็นเดิมพัน

มหาธีร์ โมฮัมหมัด “ดร.เอ็ม” ซึ่งอายุจะครบ 93 ปีในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ยอมรับว่ากลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง เพียงเพราะต้องการชำระสะสางกรณีนี้ให้หมดจดเท่านั้น ไม่เพียงเพื่อยับยั้งไม่ให้ นาจิบ ราซัค ดำรงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อไปเท่านั้น ยังตัดวงจรอุบาทว์ของการคอร์รัปชั่น กินสินบาทคาดสินบนที่ระบาดไปทั่วแวดวงของทางการ

ระบาดหนักชนิดที่ในการให้สัมภาษณ์หลังสุดเมื่อ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ดร.เอ็มบอกว่า ถ้าหากจะไล่คนที่แปดเปื้อนกรณีนี้ออกทั้งหมด รัฐบาลคงไม่มีคนทำงาน ต้องจำกัดเฉพาะคนที่ผิดฉกรรจ์จริงๆ เท่านั้น
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้มหาธีร์ย้ำมาตลอดว่า ถ้าเอานาจิบออกจากตำแหน่งไม่ได้ จัดการกับคดีนี้ไม่ได้ ก็นอนตายตาไม่หลับ

Advertisement

เจฟฟ์ เซสซันส์ อัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ให้นิยามคดีนี้ไว้ว่าเป็น “เคล็บโตเครซี-โจราธิปไตย” ในระดับที่หนักหนาสาหัสที่สุด

การสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) เชื่อว่ามีการยักยอก ยักย้ายถ่ายเท เงินจาก 1เอ็มดีบี ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์ โดยผ่านกระบวนการฟอกเงินที่ทำกันเป็นเครือข่ายซับซ้อน ผ่านบริษัทบังหน้าเป็นจำนวนมาก

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ไล่ฟ้องร้องคดีที่มีส่วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ในสหรัฐอเมริกาหลายคดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อว่าถูก “ฉก” ไปจาก 1เอ็มดีบี มากถึง 1,700 ล้านดอลลาร์

นั่นเป็นเพียง 1 ในคดีนับสิบที่เกี่ยวพันกับ 1เอ็มดีบี ที่ฟ้องร้องกันอยู่ในอย่างน้อย 6-10 ประเทศในเวลานี้

 

1เอ็มดีบี มีลักษณะคล้ายคลึงกับ กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐ (เอสดับเบิลยูเอฟ) เนื่องจากรากฐานเดิมของกองทุน 1เอ็มดีบี คือ กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐตรังกานู หรือทีไอเอ ที่มีมูลค่ารวม 11,000 ล้านริงกิต นาจิบ ราซัค หยิบกองทุนนี้มาขยายออก โดยอ้างว่าเพื่อให้ผลประโยชน์เกิดแก่ประเทศทั้งประเทศ แทนที่จะเป็นเพียงแค่รัฐตรังกานู

ในปี 2009 นาจิบให้กระทรวงการคลังถือหุ้น1เอ็มดีบี 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งเป้าเข้าไปลงทุนในกิจการเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งกิจการทางด้านพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรในต่างประเทศเป็นหลัก โดยมอบหมายให้วาณิชธนกิจดังอย่าง โกลด์แมน แซค ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการ

อันที่จริงที่มาและลักษณะแปลกประหลาดของกองทุน ทำให้ 1เอ็มดีบี กลายเป็นปัญหาตั้งแต่แรก แอนโทนี ปัว นักการเมืองฝ่ายค้านเคยยื่นญัตติสอบถามนาจิบ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นไว้เมื่อปี 2010 ถึงความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายในการโอนทรัพย์สินอย่างที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของรัฐ ให้เป็นทรัพย์สินของ 1เอ็มดีบี ซึ่งมีสถานะเป็น บรรษัทการลงทุนเอกชน ที่มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของเท่านั้น

หรือเป็นการโอนทรัพย์สินอย่างไม่ถูกต้องเพื่อแสดงให้เห็นว่า กองทุนนี้มีกำไร 425 ล้านริงกิตในปีนั้นเท่านั้น?
หลังจากนั้น 1เอ็มดีบี ก็มีปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2013 เมื่อกองทุนตกอยู่ในสภาพ “ปิดหีบไม่ลง” จำเป็นต้องร้องขอชะลอการนำเสนอการตรวจสอบบัญชีไปนานถึง 6 เดือน ต้องเปลี่ยนบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลกถึง 3 บริษัท

สภาพของ 1เอ็มดีบี จากที่เคยมีกำไรกลายเป็นมีหนี้สะสม 42,000 ล้านริงกิต พันธบัตรของกองทุนถูกลดระดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับ “ขยะ” หรือ “จังค์บอนด์”

ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้น “ซาราวัก รีพอร์ต” เว็บข่าวในรัฐซาราวัก ที่ก่อตั้งโดย แคลร์ ริวคาสเซิล บราวน์ ผู้สื่อข่าวเกษียณชาวอังกฤษ เริ่มต้นเปิดโปงความผิดปกติของ 1เอ็มดีบี ซึ่งส่งผลให้สื่อมวลชนระดับโลกหลายฉบับ จับเรื่องนี้มาเล่นและลงมือสืบสวนสอบสวนต่อในปี 2015 จนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาต้องดำเนินการในที่สุด

