ผู้แทนรัฐสภายุโรป ชมไทยพยายามแก้ปัญหาค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม คณะผู้แทนจากคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน หรือ ดีอาร์โอไอ ของรัฐสภายุโรปจัดแถลงผลการเดินทางเยือนประเทศไทยในระหว่างวันที่ 16 – 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการเยือนดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นทั่วไปด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิแรงงาน สิทธิแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การกลับสู่ประชาธิปไตย และการเลือกตั้งของประเทศไทยตามที่วางแผนไว้

นาย ปิแอร์ อันโตนิโอ ปันเซรี สมาชิกสภายุโรปจากประเทศอิตาลี ในฐานะประธานได้นำคณะผู้แทนจากสภายุโรป 6 คนเดินทางเข้าพบและหารือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พรรคการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ รวมถึงเยี่ยมชมจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องสิทธิแรงงานในภาคประมงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้วย

นายปันเซรี ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ตนขอแสดงความขอบคุณหน่วยงานรัฐบาลสำหรับการหารือที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา และยินดีกับการเปิดตัวการหารือทวิภาคีด้านแรงงานระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆซึ่งรวมไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างข้อกำหนดทางกฎหมาย และการดำเนินการตามสิทธิแรงงานในภาคประมงที่ตามมา ซึ่งตนคิดว่าเป็นพัฒนาการทางบวกในการช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อต่อสู้กับปัญหาแรงงานบังคับ และลดความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติ

นายปันเซรี ระบุว่าตนขอสนับสนุนให้ทางรัฐบาลดำเนินการดำเนินการต่อไปโดยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง ผมขอยกย่องในความพยายามของรัฐบาลในการต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์ผ่านการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์
นายปันเซรี ระบุด้วยว่า การเดินทางมาในครั้งนี้แตกต่างจากการเดินทางเยือนในครั้งก่อนของสมาชิกสภายุโรป โดยทางการไทยแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะเรื่องของแรงงานในภาคประมงแสดงให้เห็นความตั้งใจที่จะเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปที่ชัดเจน

Advertisement

สำหรับการเดินทางมาพบกับพรรคการเมืองนั้นทางตัวแทนได้พบกับพรรคการเมืองหลักสองพรรคของประเทศไทยซึ่งทั้งสองพรรคการเมืองต่างตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปและการไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างกัน และการร่วมมือเพื่อไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมและสร้างบรรยากาศการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตย โดยอียูยังคงยืนกรานในเรื่องการยกเลิกกฎหมายมาตรา 44 ซึ่งเป็นอุปสรรคที่จะทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มองค์กรต่างๆที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเหมาะสมต่อไป

นายปันเซรีระบุด้วยถึงโอกาสที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปด้วยว่า การที่จะฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและอียู ให้กลับมาอย่างเต็มรูปแบบจำเป็นที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นขั้นแรก

ต่อข้อถามที่ว่า การเดินทางของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยไปยังภูมิภาคยุโรปเป็นการแสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปยอมรับรัฐบาลของไทยแล้วหรือไม่ นายปันเซรี ระบุว่า นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตสำหรับความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจนั้นจะมีต่อไปได้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงการเลือกตั้งทีจะต้องมการเปิดกว้างและเป็นธรรม

Advertisement

ส่วนการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนั้นนายปันเซรี ระบุว่าทางสหภาพยุโรปจะไม่มีการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งมายังประเทศไทยหากไม่มีการร้องขออย่างไรก็ตามรัฐสภายุโรปจะจับตาดูว่าการเลือกตั้งนั้นมีความโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image