คอลัมน์ Think Tank: นิยายภาพเกี่ยวกับไวน์ ‘แพสชั่น’ ใหม่ของชาวฝรั่งเศส

kodanshacomics

ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับว่าชาวฝรั่งเศสรักการดื่มไวน์ แต่พวกเขายังคงเป็นประเทศที่อ่านนิยายภาพมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่นอีกด้วย

ถึงตอนนี้ผลงานวรรณกรรมคลื่นลูกใหม่ได้รวมเอาความหลงใหลในทั้ง 2 สิ่งเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ หนังสือการ์ตูนผู้ใหญ่ที่เกี่ยวกับไวน์

นิยายภาพแนวดังกล่าวนี้ที่ไม่เป็นที่รู้จักโดยสิ้นเชิงในช่วงก่อนหน้านี้ไม่ถึง 1 ทศวรรษได้เบียดแทรกตัวเองขึ้นไปอยู่บนชั้นวางหนังสือ โดยมีงานเทศกาลที่อุทิศให้โดยเฉพาะเกิดขึ้นมาอีกด้วย

เทศกาล “เบเด แอนด์ แวง” ที่หมายถึง นิยายภาพและไวน์ เป็นแนวคิดของ โรแมง ซู คนทำไวน์ที่สวนไวน์ “ชาโต ลากูตูร์” ของเขาอยู่ฝั่งตรงข้ามปากแม่น้ำชิรงด์ ในเมืองบอร์โดซ์อันเป็นที่ตั้งของ “ชาโต มาโกซ์” แหล่งผลิตไวน์อันมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดี

Advertisement

“ผมรักนิยายภาพ และผมก็รักไวน์ เช่นเดียวกับเพื่อนส่วนใหญ่ของผม” ซูบอก

“แต่เมื่อ 10 ปีก่อนเมื่อเราเริ่มต้นจัดเทศกาลนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าแทบไม่มีผู้ต้องการอยากอ่านนิยายภาพเกี่ยวกับไวน์เลย”

แต่การประสบความสำเร็จในระดับปรากฏการณ์ของการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นเรื่อง “ดร็อปส์ ออฟ ก็อด” เปลี่ยนแปลงให้ชาวฝรั่งเศสมีความกระหายอยากอ่านนิยายภาพเกี่ยวกับไวน์

Advertisement

ดร็อปส์ ออฟ ก็อด เป็นเรื่องราวของพนักงานบริษัทเบียร์ชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่ต้องระบุชื่อไวน์ 13 ชนิดจากคอลเลคชั่นของพ่อซึ่งเป็นนักชิมไวน์ชื่อดังให้ถูกต้องเพื่อรับมรดกของเขา โดยมังงะเรื่องนี้ทำให้ไวน์หลายชนิดของฝรั่งเศสที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก โด่งดังชั่วข้ามคืนในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังจุดชนวนความนิยมของไวน์บางชนิดที่ปรากฏอยู่ในเรื่องด้วย ซึ่งรวมถึง “บอร์โดซ์ ชาโต มงต์-เปรา” ที่ผู้นำเข้าสัญชาติไต้หวันรายหนึ่งสามารถขายได้ถึง 50 ลังในเวลาเพียงแค่ 2 วัน

ดีแคนเตอร์ นิตยสารเกี่ยวกับไวน์ถึงกับระบุว่ามังงะเรื่อง ดร็อปส์ ออฟ ก็อด เป็นสิ่งพิมพ์เกี่ยวไวน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบ 20 ปี ขณะที่ยกย่องยูโกะและชิน คิบายาชิ ผู้แต่งให้เป็นผู้นำด้านรสนิยมในการดื่มไวน์

หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีนิยายภาพของฝรั่งเศสแนวนี้ตามออกมาอีกเป็นจำนวนมากอาทิ “ชาโตซ์ บอร์โดซ์” นิยายภาพระดับเบสต์เซลเลอร์ที่มีเรื่องเซ็กส์และเหลี่ยมเล่ห์เพทุบายผสมผสานเข้ามาด้วย

นอกจากนี้ยังมีนิยายภาพที่ลงลึกกว่าในเรื่องการจับอารมณ์ความรู้สึกของชาวฝรั่งเศสในการพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จริงจังมากขึ้นในสิ่งที่ตนเองดื่ม อย่าง “เลส์ อิกโนรองต์ส” “อะ เกรท ฟอร์ก็อตเทน เบอร์กันดี” และ “มีมี, ฟีฟี แอนด์ กลูกลู” ที่ทั้งหมดได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image