ไม่มีใครรู้จนกระทั่งถึงเมื่อเร็วๆนี้ว่า 1เอ็มดีบี มีหนี้สินเท่าใด ขาดทุนมากน้อยเพียงใด ทุกอย่างถูกเก็บไว้ใน “เรดไฟล์” โดยรัฐบาลนาจิบ ราซัค

เมื่อรัฐบาลมาเลเซียพ่ายเลือกตั้งพลิกความคาดหมายเมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ ดร.เอ็ม เข้าไปตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงที่น่าตื่นตกใจกว่าที่คาดหมายไว้

ตอนนั้นเองที่ผู้จัดการกองทุน1เอ็มดีบี ออกมายอมรับว่า กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐนี้ ตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัว

พูดง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้านก็คือ ล้มละลายแล้ว!

 

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ที่ผ่านมา นาจิบ ราซัค ขณะยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า หนี้ภาครัฐของมาเลเซียมีปริมาณเพียง 685,100 ล้านริงกิต คิดเป็นสัดส่วนเพียง 50.9 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ปลายเดือนพฤษภาคม ห่างกันราว 3 เดือน ลิม กวนเอ็ง รัฐมนตรีคลังคนใหม่ เข้าไปตรวจสอบภาระหนี้ทั้งหมดของ 1เอ็มดีบี แล้วแถลงว่า หนี้ภาครัฐของมาเลเซียในเวลานี้อยู่ที่ระดับเกินกว่า 1 ล้านล้านริงกิตแล้ว ชั่วระยะเวลา 3 เดือนระดับหนี้ของชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากนำเอาหนี้สินและภาวะขาดทุนของ 1เอ็มดีบี เข้าไปรวมอยู่ด้วย

วินเฟรด วี ผู้จัดการกองทุน อินเวิร์ส แอสเซท แมเนจเมนท์ ในสิงคโปร์ ระบุว่า ถ้านำเงินรัฐบาลไปล้างหนี้และชดใช้การขาดทุนทั้งหมดในคราวเดียว จะส่งผลให้จีดีพีของมาเลเซียหายไปทันที 3 เปอร์เซ็นต์
นั่นคือความมหาศาลของหนี้สินที่ 1เอ็มดีบีสั่งสมเอาไว้

นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด บอกกับรอยเตอร์ว่า ผู้ต้องสงสัยหลักในกรณี 1เอ็มดีบี คือ อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค และถึงตอนนี้ทีมสอบสวนสืบสวนของมาเลเซีย รวบรวมข้อมูล หลักฐานพยาน ที่จำเป็นในการสร้างรูปคดีเพื่อเอาผิดกับนาจิบได้ “เกือบสมบูรณ์แบบ” แล้ว

ข้อหาที่จะเอาผิดต่อ นาจิบ ราซัค นั้นอยู่บนฐานความผิดสำคัญคือ “การใช้อำนาจในทางที่ผิด” ระหว่างที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

ข้อหามีตั้งแต่ ยักยอก, ฉกฉวยเอาเงินของทางการไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน, สร้างความเสียหายทางการเงินให้เกิดแก่รัฐ, นำเงินของทางการไปใช้เพื่อการติดสินบน และข้อหาอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

ดร.เอ็ม ย้ำว่า นาจิบ ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่ 1เอ็มดีบี “ถ้าเขาไม่เซ็นชื่อ ไม่ว่าอะไรก็ทำไม่ได้ แล้วเรามีลายเซ็นของเขาอยู่เต็มไปหมดในทุกๆ ดีลที่เข้ามาเกี่ยวกับ1เอ็มดีบี”

รอสมาห์ มันซอร์ ภริยาอดีตนายกรัฐมนตรีก็ตกเป็นเป้าสอบสวน เพื่อดำเนินคดีด้วย มหาธีร์ บอกว่า เงินบางส่วน “จำนวนมากเลยทีเดียว” ไปลงเอยอยู่ที่ รอสมาห์ แม้ว่าการตามรอยเอกสารจะยากมากกว่าการเอาผิดกับนาจิบอยู่บ้าง เพราะ รอสมาห์ ไม่ได้เซ็นชื่อในเอกสารใดๆ ในขณะที่ นาจิบ “เซ็นเอกสารไว้เยอะมาก”

โลว์ แต็ก ยโฮ นักการเงินชาวมาเลเซียที่รู้จักกันในชื่อ “ยโฮ โล” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงเรื่องอื้อฉาวทั้งหมดใน 1เอ็มดีบี เข้าด้วยกัน ก็ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา

ดร.เอ็ม ยอมรับว่ามีความพยายามติดต่อเข้ามาเพื่อทำความตกลงจาก ยโฮ โล เพื่อให้กันตนเองออกจากการเป็นผู้ต้องหา แลกเปลี่ยนกับข้อมูลของคดีนี้

“ไม่ตกลง โนดีล” มหาธีร์ ย้ำอย่างหนักแน่น

 

 

นาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 64 ปี ออกมาให้สัมภาษณ์ยืดยาวเกี่ยวกับ 1เอ็มดีบี เป็นครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้าวของหรูหราราคาแพงที่หลายคนเชื่อว่าซื้อด้วยเงินของ1เอ็มดีบี

หลังหารือกับทีมทนายความพักใหญ่ นาจิบ ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ไม่รู้ไม่เห็นเกี่ยวกับความผิดปกติทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับกองทุน1เอ็มดีบี ไม่เคยรู้ว่ามีการนำไปซื้อเรือยอร์ชท์ ซื้อภาพจิตรกรรมของปิกัสโซ ไม่เคยลงนามให้อำนาจใครนำเงิน 1เอ็มดีบีไปซื้อสิ่งของเหล่านี้

รวมถึง กระเป๋าเบอร์กินของแอร์เมส ใบละ 2-3 ล้านบาท ไม่น้อยกว่า 300 ใบในกล่องพิเศษ และ นาฬิกาหรูจำนวนมากชนิดที่ เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปตรวจยึดหลังการเลือกตั้งที่ทำให้นาจิบ พ้นตำแหน่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม บอกเมื่อเดือนมิถุนายนว่า “ถึงตอนนี้ยังตรวจนับไม่ครบถ้วนเลย”

นาจิบ บอกว่า ข้าวของเหล่านั้นเป็น “ของขวัญ” ส่วนหนึ่งเป็นของขวัญในวันแต่งงานของลูกสาวของตนกับ ดานิยาร์ นาซาร์บาเยฟ ซึ่งเป็นหลานของ นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีแห่งคาซักสถาน

อีกส่วนหนึ่งเป็นของที่ ลูกเขยหลานประธานาธิบดีคนนี้ได้รับทีละ 5-6 ใบแล้วไม่รู้จะเอาไปไหน ต้องยกให้ รอสมาห์ ผู้เป็นแม่ยาย

เช่นเดียวกับสร้อยเพชรที่มีจี้เป็นเพชรสีชมพู 22 กะรัต ซึ่งนาจิบบอกว่า ภรรยาบอกตนว่า มีคนจะให้เป็นของขวัญแต่ไม่ได้รับมาจนถึงตอนนี้ เหมือนกับเครื่องเพชรอื่นๆ อีกหลายชิ้นรวมมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์

นาจิบ เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า เงิน 681 ล้านดอลลาร์ที่เข้ามาในบัญชีส่วนตัวของตัวเองนั้น มาจาก อับดุลลาห์ บิน อับดุลลาซิซ อัล ซาอุด กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบียผู้ล่วงลับ ที่ส่งมาให้เป็นเงิน “บริจาค”

เขายืนยันว่า เงินสดๆ จำนวน 114 ล้านริงกิต ที่มีการตรวจยึดได้ที่บ้านพักในกัวลาลัมเปอร์ เป็นเงินบริจาคเพื่อกิจกรรมของพรรคอัมโน หนึ่งในพรรคพันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติ (บีเอ็น) ที่ครองอำนาจมาต่อเนื่อง 6 ทศวรรษ

จนสูญเสียอำนาจภายใต้การนำของนาจิบ ราซัค นี่เอง

ย้ำด้วยว่า ไม่เคยคิดที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ

“ผมไม่ต้องการเป็นผู้ร้ายหนีคดีไปจนตลอดชีวิต ผมต้องทำให้ชื่อตัวเองสะอาดให้ได้”

 

นั่นคือที่มาของคดีประวัติศาสตร์ ที่จะเริ่มต้นในมาเลเซียในอีกไม่ช้าไม่นาน ฝ่ายหนึ่งมี ทอมมี โธมัส อัยการสูงสุดที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งมาใหม่เป็นหัวหอกในการพิสูจน์ข้อกล่าวหา

ทอมมี เป็นนักกฎหมายมือหนึ่งของประเทศ มีประสบการณ์ยาวนาน 40 ปีที่เชี่ยวชาญคดีคอร์รัปชั่นเป็นพิเศษ และถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้เพื่อให้ทำคดีนี้โดยเฉพาะ ทำงานร่วมกับ อับดุล กานี ปาเทล อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งถูกนาจิบ ปลดพ้นตำแหน่งเพราะการสอบสวน 1เอ็มดีบี

ในขณะที่นาจิบ ราซัค มีทีมนักกฎหมายจาก แอชครอฟท์ ลอว์ บริษัทกฎหมายอเมริกันของ จอห์น แอชครอฟท์ อดีตอัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา สมัย จอร์จ ดับเบิชยู. บุช เป็นมือกฎหมายสำคัญในการต่อสู้คดีนี้

สำหรับ มหาธีร์ โมฮัมหมัด คดีนี้จะเริ่มต้นจากการจับกุม ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในไม่กี่เดือนนี้

จากนั้นก็ “หวังว่า” จะสามารถเริ่มดำเนินการไต่สวน พิจารณคดีประวัติศาสตร์นี้ได้ภายในสิ้นปี 2018!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image